ถอดรหัสโต 'ชโย กรุ๊ป' โควิด-19 ดัน 'ธุรกิจซื้อหนี้'

ถอดรหัสโต 'ชโย กรุ๊ป' โควิด-19 ดัน 'ธุรกิจซื้อหนี้'

สำรวจพัฒนาร้อนแรง 'รายได้-กำไรสุทธิ' ของ 'ชโย กรุ๊ป' หนึ่งในธุรกิจที่เติบโต 'โดดเด่น' ในช่วงเศรษฐกิจซบเซา 'สุขสันต์ ยศะสินธุ์' นายใหญ่ ติดเครื่องธุรกิจซื้อหนี้มาบริหารสู่เป้าหมายปีนี้ 'หมื่นล้าน' แย้มโควิด-19 เป็นโอกาสซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเพิ่ม !

ผลงานโดดเด่นของไตรมาส 1 ปี 2563 สะท้อนผ่าน 'กำไรสุทธิ' 36.99 ล้านบาท ขยับขึ้น 35% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 89% จากไตรมาส 4 ปี 2562 ส่งผลให้ราคา หุ้น ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO ผู้ประกอบกิจการเจรจาติดตามและเร่งรัดหนี้สิน และบริหารสินทรัพย์จากการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันจากสถาบันการเงิน ราคาพุ่งจาก 'จุดต่ำสุด' 3.14 บาท ( 24 มี.ค.2563) มาอยู่ที่ 6.45 บาท (ณ วันที่ 20 พ.ค 2563)

'สุขสันต์ ยศะสินธุ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO เล่าให้ฟังว่า สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ที่ผ่านมาเติบโต 'โดดเด่น' มาจาก 'ธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ' ที่มีอัตราการเติบโตที่สูง และแนวโน้มจะเติบโตระดับสูงต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยบวกในแง่ของเศรษฐกิจชะลอตัว !

ในปี 2563 บริษัทตั้งเป้าซื้อหนี้จากสถาบันการเงินอีกกว่า 10,000 ล้านบาท โดยวางงบลงทุนรวมไว้ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารเพิ่ม 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน 70-80% และหนี้ไม่มีหลักประกัน 20-30% จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 51,000 ล้านบาท

'คาดว่าจะมีหนี้ด้อยคุณภาพทยอยออกประมูลขายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเบื้องต้นมีออกมาบ้างแล้วประมาณ 9,000 ล้านบาท และน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้'

ทั้งนี้ บริษัทมองว่าจะมีสินเชื่อด้อยคุณภาพออกมาในระบบประมาณ 5.2- 5.5 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้คาดว่าจะมี TOR เข้ามาเชิญชวนบริษัทเข้าร่วมประมูล 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโอกาสของบริษัทในการที่จะซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้หนี้ที่ธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ขายออกมาเป็นหนี้ระยะสั้นเป็นส่วนใหญ่ เพิ่มมากขึ้นเป็น 20-25% จากเดิม 10% โดยเฉพาะหนี้ระยะสั้นที่ไม่มีหลักประกันแบงก์จะขายได้ในราคาดี เพราะติดตามทวงหนี้ได้ง่ายกว่าหนี้ระยะยาว แต่บริษัทยังไม่จำเป็นต้องเอาเงินไปทุ่มซื้อ เพราะผลกระทบของเชื้อไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ยังอีกยาว ดังนั้น บริษัทมีโอกาสจะได้หนี้มากขึ้นในต้นทุนเท่าเดิม

'การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจจะเป็นโอกาสให้บริษัทเข้าประมูลหนี้เสียจำนวนมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นผลให้เราจะสามารถซื้อหนี้เข้ามาบริหารได้มากขึ้นในงบลงทุนเท่าเดิม' 

สำหรับ แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2563 จะเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 เนื่องจากธุรกิจซื้อหนี้บริหารยังคงเติบโตได้ดี จากการทยอยขายและซื้อหนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันเข้ามาบริหาร และเชื่อว่าจะสามารถขายหนี้ที่มีหลักประกันออกไปได้ ส่วนธุรกิจให้บริการติดตามทวงหนี้ และธุรกิจการปล่อยสินเชื่อยังคงทรงตัว

