สำรวจรายได้ Q1 ‘ค้าปลีก-ห้างไทย’ ในวิกฤติโควิด-19

สำรวจรายได้ Q1 ‘ค้าปลีก-ห้างไทย’ ในวิกฤติโควิด-19

สำรวจรายได้ธุรกิจ "ค้าปลีก ค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า" ไตรมาส 1 ปี 2563 จะเป็นอย่างไร? เมื่อต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 กลุ่มสินค้าใดจะเติบโตสวนทางหรือลดฮวบเกินต้านวิกฤติครั้งนี้?

ค้าปลีกไทยช่วงไตรมาส 1 ของปี 2563 ที่ผ่านมา นับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากในการดำเนินธุรกิจอย่างมาก เช่นเดียวกับเซ็กเตอร์ธุรกิจอื่นๆ ที่ต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคโควิด-19

ผลกระทบที่ว่านี้มาจากการที่รัฐบาลออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ด้วยการประกาศ ...สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่มีการออกมาตรการเคอร์ฟิว จำกัดการออกนอกเคหะสถาน ตั้งแต่ 22.00-04.00 . ที่สำคัญการปิดสถานที่เสี่ยงและที่มีผู้คนแออัดต่างๆ อย่างเช่น ห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้า ฯลฯ ทำให้ผู้ประกอบการบางแห่งต้องปิดดำเนินการเป็นการชั่วคราว หรือเปิดให้บริการในชั่วโมงที่ลดลง แน่นอนว่ากระทบกับรายได้และผลประกอบการโดยตรง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ได้สำรวจและรวบรวมผลประกอบการ รวมถึงกำไรขาดทุนของห้างสรรพสินค้า ธุรกิจค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ต Q1/2563 หลักๆ ไว้ดังนี้

 

  •  CPALL 

สิ่งที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะได้เห็น คือ ร้านสะดวกซื้อที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง อย่าง "เซเว่น อีเลฟเว่น" ต้องลดเวลาการให้บริการลงไปราว 6 ชั่วโมงต่อวัน ในทุกสาขาทั่วประเทศ คือเปิดตั้งแต่ 04.00 . ไปจนถึง 22.00 . ซึ่งหลายคนอาจมองว่า สถานการณ์นี้จะเป็นปัจจัยลบต่อผลประกอบการของ CPALL ที่มีธุรกิจหลักอย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น อย่างแน่นอน

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ CPALL หรือบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ที่มีธุรกิจในเครือหลักๆ อย่าง "เซเว่น อีเลฟเว่น" รวมถึงธุรกิจค้าส่งอย่าง "แมคโคร" หรือบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงผลประกอบการ ไตรมาส 1 ปี 2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์ ไว้ว่า ช่วง 3 เดือนแรกบริษัท มีรายได้รวมทั้งหมด 145,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันปี 2562 ที่มีรายได้รวม 138,896 ล้านบาท อยู่ราวๆ 6,959 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.2%

ซึ่งชี้แจงว่า สัดส่วนรายได้มาจาก 2 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจอื่นๆ ราว 64% และอีก 36% มาจากธุรกิจค้าส่ง ทั้งนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทางลบต่อบริษัทและบริษัทย่อยของ CPALL ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และรุนแรงเพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมโรคจากรัฐบาล

หากแยกรายได้ตามประเภทสินค้า จะพบว่า สินค้ากลุ่มอาหารมีอัตราการเติบโตในระดับที่สูง และสูงกว่าสินค้าอุปโภค ปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของยอดขายสินค้ากลุ่มอาหารพร้อมทาน อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง และเครื่องดื่ม นอกจากนี้ยังรวมถึงกลุ่มสินค้าดูแลสุขภาพ ยารักษาโรค และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

ขณะที่ค่าใช้จ่ายทั้งการจัดจำหน่ายและการบริหารอยู่ที่ 27,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากค่าใช้จ่ายจากการขยายสาขาอย่างร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากไตรมาสแรกปีนี้มีการเปิดสาขาใหม่ 271 สาขาในทุกประเภท ทำให้ภาพรวม CPALL มีร้านสะดวกซื้อรวมทั้งหมดกว่า 11,983 สาขา และการบริหารจัดการร้านจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากส่วนของแมคโคร เพราะมีการจัดตั้งและดำเนินธุรกิจในระยะเริ่มต้นที่จีนและเมียนมา

หากดูในแง่ของกำไรสุทธิ พบว่า Q1/2563 CPALL มีกำไรสุทธิราว 5,645 ล้านบาท ลดลงไป 2.15% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 5,769 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อเติบโตในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย รวมถึงดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นจาก TFRS16

  •  BJC 

ฟาก BJC หรือบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จํากัด (มหาชน) ซึ่งมีบริษัทย่อยอย่าง บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีก "บิ๊กซี" และธุรกิจอื่นๆ ก็ได้รายงานคำอธิบายและบทวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร ในประเด็นของผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งพบว่า มีรายได้รวมใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดย Q1/2563 มีรายได้ 42,328 ล้านบาท เติบโต 0.2%

