‘สมคิด’ชูท่องเที่ยวในประเทศ  ฟื้นเศรษฐกิจไทยหลัง ‘โควิด’

‘สมคิด’ชูท่องเที่ยวในประเทศ   ฟื้นเศรษฐกิจไทยหลัง ‘โควิด’

“สมคิด”ชูท่องเที่ยวในประเทศฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังโควิด หนุนกองทุนหมู่บ้าน - ธกส.ทำท่องเที่ยว ร้านค้าชุมชน สศช. นัดแจงกรอบใช้เงิน 4 แสนล้านใน 4 กรอบกิจกรรมหลักเศรษฐกิจ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าผลกระทบจากเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด -19 ในช่วงนี้เริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆเช่นการท่องเที่ยว และรถยนต์ที่มีการหดตัวมาก อย่างไรก็ตามในส่วนของภาคเกษตรมีการขยายตัวได้ดียังมีการเติบโตของยอดขายและการส่งออก

ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 จะไม่ดีแต่ต้องมองว่าในระยะต่อไปจะฟื้นเศรษฐกิจอย่างไร ก็มองไปที่ภาคเกษตรต้องทำให้เข้มแข็ง ส่วนภาคการท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆก็ค่อยๆผ่อนปรนให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ในจังหวัดที่มีความพร้อม เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าได้มากขึ้นโดยได้สั่งการไปยังสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน (สทบ.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดย สทบ.ให้เริ่มทำเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดต่างๆที่มีความพร้อม ส่วน ธ.ก.ส.ให้เน้นเรื่องการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากและร้านค้าชุมชน

สำหรับเงิน 4 แสนล้านที่จะลงไปในเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจไม่สามารถทดแทนเม็ดเงินที่หายไปจากภาคการท่องเที่ยว แต่เมื่อรวมกับเม็ดเงินเยียวยาที่ได้ทยอยจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเดือนละ 5,000 บาท ซึ่งจะจ่ายลงไปประมาณ 4 แสนล้านบาทก็ถือว่าช่วยพยุงเศรษฐกิจในปีนี้ได้ในระดับหนึ่งและรักษาความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสุขภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (25 พ.ค.)นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสศช. จะแถลงกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในด้านต่างๆ ตามกรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท จากพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งได้กันเงินไว้สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในวงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อชี้แจงข้อมูลในเรื่องระยะเวลทำงานและการคัดเลือกโครงการต่างๆที่จะเปิดให้หน่วยงานราชการไปจัดทำโครงการและยื่นข้อเสนอมาให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯโครงการ

ก่อนหน้านี้ สศช.กล่าวว่าในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนนี้ สศช.และกระทรวงการคลังจะทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการในการทำข้อเสนอโครงการก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการและเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.ทั้งนี้คาดการณ์ว่า เงินกู้จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภายในเดือน ก.ค. หรือช่วงไตรมาส 3 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องไปถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564-2565 เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

โดยการอนุมัติโครงการต่างๆจะเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 4 ด้านได้แก่ 1.แผนงานหรือโครงการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถ พลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพ และยกระดับการผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจโดยครอบคลุมภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุนท่องเที่ยวและบริการ

2.แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยการส่งเสริมตลาดสำหรับผลผลิต และผลิตภัณฑ์ของธุรกิจชุมชนที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน การจัดหา

ปัจจัยการผลิต

3.แผนงานหรือโครงการเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชนรวมถึงการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชน เพื่อให้สภาวะการบริโภคและการลงทุนกลับเข้าสู่ระดับปกติได้โดยเร็ว เช่น โครงการช็อปช่วยชาติ และการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยรัฐสนับสนุนเงินบางส่วน และ 4.แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิตเพื่อการพัฒนาประเทศ