เปิดใจ 'บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา' ชี้โควิดวิกฤติสุดในชีวิต! ถอดบทเรียน 65 ปีบนสังเวียนธุรกิจ

เปิดใจ 'บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา' ชี้โควิดวิกฤติสุดในชีวิต! ถอดบทเรียน 65 ปีบนสังเวียนธุรกิจ

เป็น "แม่ทัพใหญ่" ครองอาณาจักร "เครือสหพัฒน์" องค์กรเด่าแก่เกือบ 80 ปี "บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา" ผ่านวิกฤติมานับไม่ถ้วน แต่ "โรคโควิด-19" สาหัสทั้งไทย ทั่วโลก อยากแกร่งอย่างยั่งยืน ต้องปรับขนาดองค์กร ตุนเงินสด ไม่กู้ลงทุนเกินตัว

รากฐานเศรษฐกิจไทยภายใต้วิกฤติโควิด-19 กำลังอ่อนแอ โดยธุรกิจไทย” ถูกแช่แข็งมาพักใหญ่ จากมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อป้องกันการระบาดของโรค ทำให้ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกออกมา หลายเซ็กเตอร์ รายได้ กำไรลด ไปจนถึงขาดทุน!!

หากมององค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่เมืองไทย เครือสหพัฒน์” ต้องติดทำเนียบเสมอ เพราะเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำ มีบริษัทในเครือนับร้อย ครอบคลุมสินค้าและบริการทั้งอาหาร ของใช้จำเป็น เสื้อผ้าแฟชั่น อสังหาริมทรัพย์ โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม  ทำรายได้ต่อปีร่วม “3 แสนล้านบาท

เครือสหพัฒน์ย่างเข้าสู่ 8 ทศวรรษ ภายใต้การนำทัพของ บุณยสิทธิ์    โชควัฒนา”  ประธานเครือสหพัฒน์ ขับเคลื่อนธุรกิจตั้งแต่วัย 18 ปี ปัจจุบันอายุ 83 ปี นั่นหมายถึงประสบการณ์บริหารธุรกิจผ่านร้อนหนาว ยุครุ่งโรจน์ เผชิญวิกฤติ มาถึง 65 ปี แล้ววิกฤติไหนหนักสุด?

ทำงานเจอมาหลายวิกฤติ หากเทียบวิกฤติต้มยำกุ้งกับโควิด ผลกระทบโควิดหนักกว่ามาก เพราะยุคต้มยำกุ้งประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ครั้งนี้เศรษฐกิจ ธุรกิจ องค์กร ประชาชนทุกภาคส่วนถูกกระทบรุนแรงมาก หนักกว่าต้มยำกุ้ง 10 เท่า บุณยสิทธิ์ ให้มุมมอง

นอกจากนี้ โควิดยังไม่ได้ส่งผลกระทบในไทย แต่ลามทั่วโลก นำไปสู่การตั้งต้นหรือ Set Zero ใหม่อีกครั้ง! โดยเขาประเมินว่าจะเกิดการสลับขั้วของ “มหาอำนาจเศรษฐกิจโลก" มาอยู่ที่เอเชีย จากที่ผ่านมา สหรัฐ และยุโรป มีบทบาทสำคัญ เพราะโรคโควิดทุบชาติตะวันตกรุนแรงมาก ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน ดอลลาร์ จะมีความสำคัญลดลง ทองคำ” ยังมีค่าเหนือเงินตราที่สหรัฐมักพิมพ์ออกมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ

ประกอบกับประเทศจีนแกร่งขึ้นรอบด้าน ส่วนสหรัฐ ธุรกิจการผลิตเครื่องบินที่มีมูลค่ามหาศาล เช่น โบอิ้ง ต้องเผชิญวิบากกรรมครั้งใหญ่จากโรคระบาด โอกาสฟื้นตัวยิ่งใหญ่จะต้องใช้เวลานาน เหล่านี้ทำให้ชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจที่เคยยิ่งใหญ่ แข็งแกร่งต้องอ่อนแอลง

จากโลกมาสู่ไทย การประมือกับวิกฤติโรคระบาดส่งผลกระทบต่อเครือสหพัฒน์เช่นกัน โดยผลการดำเนินงานไตรมาสแรก หลายบริษัทในเครือยอดขายและ กำไร ลดลง บางบริษัทขาดทุนเช่น บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง หรือเอสพีไอ มีรายได้ 1,176 ล้านบาท กำไรสุทธิ 470 ล้านบาท ลดลง 11.25% จากปีก่อน ,บมจ.ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล มีรายได้ 2,265 ล้านบาท "ขาดทุน" 117 ล้านบาท ,บมจ.บูติคนิวซิตี้ ยอดขาย 109.50 ล้านบาท ลดลง 42% "ขาดทุน" 39.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 799%

159012918298

แต่ที่ เติบโต” อย่างแข็งแกร่ง เช่น บมจ. ไทยวาโก้ ยอดขาย 1,194.11 ล้านบาท แม้จะลดลง 14.41% แต่กำไรสุทธิ 116.59 ล้านบาท โตถึง 75.84% ,บมจ.เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ ยอดขาย 1,237.31 ล้านบาท กำไร 106 ล้านบาท เติบโต 541% ,บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ยอดขาย 6,146.97 ล้านบาท โตกว่า 5% กำไร 1,005.85 ล้านบาท เติบโต 16.2% และบมจ.สหพัฒนพิบูล ยอดขาย 8,419.90 ล้านบาท โตราว 6% กำไรสุทธิ 372.75 ล้านบาท เติบโตราว 17%

