ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน ทุกฝ่าย 'การ์ดต้องไม่ตก'

ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน ทุกฝ่าย 'การ์ดต้องไม่ตก'

การยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน หากทุกฝ่ายยังร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง “การ์ดต้องไม่ตก” เป็นอันขาด คุมให้อยู่หมัด ประเทศไทยจะได้เริ่มเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เต็มที่ ซึ่งแม้จะยากลำบากกว่าครั้งใดๆ เนื่องจากโควิด-19 คงไม่หนีหายจากเราไปในเร็ววัน

มติที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เห็นชอบให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ให้สิ้นสุด 30 มิ.ย.63 ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ และส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาวันอังคารหน้า (26 พ.ค.)

สำหรับเหตุผลของการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้ว่ารัฐบาลจะได้ผ่อนคลายล็อกดาวน์ ปรับเวลาเคอร์ฟิว ให้หลายกลุ่มธุรกิจ ผู้ประกอบรายย่อย รายใหญ่ ได้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ต่อ ในแบบที่ยังต้องมีมาตรการรักษาระยะห่าง มาตรการความปลอดภัย สุขอนามัยต่างๆ ระหว่างบุคคล แต่ปัจจุบันก็ยังมีบางคน บางกลุ่มฝ่าฝืนเคอร์ฟิว มั่วสุม จึงจำเป็นต้องขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมต่อไป แต่ก็อาจพิจารณาผ่อนปรนบางข้อ เช่น ระยะเวลาเคอร์ฟิว ซึ่งต้องพิจารณาในภาพรวม ใช้ระยะเวลาที่เหมาะสม เป็นขั้นเป็นตอน รวมทั้งใช้มาตรการทางสังคมร่วมด้วย

การควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าได้การยอมรับ และควบคุมได้อยู่ จึงทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อของไทยลดลง และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ภาพรวมตัวเลขการติดเชื้อในประเทศต่างๆ ทั่วโลก กลุ่มประเทศในเอเชียยังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ประเทศที่น่าจับตาดูสถานการณ์ ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน และประเทศในอาเซียน ประเทศอื่นๆ ที่ยังมีตัวเลขน่าเป็นห่วง ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย บราซิล ชิลี ซึ่งตัวเลขยังสูงต่อเนื่อง หลายประเทศพบการระบาดใหม่ภายหลังอนุญาตให้มีมาตรการผ่อนปรน เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทย ที่ยังควบคุมได้ดี ตัวเลขเป็นเลขตัวเดียว และบางวันก็ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

ส่วนความคืบหน้าเรื่องวัคซีนไทยก็พัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการพัฒนาวัคซีนโลก เป้าหมาย คือ เพื่อให้คนไทยมีโอกาสใช้วัคซีนในช่วงเวลาต้นๆ เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ในโลกที่ผลิตได้ ซึ่งไทยยังมีความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations : CEPI) และสถาบันวัคซีนนานาชาติ (International Vaccine Institute : IVI ) ซึ่งการพัฒนาวัคซีนอาจต้องใช้ระยะเวลา โดยเฉพาะกระบวนการผลิตไปจนถึงการนำไปใช้งานที่จะประกอบไปด้วยขั้นตอน ผ่านการทดลองที่จะต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

เราเห็นว่ามาตรการต่างๆ ที่ทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจ คุมเข้มอย่างในช่วงที่ผ่านมา กำลังจะส่งผลบวกต่อภาพรวมของประเทศในทุกๆ ด้านการยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน หากทุกฝ่ายยังร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง “การ์ดต้องไม่ตก” เป็นอันขาด คุมให้อยู่หมัด ประเทศไทยจะได้เริ่มเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เต็มที่ ซึ่งแม้จะยากลำบากกว่าครั้งใดๆ เนื่องจากโควิด-19 คงไม่หนีหายจากเราไปในเร็ววัน รัฐบาล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงต้องยิ่งร่วมแรงร่วมใจ ฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศให้ฟื้นคืนกลับมาอย่างเร่งด่วน แม้โจทย์ของการพลิกฟื้นประเทศครั้งนี้ จะใหญ่ และ ‘ยาก’ มากกว่ายุคไหนๆ ก็ตาม