กทม.เร่งตรวจเชื้อเชิงรุก ออกมาตรการ คุม 'คาเฟ่สัตว์' เพิ่มเติม

กทม.เร่งตรวจเชื้อเชิงรุก ออกมาตรการ คุม 'คาเฟ่สัตว์' เพิ่มเติม

กทม.เร่งตรวจเชื้อเชิงรุก ออกมาตรการ คุม "คาเฟ่สัตว์" ในพื้นที่กทม.เพิ่มเติม

วันนี้ (22 พ.ค. 63) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 47/2563 โดยมี พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะโฆษกกรุงเทพมหานคร ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้แทนสำนัก ผู้แทนกลุ่มเขต และผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

ที่ประชุมได้กำชับให้สำนักอนามัยเร่งดำเนินการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุก (Sentinel Surveillance) ด้วยการตรวจหาเชื้อในน้ำลาย เพื่อเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ซึ่งกรุงเทพมหานครได้รับการสนับสนุนชุดทดสอบจากกระทรวงสาธารณสุขกว่า 15,000 ชุด และต้องตรวจสอบกลุ่มเป้าหมายให้ครบภายในเดือนมิ.ย.นี้ โดยกำชับให้ดำเนินการตรวจสอบให้ได้จำนวนไม่ต่ำกว่า 400 คนต่อวัน รวมทั้งให้เขตเร่งลงพื้นที่ตรวจให้คำแนะนำสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง หากพบปฏิบัติไม่ถูกต้อง ให้รีบแนะนำการปฏิบัติที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้สถานประกอบการแก้ไขการปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับคาเฟ่สุนัข แมว และสัตว์ประเภทต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย การแยกบริเวณรับประทานอาหารและบริเวณชมสัตว์ให้เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน ก่อนและหลังเข้าบริเวณชมสัตว์ให้ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากอนามัยผ้า Face Sheild และชุดหรือเสื้อคลุมตลอดเวลาที่อยู่ในบริเวณชมสัตว์ ปิดทำความสะอาดและระบายอากาศทุก 2 ชั่วโมง ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการสัมผัสสัตว์โดยตรง ใช้ระบบการจองเพื่อใช้บริการและบันทึกข้อมูลเพื่อการติดตามสอบสวนโรค นอกจากนี้ระหว่างการชมสัตว์ ผู้ให้บริการต้องมีการควบคุมให้มีการเว้นระยะห่าง ลดการพูดคุย ไม่ใช้เสียงดัง ไม่ตะโกน เพื่อลดการเกิดละอองฝอยจากน้ำลาย ถ้าสัตว์มีอาการป่วย ให้นำส่งสัตว์แพทย์เพื่อรักษาและจำแนกไม่ให้ปะปนกับสัตว์ตัวอื่น ทำความสะอาดพื้น พื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ ทำความสะอาดสัตว์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสมไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์หลังปิดบริการเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง งดการให้ผู้ใช้บริการป้อนอาหารสัตว์/ให้อาหารสัตว์ และเมื่อใช้บริการชมสัตว์ต้องถอดรองเท้า จัดให้ระบบวางรองเท้าที่ง่ายต่อการจัดเก็บ จัดหาถุงใส่รองเท้าแบบใช้แล้วทิ้ง และจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์บริการในบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ดีได้มอบหมายให้สำนักงานเขตเร่งตรวจสอบว่าในพื้นที่มีจำนวนคาเฟ่สัตว์แต่ละประเภทเท่าใด เพื่อจะได้ตรวจสอบติดตามการปฏิบัติตามมาตรการอย่างใกล้ชิดต่อไป