แยกเป็นรายได้จากกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกราวๆ 26,970 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อน 0.3% รองลงมาเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 5,580 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนมากที่สุดราว 18% เช่น ทิชชู่ เครื่องใช้ส่วนตัว กระดาษเปียก แอลกอฮอล์ และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เป็นต้น แต่กลุ่มธุรกิจอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มขนม จะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงและระมัดระวังการใช้จ่าย

ตามด้วยกลุ่มสินค้าทางเวชภัณฑ์ ที่มียอดคำสั่งซื้อสินค้า ทั้งยา อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ส่วนกำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 1 มีกำไร 1,444 ล้านบาท ลดลงไป 12.5% หรือราว 206 ล้านบาท

  

  •  CRC 

ขณะที่อาณาจักร CRC หรือบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีธุรกิจทั้งในไทย เวียดนาม และอิตาลี ครอบคลุมทั้งกลุ่มแฟชั่น ฮาร์ดไลน์ และฟู้ด เช่น ท็อปส์ มาร์เก็ต, โรบินสัน, ไทวัสดุ เป็นต้น ได้รายงานผลประกอบการภาพรวมช่วงไตรมาสแรก 2563 มีรายได้ราว 54,285 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 1% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 890 ล้านบาท ลงฮวบลงไปกว่า 63% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์และอื่นๆ ที่ทำให้ศูนย์การค้าต้องปิดให้บริการอย่างกะทันหันนั่นเอง

แต่ในช่วงเวลานี้ CRC ยังเน้นย้ำความแข็งแกร่งของแพลตฟอร์ม Customer-Centric Omni-channel หรือกลยุทธ์การเชื่อมต่อช่องทางต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว ทำให้ช่องทางนี้มีการเติบโตสูงถึง 93% กลุ่มที่ยังมีอัตราการเติบโตอยู่ก็คือ ธุรกิจฟู้ดเติบโตขึ้น 4% ทั้งในไทยและเวียดนาม

เช่นเดียวกับกลุ่มฮาร์ดไลน์ ที่มีการเติบโตราว 32% เช่น กลุ่มอุปกรณ์ก่อสร้างหรือต่อเติมบ้านแบบ DIY ซึ่งในส่วนธุรกิจนี้ CRC ก็มีกลยุทธ์ขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ท็อปส์ และไทวัสดุ รวมไปถึงการเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่ แบรนด์ GO! อีกหนึ่งสาขาที่เวียดนาม แต่สำหรับกลุ่มแฟชั่นได้รับผลกกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รายได้ในส่วนนี้ลดลง 3,500 ล้านบาท

 

  •  MBK 

ขณะที่ “MBK” หรือบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจเช่น  MBK Center (ศูนย์การค้ามาบุญครอง) ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ฯลฯ และยังเข้าไปถือหุ้นในกลุ่มบริษัทอื่นๆ เช่น กลุ่มของสยามพิวรรธน์ ผลประกอบการของ เอ็ม บี เค ช่วงไตรมาส 1 มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 2,528 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 7% โดยเฉพาะในส่วนของศูนย์การค้า มีรายได้ราว 835 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 15% หรือลดลงไป 145 ล้านบาท

ทั้งนี้เนื่องจากผลกระทบจากมติของ ศบค.ที่ให้ปิดสถานที่เสี่ยงชั่วคราว ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 ทำให้ต้องปิดสถานประกอบการเป็นการชั่วคราว รวมถึงทางศูนย์การค้าได้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าตลอดระยะเวลาที่ปิดดำเนินการด้วย

หากถามว่า อนาคตข้างหน้าทิศทางค้าปลีกไทยจะเป็นอย่างไรศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ได้คาดการณ์ทิศทางค้าปลีกไทย ไว้ว่า ภาพรวมการเติบโตในปี 2563 จะหดตัวประมาณ 5-8% หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในครึ่งปีแรก และไม่เกิดการระบาดใหม่รอบ 2 และอาจเห็นภาพการปรับรูปแบบการทำธุรกิจค้าปลีก ทั้งนี้สร้างมาตรฐานทางด้านความสะอาดและความปลอดภัยต่อสุขภาพ รวมถึงการรุกตลาดออนไลน์ที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภค

ส่วนค้าปลีกที่ขายสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์และของ ตกแต่งบ้าน จะกลับมาฟื้นตัวได้ช้ากว่าค้าปลีกที่ขายสินค้าจำเป็นอุปโภคบริโภค เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ของโมเดิร์นเทรด ผู้ผลิตสินค้า และ Social Commerce

ที่มา : bangkokbiznews,  kasikornresearch,  cpall,  bjc,  centralretail,  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย