5 เดือนผ่านมา โควิด-19 ได้ทำร้ายผู้หญิงอย่างไรบ้าง

5 เดือนผ่านมา โควิด-19 ได้ทำร้ายผู้หญิงอย่างไรบ้าง

เข้าสู่ช่วงการ "ผ่อนปรนระยะ 3" นอกจากสังคมจะคลายเครียดลงได้บ้างแล้ว ผลบวกอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง คือ ปัญหา "ความรุนแรงในครอบครัว" ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19 เมื่อต้องอยู่ในบ้านนานมากขึ้น

ถึงแม้ว่ารายงานผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตส่วนใหญ่จากเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ุใหม่ 2019 นั้น สถิติเพศชายจะมากกว่าเพศหญิงเป็นเท่าตัว (อัตราคิดเป็น 60 ต่อ 40 %) ทำให้นักวิชาการด้านโรควิทยาต่างศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างไร

แม้ตอนนี้จะยังหาผลสรุปแน่ชัดของเรื่องเพศต่อโรคโควิด-19 ไม่ได้ แต่ความเป็น ‘เพศหญิง’ จะโชคดีกว่าเพศชายหลายเท่าในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด จริงหรือ? 

เพราะเรื่องความรุนแรงภายในบ้าน การเข้าไม่ถึงการทำแท้งถูกกฎหมาย และการเป็นเจ้าสาววัยเด็ก ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทั่วโลก กลับเพิ่มมากขึ้นอย่างน่ากังวลภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ 

นั่นหมายความว่าถึงแม้จะมีสถิติเพศชายเสียชีวิตจากเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ุใหม่มากกว่าเพศหญิง แต่ตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา โรคโควิด-19 ก็ได้ทำร้ายผู้หญิงไปไม่น้อยกว่ากัน

159014077113

  • ความรุนแรงภายในบ้านที่เพิ่มขึ้น 

มาตรการสำคัญที่รัฐบาลประกาศใช้เพื่อบรรเทาและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 คือ การให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน โดยสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อซึ่งมีทั้งสถานที่ทำงานและหารายได้ของประชาชน รวมไปถึงสถานศึกษาทุกระดับและสถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งแม้ว่า ในการผ่อนปรนมาตรการระยะ 3 ล่าสุด จะเริ่มเปิดให้บริการสถานที่เพิ่มขึ้นมาก แต่หากนับย้อนหลังกลับไป ตั้งแต่ 22 มีนาคม วันแรกของการเริ่มใช้มาตรการดังกล่าว เท่ากับว่าประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต้องอยู่บ้านเป็นหลักประมาณ 10 สัปดาห์

แต่บ้านก็ไม่ได้ปลอดภัยสำหรับทุกคน 

ทุก 1 นาทีจะมีผู้หญิงในสหรัฐอเมริกาถูกทำร้ายร่างกายโดยคนในครอบครัวมากถึง 20 คน และ 1 ใน 4 ของเหยื่อคือได้รับความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจขั้นร้ายแรง (อ้างอิงจาก The National Coalition Against Domestic Violence’s  Vision)

จากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เผยตัวเลขสถิติที่น่าตกใจว่า ในแต่ละวันมีผู้หญิงต้องเสียชีวิตไปโดยเฉลี่ย 137 คนทั่วโลก เหตุเพราะถูกคู่ครองหรือคนในครอบครัวสังหาร

ในหลายประเทศ จำนวนการโทรแจ้งสายด่วนความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19เมื่อประชาชนต้องกักตัวในบ้าน สำนักข่าว CNN รายงานว่า เมือง Nassau ในมหานครนิวยอร์ก มีปริมาณการโทรแจ้งสายด่วนเข้ามาเพิ่มร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และใน Cincinnati มีปริมาณสายโทรเข้ามาเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เช่นกันในแคว้นคาตาลัน ประเทศสเปน พบว่าจำนวนผู้ใช้บริการสายด่วนขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในช่วงไม่กี่วันหลังมีมาตรการปิดเมือง และในประเทศไซปรัส จำนวนผู้ใช้บริการสายด่วนขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังเจอเคสผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศ

ซึ่งเท่ากับว่า "บ้าน" คือสถานที่ที่ผู้หญิงมีความเสี่ยงจะถูกฆาตกรรมมากที่สุดและเป็นสถานที่สำคัญที่เกิดความรุนแรงในครอบครัว

สำหรับ ประเทศไทย จำนวนผู้โทรเข้า สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ด้วยเหตุความรุนแรงในครอบครัวตลอดเดือนมีนาคม 2563 มีทั้งสิ้น 103 ราย ถือว่าลดลงจากเดือนมีนาคมปี 2562 ที่มีจำนวน 155 ราย ค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่ลดลงอาจเป็นสัญญาณอันตรายเนื่องจากสื่อถึงการรายงานเคสที่ลดลง แต่อาจไม่ได้หมายถึงความรุนแรงในครอบครัวที่ลดลง เนื่องจากผู้ที่แจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัวหลายกรณีมักเป็นคนนอก เช่น ครู หรือเพื่อน อย่างเช่นกรณีสายด่วนแจ้งความรุนแรงต่อเด็กในรัฐ Oregon ที่มีจำนวนลดลงกว่าครึ่งหลังจากโรงเรียนถูกปิดเช่นกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่กังวลว่าเป็นเพราะการแจ้งที่เกิดจากครูที่โรงเรียนลดลงเนื่องจากเด็กไม่ได้ออกมาพบครู

นอกจากนี้ สถานการณ์โรคระบาดอาจทำให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้าออกจากบ้าน หรือเข้าขอความช่วยเหลือจากสถานบริการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นสถานที่แรกที่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงจำเป็นต้องเข้าไปรับบริการ ทั้งเพื่อรับการรักษา และตรวจร่างกายเพื่อเก็บหลักฐานในการดำเนินคดี