ขณะที่ ภาพรวมปี 2563 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 'ไม่ต่ำกว่า 20%' ซึ่งเป็นการเติบโตจากทุกกลุ่มธุรกิจที่มีอยู่รวมถึงธุรกิจใหม่ที่จะเริ่มดำเนินการในปีนี้อีกด้วย

'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' แจกแจงว่า ในส่วนของ 'ธุรกิจให้บริการติดตามทวงถามหนี้' ประเมินว่าในปีนี้ธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับผู้ว่าจ้างและรัฐบาลมีนโยบายให้พักชำระหนี้เป็นเวลา 3-6 เดือน ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ส่งผลกระทบกับการทวงถามหนี้มีความยากมากขึ้น

ดังนั้น บริษัทก็มีการบริหารลูกค้า โดยเฉพาะการเจรจากับลูกค้าที่ถึงรอบปิดบัญชี หากยังไม่สามารถปิดบัญชีได้ ก็สามารถขยายเวลาปิดบัญชีออกไปอีกได้ โดยแบ่งชำระเป็นงวด ส่วนลูกค้าที่ผ่อนอยู่ ก็ช่วยให้ลูกค้าผ่อนน้อยลง เป็นต้น

'ตอนนี้บริษัทได้ปรับกลยุทธ์และขยายเวลาในการจัดเก็บออกไปก่อนแล้ว รวมถึงพยายามขยายฐานลูกค้าเพิ่มจำนวนรายเพื่อให้จัดเก็บได้มากขึ้น ซึ่งสัดส่วนรายได้จากธุรกิจดังกล่าวมีประมาณ 18%'

ทั้งนี้ บริษัทเป็นผู้ให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ โดยบริษัทจะรับติดตามทวงถามหนี้ซึ่งเป็นหนี้ด้อยคุณภาพหรือหนี้คงค้างที่ผู้ว่าจ้างต้องการให้ติดตามทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่ผู้ว่าจ้างได้กำหนดไว้ ภายใต้พระราชบัญญัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้เงินกู้ส่วนบุคคล รวมถึงหนี้ค่าสาธารณูปโภค หนี้ค่าบริการ และหนี้โทรศัพท์ เป็นต้น

ส่วน 'ธุรกิจการปล่อยสินเชื่อ' บริษัทตั้งเป้าจะมียอดการปล่อยสินเชื่อประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมียอดการปล่อยสินเชื่อแล้ว 50 ล้านบาท ซึ่งจะปล่อยสินเชื่ออย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)

ขณะเดียวกัน ในปี 2563 บริษัทจะเริ่มดำเนินใหม่ คือ 'ธุรกิจขายสินค้าและให้บริการผ่าน Call Center' ซึ่งบริษัทก็เห็นถึงโอกาสในการต่อยอดธุรกิจและสร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติให้จัดตั้งบริษัทย่อย บริษัท 555 ช้อปปิ้ง จำกัด โดย CHAYO ถือหุ้นในสัดส่วน 55% และ 'นนทวัชร์ อนันท์พรจินดา' ถือหุ้น 45% เพื่อสามารถขายสินค้า และให้บริการผ่าน 'คอลเซ็นเตอร์' (Call Center) ด้วยการขายสินค้าผ่านทีวีชอปปิ้งและออนไลน์ชอปปิ้ง ซึ่งคาดว่าสัดส่วนรายได้จะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ 1%

โดยตอนนี้คนที่ขายทางทีวีมีสินค้ามาขายมากขึ้น ทำให้ลูกค้าโทรเข้าไปอาจจะติดปัญหา ดังนั้น หากต้องการมียอดขายเพิ่มขึ้นเราก็พร้อมจะเข้าไปเป็นตัวช่วย ซึ่งระบบของเราจะทำการเรคคอร์ด และสามารถโทรกลับไปหาลูกค้าได้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเราจะเป็นผู้ที่ขายสินค้าทางทีวี

ด้านแผนการพัฒนา 'ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์' นั้น ในปีนี้บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องชะลอธุรกิจอสังหาฯ ออกไปก่อน เนื่องจากประเมินว่าปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจในประเทศไทยยังไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ บริษัทเคยอยู่ระหว่างการคุยกับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เบอร์ต้นๆ ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ราว 2-3 ราย ในการร่วมกันพัฒนาที่ดินในรูปแบบคอนโดมิเนียม ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม เป็นต้น

