'ภัยพิบัติทางสุขภาพ' ป่วนตลาด 'Private Equity' แค่ไหน

'ภัยพิบัติทางสุขภาพ' ป่วนตลาด 'Private Equity' แค่ไหน

ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ หุ้นยังเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะให้เงินลงทุนเติบโตไปพร้อมๆ กับกิจการ แต่นักลงทุนจะหลีกเลี่ยงความผันผวนรายวันเช่นนี้ได้อย่างไร กองทุน Private Equity หรือ PE คือคำตอบหรือไม่?

ชัดเจนว่าปี 2020 ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลกพุ่งขึ้นจากเหตุอันไม่คาดคิดของโรคโควิด-19 และป่วนตลาดหุ้นอย่างหนัก มูลค่าบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ลดลงฮวบฮาบ โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมและร้านอาหารที่โดนผลกระทบโดยตรงจากมาตรการปิดเมือง กลุ่มธนาคารกระทบจากรายได้และคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลง

ขณะที่กลุ่มพลังงานถูกกดดันจากความต้องการน้ำมันที่หดหาย มูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของหุ้นชื่อดังอย่าง Marriott, Goldman Sachs และ Baker Hughes ณ 19 พ.ค. 2020 ต่ำลงจากต้นปีในหลักหมื่นล้านดอลลาร์

ราคาหุ้นที่ลดลงของ บมจ. ส่วนหนึ่งเกิดจากคาดการณ์กำไรน้อยลง และอีกส่วนหนึ่งจากความตื่นตระหนก ทำให้ในหลายช่วงเวลาราคาหุ้นขยับลงเรื่อยๆ รายวันและมากกว่าผลที่คาดว่าจะเกิดจริงกับเศรษฐกิจและกำไรของ บมจ. ซึ่งความผันผวนนี้อาจทำให้นักลงทุนบางรายถอดใจ ถอยออกจากตลาด และปิดโอกาสขายหุ้นในราคาที่ดีกว่าเมื่อความตกใจคลายลง

ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ หุ้นยังเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะให้เงินลงทุนเติบโตไปพร้อมๆ กับกิจการ แต่นักลงทุนจะหลีกเลี่ยงความผันผวนรายวันเช่นนี้ได้อย่างไร กองทุน Private Equity หรือ PE คือคำตอบ

PE คือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ มีทีมผู้จัดการกองทุนดูแล ใช้ระยะเวลาลงทุนนาน และไม่เปิดให้ซื้อขายรายวัน บริษัทที่ PE ลงทุนแบ่งกว้างๆ ได้ 4 กลุ่ม คือ

1.Venture Capital คือกิจการเริ่มตั้งไข่

2.Growth คือกิจการเริ่มขยับขยาย

3.Buyout คือกิจการที่ผลประกอบการไม่ดี ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าจริง หรืออาจจะขอเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ เพื่อฟื้นฟูกิจการ 

4.Special Situation คือกิจการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเฉพาะตัว เช่น ปรับโครงสร้างธุรกิจ เป็นต้น

งานถนัดของผู้จัดการกองทุน PE ที่เชี่ยวชาญที่มักจะจัดการกับบริษัทนอกตลาดภายหลังการเข้าซื้อหุ้น คือการขยายกิจการ กู้วิกฤติ หรือฟื้นชีพ ผ่านการใส่เงินทุน เทคโนโลยี และความสามารถของผู้บริหารในการปรับโครงสร้างการเงินและธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เช่น เข้าซื้อหรือควบรวมกับคู่แข่ง เพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือสร้างความแตกต่างและผลักมูลค่ากิจการให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

และผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้คือ ส่วนต่างระหว่างราคาซื้อหุ้นของบริษัทนอกตลาดในช่วงเริ่มต้นของ PE และราคาขายหุ้นเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาลงทุน โดย PE จะ Exit โดยการขายหุ้นบริษัทเหล่านี้ในตลาดหลักทรัพย์ผ่านกระบวนการ IPO หรือขายให้นักลงทุนรายอื่น

ทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนบุคคลผู้มีสินทรัพย์สูงให้ความสนใจลงทุนใน PE ทั่วโลกด้วยเม็ดเงินมหาศาล จากการประเมินของบริษัท Preqin พบว่า ณ สิ้นปี 2019 PE มีเงินรอลงทุน หรือ Dry Powder รวมกันถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2010 และจากการประเมินของสำนักข่าว Bloomberg มีเงินพร้อมลงทุนราว 7 แสนล้านดอลลาร์ พุ่งเป้าไปที่บริษัทที่อยู่ในขั้นของการฟื้นฟูกิจการ

โดยโรคโควิด-19 เป็นประโยชน์กับนักลงทุน ที่เล็งๆ จะเข้าลงทุนใน PE และ Dry Power ของ PE เดิมเพราะราคาซื้อขายหุ้นของบริษัทนอกตลาดถูกลง แม้จะไม่รุนแรงเท่าราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แต่นับเป็นช่วงเวลาที่ดี

สำหรับนักลงทุนที่ลงทุน PE ไปก่อนหน้านี้ อาจพบว่าผลประกอบการและมูลค่าของบริษัทนอกตลาดในพอร์ตลดลง โดยเฉพาะพอร์ตที่มีกิจการขนาดเล็กและยังไม่แข็งแกร่งในสัดส่วนสูง หรือพอร์ตที่ซื้อหุ้นของบริษัทนอกตลาดในราคาสูง เมื่อมูลค่าของบริษัทที่ลงทุนอยู่ปรับลง อาจทำให้ PE เลือกที่จะเลื่อนการ Exit หรือขายหุ้นของบริษัทนอกตลาดออกไปก่อน เพื่อรอให้มูลค่ากิจการฟื้นขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงความล่าช้าที่นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนและเงินต้นคืน

การคัดเลือกลงทุนกับ PE ที่สามารถเลือกธุรกิจผู้ชนะและหลีกเลี่ยงผู้แพ้จึงจำเป็นมาก หรือการกระจายลงทุนในหลายๆ PE ก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ผู้จัดการกองทุน PE จะต้องประเมินกิจการของบริษัทนอกตลาดเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะความอยู่รอดท่ามกลางเหตุการณ์ไม่คาดคิดในอนาคต

แน่นอนว่าจุดประสงค์หลักของการลงทุนใน PE คือสร้างผลตอบแทนสูงในระยะยาวจากการลงทุนในช่วงต้นๆ ของกิจการ จนถึงเวลาที่กิจการแข็งแกร่งจนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือขายให้ผู้ถือหุ้นรายใหม่ โดยการลงทุนที่คุ้มค่ากับระยะเวลาต้องสร้างระดับผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดั้งเดิมอื่นๆ รวมถึงชนะเงินฝากและชนะเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