แต่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากประชาชนจะไม่อยากเข้าไปเพราะกังวลต่อความเสี่ยงในการติดเชื้อแล้ว บุคลากรและเครื่องมืออุปกรณ์ในโรงพยาบาลอาจถึงขีดจำกัดจนไม่สามารถรับกรณีที่ไม่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดได้เท่าที่ควร

ยิ่งไปกว่านั้น บ้านพักฉุกเฉินทั้งของรัฐและองค์กรภาคประชาสังคมอื่นอาจไม่สามารถรองรับเคสใหม่เพิ่มได้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดภายในสถานที่ซึ่งเดิมทีก็มีความแออัดอยู่แล้ว

มาตรการกักตัวอยู่บ้านเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ แต่หากมาตรการดังกล่าวส่งผลให้เกิดความรุนแรงในบ้านโดยที่ไม่มีมาตรการอะไรออกมารองรับ มูลค่าความเสียหายของความรุนแรงในครอบครัวที่จะส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมในอนาคตเช่นกัน 

159014090927

  • เข้าไม่ถึงการทำแท้งถูกกฎหมายมากขึ้น 

ข้อมูลจากสายปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 กลุ่มทำทางและเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม พบว่า นับตั้งแต่มีการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์มีจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้าอย่างชัดเจน

สถานบริการสุขภาพบางส่วนหยุดให้บริการยุติการตั้งครรภ์เนื่องจากมีภารกิจการค้นหาดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด- 19 บางส่วนลดจำนวนผู้รับบริการและมีความเข้มงวดในการรับส่งต่อจากพื้นที่เสี่ยงโรคติดเชื้อโควิด-19 

โดยก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์โควิด เครือข่ายอาสาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัย หรือ RSA (Referal System for Safe Abortion) ภายใต้การดูแลของกรมอนามัย มีสถานบริการสุขภาพที่ให้บริการ  142 แห่ง  ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 71 แห่ง และมีหน่วยบริการเพียง 4 แห่งทั่วประเทศไทยที่ให้บริการสำหรับกรณีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

ในส่วนของผู้รับบริการเองนอกจากไม่สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ หลายคนยังกังวลกับเรื่องการถูกกักตัวเมื่อทั้งขาไปและกลับจากการไปรับบริการในสถานบริการต่างพื้นที่ ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งค่าเดินทาง อาหาร ที่พัก และค่าคนที่จะต้องมาคอยดูแลลูกระหว่างที่ไม่อยู่ และเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง หากต้องลางานหลายวันติตต่อกัน

นอกจากนี้หลายคนยังต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากการที่ตนเอง และสามีต้องตกงานอย่างกะทันหัน เมื่อสถานประกอบการต้องปิดตัวลง หรือได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อคดาวน์  ขณะเดียวกันมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติยังมีแนวโน้มที่จะนำมาซึ่งการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในอนาคตเพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากการใช้เวลาอยู่ในบ้านร่วมกันเพิ่มโอกาสในการมีเพศสัมพันธ์กับคู่มากขึ้น ขณะที่ประชาชนกลับเข้าไม่ถึงอุปกรณ์คุมกำเนิด หรือใช้วิธีการคุมกำเนิดที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมกล่าวว่า บริการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัย เป็นบริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อชีวิตของประชาชน ไม่สามารถจะหยุด หรือชะลอการให้บริการได้ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตการณ์ หรือภัยพิบัติใดก็ตาม เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อมจึงได้จัดทำจดหมายเปิดผนึกต่อกรมอนามัยให้พิจารณาออกมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยด่วน

159014110233

   

  • เจ้าสาววัยเด็กเพิ่มขึ้น

สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้หลายครอบครัวประสบปัญหาด้านรายได้ หนทางแห่งการอยู่รอดท่ามกลางความดิ้นรนที่สามารถทำได้คือ การตัดสินใจให้ลูกสาวแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อลดจำนวนสมาชิกในบ้านที่ต้องดูแล หรือเรียกเงินสินสอดมาจุนเจือครอบครัว โดยเฉพาะในครอบครัวอินเดีย 

ปัจจุบันนี้ เด็กผู้หญิงกว่า 12 ล้านคนต้องแต่งงานก่อนอายุ 18 ปี หรือในทุก 3 วินาที จะมีเด็กผู้หญิง 1 คนแต่งงานก่อนวัยอันควร นออกจากนี้ องค์การสหประชาชาติยังคาดการณ์ว่า ภาวะโรคระบาด จะส่งผลให้เกิดการแต่งงานในเด็กเพิ่มขึ้นกว่า 13 ล้านคนในช่วง 10 ปีหลังจากนี้

นักกิจกรรมหลายคนชี้ว่า ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการแต่งงานในเด็กเพิ่มขึ้น คือ การที่โรงเรียนประกาศหยุดเรียน และกลุ่มผู้ทำงานเพื่อหยุดยั้งปัญหาการแต่งงานในเด็กก็ทำงานยากขึ้นเมื่อมีการประกาศล็อกดาวน์ ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ยังทำให้เด็กผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้แรงกดดันให้เกิดการแต่งงานเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ทั้ง 3 ประเด็นปัญหาคือเรื่องน่ากังวลสำหรับผู้หญิงที่แทรกซ้อนมาพร้อมกับสถานการณ์โควิด-19 เรื่องการลดการติดเชื้อก็มีความสำคัญ แต่การป้องกันความปลอดภัยอื่นๆ ในมิติสังคมก็สำคัญไม่แพ้กัน