จะเห็นว่ากลุ่มธุรกิจที่โตล้วนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพที่ผู้บริโภคแห่ซื้อตุนไว้ ส่วนที่หดตัวเป็นสินค้าแฟชั่น รองเท้า เพราะห้างร้านที่เป็นช่องทางจำหน่ายต้องปิดให้บริการตามมาตรการรัฐ

จากปัจจัยลบและผลการดำเนินงานข้างต้น ทำให้บุณยสิทธิ์ประเมินภาพรวมของเครือสหพัฒน์ปี 2563 จะเห็นยอดขายอยู่ในแดนลบ 10-20% จากปกติตั้งเป้าเติบโต 5-7% ส่วนกำไรอาจหดลงถึง 20%

ครั้งนี้เป็นการติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะไม่มีครั้งไหนที่ต้องหยุดขายสินค้าเป็นเวลาหลายสิบวัน ไม่เคยเจอ ตอนนี้จึงต้องพยุงให้ธุรกิจยังไปได้

เขายังบอกว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ปีนี้ จะติดลบกว่า 5.3% กำลังซื้อชะลอตัว ส่งผลให้เครือสหพัฒน์ ต้องเบรกการ ลงทุน” หลายอย่าง เช่น การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบมิกซ์ยูส มูลค่าหลายพันล้านบาท การผนึกกับทุนญี่ปุ่น ดองกิโฮเต้   ประเทศญี่ปุ่น” เตรียมขยายห้างค้าปลีก “ดองกิ" ในไทย 20 สาขา ต้องรอหารือกับพันธมิตรอีกครั้งหลังโควิดทำให้เดินทางมาไทยไม่ได้ 

159012879315

บทเรียนโควิด ยังทำให้บริษัทงัดนโยบายลดไซส์โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า ซึ่งเครือปรับกระบวนท่ามาหลายปี ต้องทำต่อ มุ่งลดต้นทุน สร้างประสิทธิภาพ ตุนกระแสเงินสดเสริมสภาพคล่อง ไม่เน้นกู้ยืมเงินมาขยับขยายธุรกิจ การลงทุน ธุรกิจที่โต เช่น โลจิสติกส์ อาหาร สินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ผงซักฟอกของบริษัท ไลอ้อน(ประเทศไทย) ขยายการลงทุนเพิ่ม พร้อมกำชับให้ขยายไปต่างประเทศ ไม่จำกัดการโตแค่ไทยอีกต่อไป

การตัดสินใจลงทุนต้องวางแผนระยะยาว ดูโอกาส และตัวแปร ตอนนี้เราไม่เน้นลงทุน ต้องพยุงธุรกิจให้อยู่นานที่สุด เพราะเวลานี้เหมือนการวิ่งมาราธอน นึกว่าเราเหนื่อยแล้วยังมีคนอื่นเหนื่อยกว่าเรามาก แต่หากต้องลงทุนอย่าเน้นกู้แล้วค้าขาย พยายามใช้เงินตัวเอง มีมากทำมาก มีน้อยทำน้อย ซึ่งนโยบายนี้สหพัฒน์ทำมานับสิบปี

ทุกปีเครือสหพัฒน์ จะมีมหกรรมลดราคาสินค้าครั้งใหญ่ผ่าน  “สหกรุ๊ปแฟร์  แต่ปีนี้ต้องเลื่อนเลี่ยงโรคระบาด จึงพลิกโฉมจัดงานผ่านออนไลน์โดยยืนยันจะจัดให้ยิ่งใหญ่ ขณะนี้อยู่ระหว่างวางแผนงาน การพัฒนาแพลตฟอร์ม ควบคู่กับการจัดทัพองค์กร คนให้พร้อมกับการทำงานยุคดิจิทัล การค้าขายต้องเพิ่มสัดส่วนออนไลน์ให้มากด้วย

ด้านเศรษฐกิจในประเทศ   บุณยสิทธิ์   ยาหอมรัฐแก้ปัญหาดี แต่ที่ต้องดูแลคือ ค่าเงินบาท” ให้อยู่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ขึ้นไป เพราะเป็นตัวแปรฟื้นเศรษฐกิจเร็วใน 2 ปี หากต่ำกว่านั้นการฟื้นตัวจะทอดยาว ด้านการเมืองไม่ควรเปลี่ยนแปลง เพราะอาจทุบเศรษฐกิจซ้ำ ส่วนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน(พรก.ฉุกเฉิน) หากยกเลิกเร็วยิ่งส่งผลดีต่อฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมารัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากโควิด ทำให้ได้บิ๊กดาต้ามหาศาล จึงแนะรัฐนำไปใช้สร้างประโยชน์ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ประเทศ ควบคู่การสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนแทนสิงคโปร์

วิกฤติโควิด เป็นบททดสอบผู้นำองค์กรในการขบคิดยุทธวิธีนำพาธุรกิจฝ่าโรคร้าย แต่นี่ไม่ใช่วิกฤติสุดท้าย เพราะเชื่อว่าอนาคตยังมีสิ่งที่ต้องจับตาและระวังอีกมาก หนึ่งในนั้นคือสงครามที่ยากจะคาดเดารูปแบบ ส่วนแนวโน้มธุรกิจยังคงเป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้าและมีโอกาสที่ปลาเล็กจะกินปลาใหญ่ด้วย