ศบค.เผยผู้ป่วยโควิด-19ใหม่ 0 รายแบบไม่เต็มที่

ศบค.เผยผู้ป่วยโควิด-19ใหม่  0 รายแบบไม่เต็มที่

ศบค.เผยสถานการณ์โควิด-19ในไทยอยู่ระยะควบคุมได้เต็มที่ ย้ำอีกนานกว่าคนไทยจะได้ใช้วัคซีนอย่างน้อย 1.6 ปี

 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กล่าวว่า ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ แต่ 0 รายนี้ไม่ได้ 0 รายแบบเต็มที่ ภาพรวมประเทศมีผู้ป่วยสะสม 3,037 ราย รักษาหายแล้ว 2,910 ราย ยังรักษาในรพ. 71 ราย และเสียชีวิตสะสม 56 ราย อย่างไรก็ตาม ยังมีการรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ)ที่เป็นทางการอีก 2 รายจากผู้ที่เข้าพักในสถานที่ที่รัฐจัดให้(State Quarantine) จำนวน 2 ราย ซึ่งเดินทางกลับมาจากประเทศอียิปต์และอินเดีย
         หากพิจารณาผู้ป่วยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 8-21 พฤษภาคม 2563 จำนวน 45 ราย แยกเป็นการพบผู้ป่วยที่เป็นคนไทยกลับจากต่างประเทศใน State Quarantine 15 ราย ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยรายก่อนหน้านี้ 11 ราย จากการค้าหาเชิงรุกและในชุมชน 6 ราย ศูนย์กัก 5 ราย ผู้ป่วยที่ไปในสถานที่ชุมชน 5 ราย และอาเชีพเสี่ยง เช่น พนักงานขายของ 3 ราย ทั้งนี้ นับตั้งแต่ 1 มีนาคม- 20 พฤษภาคม 2563 หากพิจารณาสถานการณ์ในประเทศไทยจะแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1.ช่วงต้นเดือนมีนาคม มีการแพร่โรคต่ำระบาดในวงจำกัด 2.กลางเดือนมีนาคม-ต้นเมษายน มีการระบาดในวงกว้าง 3.ช่วงเดือนเมษายน ควบคุมได้ พบผู้ป่วยประปราย และ4.เดือนพฤษภาคม ควบคุมได้เต็มที่ มีผู้ป่วยรายใหม่เป็นหลักหน่วยและบางวันเป็น 0 ราย
        “สถานการณ์โรคโควิด-19ของโลกยังเพิ่มขึ้น ทิศทางยังเป็นทิศทางที่ชันขึ้น จึงมีความสำคัญจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการต่างๆที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารศบค.รับทราบและนำมาตัดสินใจร่วมด้วย ไม่ได้มองแค่สถานการณ์ในประเทศอย่างเดียว แต่ต้องเอาข้อมูลของทั้งโลกมาพิจารณาด้วย”นพ.ทวีศิลป์กล่าว
    นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ในการประชุมศบค.ชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19ในประเทศไทย มีการศึกษา วิจัย พัฒนาอยู่ 6 เทคโนโลยี แยกตามหน่วยงานรับผิดชอบ ประกอบด้วย 1.จุฬาลงกรณ์ ไบโอเนท เอเชีย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)2.จุฬาลงกรณ์ และสวทช. 3. มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์ และสวทช. 4.มหาวิทยาลัยมหิดล(ศิริราช) สวทช. 5.มหาวิทยาลัยมหิดล และ6.สวทช. ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับการพัฒนาวัคซีนทั่วโลก
        นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของเป้าหมาย เพื่อให้คนไทยมีโอกาสได้ใช้วัคซีนในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่นนั้น ได้มีการดำเนินการใน 3 ส่วน ได้แก่ 1.จองซื้อวัคซีนล่วงหน้า 2.การผลิตเองโดยการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศจากบริษัทที่ผลิตวัคซีนสำเร็จบริษัทร่วมทุน ซึ่งจะมีการปรับปรุงโรงงานเพื่อเตรียมการผลิตรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งหมดต้องใช้เวลา คาดว่าจะมีการวัคซีนสำเร็จใน 1 ปี แต่จะได้วัคซีนในจำนวนที่เหมาะสมเบื้องต้น หรือได้วัคซีนที่ผลิตได้เองในเวลาที่ใกล้เคียงกันกับเจ้าของเทคโนโลยีใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 ปี 6 เดือน และ3.การสนับสนุนการวิจัย พัฒนาวัคซีนภายในประเทศ ด้วยการลงทุนสร้างโรงงานเพิ่ม ทนุสนับสนุนการวิจัยที่ยั่งยืน รองรับการระบาดในอนาคต และมีความมั่นคงด้านวัคซีน จะมีโรงงานพร้อมดำเนินงานกำลังการผลิตที่เพียงพอในอีก 3 ปี เพราะฉะนั้น ใช้เวลาอีกนานกว่าที่คนไทยจะมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 จึงจำเป็นที่คนไทยจะต้องอยู่ในวิถีชีวิตแบบใหม่ไปอีกนาน