'ไทยออยล์' ​หั่นรายจ่าย ลดต้นทุนฝ่าวิกฤติโควิด-19

'ไทยออยล์' ​หั่นรายจ่าย ลดต้นทุนฝ่าวิกฤติโควิด-19

“ไทยออยล์” รีดไขมัน ลดค่าใช้จ่าย 20-25% หรือกว่า 2 พันล้านบาท ควบคุมต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพดำเนินงานฝ่าวิกฤติโควิด-19 ฉุดดีมานด์น้ำมันทั่วโลกลด มั่นใจผลการดำเนินงานไตรมาส 2-4 ดีต่อเนื่อง

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ​ใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า บริษัท ได้ตั้งเป้าหมายลดงบค่าใช้จ่ายทั่วไปในปีนี้ลง 20-25% หรือ ประมาณ 2,000-2,500 ล้านบาท จากปกติงบส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อควบคุมค่าใช้จาย ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในช่วงที่ธุรกิจเผชิญกับผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกหายไปประมาณ 20% จากการที่หลายประเทศได้ออกมาตรการล็อกดาวน์

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน มี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัท ได้ปรับลดกำลังการกลั่นน้ำมันลง เพื่อปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง โดยเฉพาะการผลิตน้ำมันเครื่องบิน(JET) ได้ปรับลดสัดส่วนการผลิตลงจาก 20% ของกำลังผลิต เหลือประมาณ 10% และหันไปผลิตน้ำมันชนิดอื่นเพิ่มขึ้น เช่น ดีเซล รวมถึงเพิ่มการส่งออกมากขึ้น ขณะเดียวกันราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำในช่วงที่ผ่านมาทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์พาราไซลีน(PX)ของบริษัทดีขึ้น

“ราคาน้ำมันดิบช่วงวันที่ 20-21 พ.ค.63 ดีดขึ้นทะลุ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถือเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น จากที่ลดลงต่ำสุดในช่วงเดือนเม.ย.63 ทำให้มั่นใจว่า ผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทในช่วงไตรมาส 1 ที่ขาดทุนสต็อกกว่า 1 หมื่นล้านบาทจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และน่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 -4 ของปีนี้”

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าธุรกิจการกลั่นไตรมาส 2 จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา โดยการขาดทุนสต็อก(Stock Loss) จะลดลง และน่าจะกลับมามีกำไรจากการสต็อกน้ำมัน(Stock Gain) ได้ในช่วงไตรมาส3-4 ปีนี้ เนื่องจากซาอุดีอาระเบียและตะวันออกกลางออกมาลดราคาน้ำมันให้ถูกกว่าราคาตลาด หรือ ราคาน้ำมันดิบดูไบ ส่งผลให้ค่าการกลั่นของโรงกลั่นในภูมิภาครวมถึงไทยออยล์ ได้ประโยชน์จาก Crude OSP ที่ถูกกว่าน้ำมันดิบดูไบ หรือคาดว่าส่งผลดีต่อต้นทุนลดลงประมาณ 4-5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้มาร์จิ้นดีขึ้นในไตรมาส 2-4 ปีนี้

“ภาพรวมการดำเนินงานทั้งปีนี้ ยอมรับว่าเหนื่อยหากเทียบกับปีก่อน เพราะบริบทในการทำธุรกิจแตกต่างกัน แต่บริษัทยังมองในแง่ดีว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเริ่มคลายลงในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้คาดการณ์ว่าดีมานด์การใช้น้ำมันทั่วโลกทั้งปีนี้จะหายไปเพียง5-10 % เท่านั้น”

สำหรับแผนการลงทุนช่วง 5 ปี (63-67) ของไทยออยล์ ตั้งเป้าจะใช้เงินทั้งสิ้น 3,486 ล้านดอลาร์ โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) มูลค่า 3,263 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นโครงการขยายกำลังการกลั่นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของโรงกลั่น โดยมีเป้าหมายแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปี2566

ส่วนเงินลงทุนที่เหลือ 223 ล้านดอลลาร์ ใช้สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงหน่วยผลิตต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ (Efficiency) ,ต่อเนื่อง (Reliability) และมีความยืดหยุ่น (Flexibility) ตลอดจนโครงการลงทุนทางด้านโลจิสติกส์และสาธารณูปโภค และการลงทุนอื่น ๆ เช่น โครงการ Digital Transformation โดยมีงบประมาณลงทุนเฉพาะในปี 63 รวมทั้งสิ้น 1,788 ล้านดอลลาร์