ปัจจุบันมีที่ดินในมือแล้ว 3-4 แปลง โดยที่ซื้อจากสถาบันการเงินที่ขายทอดตลาด NPA (Non Performing Asset) เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดเพิ่ม ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างพิจาณาความเหมาะสมการลงทุนว่าจะดำเนินธุรกิจในรูปแบบใด ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งธุรกิจร่วมทุน , ลงทุนทำเอง หรือแม้แต่การขายที่ดินเอง แต่เมื่อสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยบริษัทก็ต้องชะลอโครงการดังกล่าวออกไปก่อน

ทั้งนี้ บริษัทมี 'จุดแข็ง' คือความชำนาญในการเก็บและปล่อยสินเชื่อ จึงมั่นใจว่าธุรกิจปล่อยสินเชื่อของบริษัทจะได้รับการตอบรับที่ดี โดยเชื่อว่าการดำเนินธุรกิจของทั้ง 2 บริษัทนั้น จะช่วยผลักดันให้ผลประกอบการเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตด้วย

สุดท้าย 'สุขสันต์' ฝากทิ้งท้ายว่า ในปีนี้ CHAYO เห็นช่องทางในการขยายธุรกิจในส่วนของคอลเซ็นเตอร์มากขึ้น จากการขายสินค้าผ่านทีวีช็อปปิ้งและออนไลน์ช็อปปิ้งที่กำลังได้รับความนิยม คาดว่าอนาคตจะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้อีกด้วย

โควิด-19 กระทบQ2 เล็กน้อย
'ธนภัทร ฉัตรเสถียร' นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ ระบุว่า ประเมินผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2563 ของ บมจ. ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO คาดว่าอาจจะเห็นกำไรอ่อนตัวลงบ้างแต่ไม่มาก เนื่องจากผลกระทบจาก COVID-19 จะทำให้กระแสเงินสดรับจาก NPL ลดลง โดยในส่วนของหนี้ที่ไม่มีหลักประกันอาจเห็นยอดรับชำระลดลงบ้าง เนื่องจากลูกหนี้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ส่วน NPL ที่มีหลักประกันอาจเห็นกระแสเงินสดลดลงมาก เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจอาจกระทบภาคอสังหาริมทรัพย์

อีกทั้งยังมีกรมบังคับคดียังปิดให้บริการชั่วคราว (ตั้งแต่ เม.ย. ที่ผ่านมา และยังไม่ชัดเจนว่าจะเปิดดำเนินการได้เมื่อใด) ทำให้ไม่สามารถนำทรัพย์หลักประกันไปประมูลขายได้ แต่บริษัทจะพยายามเร่งขายสินทรัพย์รอการขาย (NPA) เพื่อชดเชย อีกทั้ง TFRS9 ที่มีการรับรู้รายได้ตามเกณฑ์ EIR ซึ่งเป็นบวกต่อรายได้และกำไร

อย่างไรก็ตาม Upside ยังค่อนข้างจำกัด แนะนำ 'ถือ' โดยให้ราคาเป้าหมายปี 2563 อยู่ที่ 6.20 บาท อิง PBV 3.5 เท่า ด้วยราคาหุ้นที่ฟื้นตัวขึ้นมารวดเร็วจากจุดต่ำสุดในเดือน มี.ค. สำหรับความเสี่ยง สภาวะเศรษฐกิจอาจส่งผลต่ออัตราการจัดเก็บหนี้และกระแสเงินสด

ทั้งนี้ จากการเติบโตที่ดีกว่าคาดการณ์ในไตรมาส 1 ปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 37 ล้านบาท ดีขึ้น 89% จากไตรมาสก่อน และ 35% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากรายได้จากธุรกิจบริหารหนี้เติบโตสูงจาก TFRS9 แม้ว่ากระแสเงินสดอาจได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ก็ตาม แต่แนวโน้มไตรมาส 2 ปี 2563คาดกำไรอ่อนตัวลงบ้างจากผลกระทบของ COVID-19 ที่เข้ามาเต็มไตรมาส แต่การเร่งขาย NPA และ TFRS9 จะช่วยลดผลกระทบได้

รวมทั้ง สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ต่ำเพียง 0.6 เท่า ทำให้บริษัทยังมีศักยภาพในการซื้อหนี้ได้อีกมาก ซึ่งหากผ่านช่วงเศรษฐกิจตกต่ำไป คาดว่าจะเห็นการเติบโตที่ดีขึ้น