'ปฏิรูปประเทศ' สอบผ่าน? ประธาน สปท. ฉายภาพ

'ปฏิรูปประเทศ' สอบผ่าน? ประธาน สปท. ฉายภาพ

“บางทีก็ยาก ที่ผู้มีอำนาจจะไปหักคอไปฝืนใจ ให้เขามารับการปฏิรูปของเรา” 

ภาพรวมการปฏิรูปประเทศตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ อดีตประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หนึ่งในแม่น้ำ 5 สายของ คสช. เล่าย้อนเส้นทางการปฏิรูปว่า ต้องยอมรับก่อนหน้าที่ คสช.จะเข้ามาว่า เหตุการณ์ก่อนหน้านั้นมีความขัดแย้งทางการเมือง

กว่า 10 ปี  ความแตกแยกในสังคมมีความรุนแรง การใช้อาวุธสงครามทำร้ายกันจนเกือบถึงขั้นจลาจล ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจ ถือว่าชะงักงัน แต่การเมืองช่วงปี 2557-2562 รัฐบาล คสช.เข้ามาทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย มีการจัดระเบียบต่างๆ จนเกิดความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งแรก ก่อนที่จะมีการแก้ปัญหาสำคัญต่าง ๆ

จากนั้นเมื่อ คสช.เข้ามาก็สามารถทำงานด้านปฏิรูปได้ด้วยตนเอง เช่น การยึดพื้นที่ป่าสงวนจากนายทุน รวมถึงที่ สปก. จำนวน 4.3 แสนไร่ จากนายทุนเพื่อนำไปจัดสรรให้เกษตรกรได้ทำกิน 

ขณะที่ปัญหาหนี้นอกระบบ สามารถยึดที่ดินที่ติดจำนอง และทรัพย์สินจากนายทุนเงินกู้ ที่ถูกยึดไปโดยไม่เป็นธรรม นำมาคืนกลับลูกหนี้ได้

ส่วน การปฏิรูปเศรษฐกิจ ถือว่ารัฐบาล คสช.สามารถฉุดเศรษฐกิจจากจุดต่ำที่สุด ดีดตัวขึ้นมาถึงร้อยละ จนเศรษฐกิจแข็งแกร่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่า ไทยได้รับผลกระทบจากภาวะการเงินโลกที่ผันผวนจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่ก็ถือว่าน้อยกว่าประเทศอื่น 

แต่รัฐก็ยังมีทุนสำรองในการลงทุนโครงการ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเศรษฐกิจ เพื่อรองรับเศรษฐกิจโลกในอนาคต เช่น รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน รถไฟรางคู่ โครงการระเบียงเศรษฐกิจ เป็นต้น 

 

ขณะเดียวกัน ยังมีการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะนโยบายบัตรคนจน การพักชำระหนี้เกษตรกร 

สำหรับ การปฏิรูปด้านกฎหมาย มีการผลักดันกฎหมายที่เป็นกลไกการปฏิรูปประเทศมากถึง 183 ฉบับในช่วง 2 ปีแรก คือ ปี 2557-2559

ทั้งนี้ ปี 2560 รัฐบาล คสช.ได้จัดสรรงบประมาณไว้สำหรับโครงการปฏิรูปถึง 57 โครงการจากที่ สปท.เสนอไป 89 โครงการ ซึ่งเรื่องนี้มีเอกสารหลักฐานอย่างชัดเจน 

ต่อมาปี 2561-2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านกฎหมาย 139 ฉบับ

ดังนั้น การปฏิรูปกฎหมาย จึงมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ การบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการป้องกันปราบปรามการค้า เป็นต้น 

ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ถือเป็นกฎหมายตามสนธิสัญญาและพันธะผูกพันระหว่างประเทศ ซึ่งเราถูกหมายหัวไว้ ถ้าไม่มี เรื่องการค้าต่างประเทศมีปัญหาแน่นอน

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายภาษีมรดก และภาษีที่ดินซึ่งไม่เคยมีรัฐบาลใดทำได้มาก่อน เมื่อพูดอย่างนี้ จึงมั่นใจว่าเขาก็ตั้งใจทำ

“อันที่จริงทั้ง สปช. และ สปท.ก็ได้อาศัยคณะทำงานที่ชื่อว่า คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปคืนความสุขให้คนในชาติ ซึ่งมีการออกเอกสารกำหนดกรอบปฏิรูปไว้ 11 ด้าน ตีพิมพ์โดยสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นหลัก”

นอกจากนี้ ในการปฏิรูปกฎหมาย ตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด แต่สิ่งสำคัญ คือการปฏิรูปทุกอย่างต้องใช้เงิน เมื่อเงินมีจำกัด นายกฯจึงได้กำชับทั้ง สปช.และ สปท.ว่า การที่จะเสนองบประมาณอะไร ขอให้เสนอด้วยว่า จะเอางบประมาณมาจากที่ไหน

ดังนั้น การปฏิรูปเราต้องเข้าใจด้วยว่า 

1.ถ้าเราเป็นผู้ทำเอง เราจะเอาเงินจากไหนมาทำ 

2.ต้องเข้าใจด้วยว่า การปฏิรูปเป็นเรื่องยาก เนื่องจากหน่วยราชการเขาจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุที่ว่า เขามีผลประโยชน์เคลือบแฝงอยู่ในระบบเดิม ที่เป็นอยู่

ยกตัวอย่าง กฎหมายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ฯ ที่มีหน่วยงานเห็นชอบถึง 90 หน่วยงานเหลือเพียง 30 หน่วยงาน ที่ไม่เห็นชอบ เขาก็ไม่กล้าทำ

บางทีก็ยาก ที่ผู้มีอำนาจจะไปหักคอ ไปฝืนใจให้เขามารับการปฏิรูปของเรา ดังนั้นหากจะให้ประเมินการปฏิรูป 6 ปีที่ผ่านมา ถือว่าสอบผ่านและได้คะแนนมากพอสมควร"  

อดีตประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ วัดผล

ส่วนปี 2563 ก็ต้องยอมรับว่า มีปัญหาต่าง ๆ ทั้งการตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวก่อน 

ถัดมาในเรื่อง การปฏิรูปการเมือง ส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องที่ยากที่สุดมากกว่าทุกๆ เรื่อง เมื่อครั้งที่ตนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องวัฒนธรรมทางการเมืองและการเรียนรู้ทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาไทย ชี้ให้เห็นว่า การปฏิรูปการเมืองที่สำคัญที่สุดมันอยู่ที่ความคิด จิตใจ ความเชื่อ ค่านิยมและทัศนคติของคนในสังคม

เพลโต เคยกล่าวไว้ว่า อยากให้สังคมเป็นอย่างไร ก็ปลูกฝังให้สังคมคิดอ่านแบบนั้น” 

แต่ปรากฏว่า การปฏิรูปการเมืองในสังคมไทย กลับยากมาก การปฏิรูปประเทศไทยหลาย 10 ปีที่ผ่านมา เราไปลอกตำราจากต่างประเทศมาทั้งหมด มันได้แต่รูป แต่เนื้อในเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ลักษณะประชาชน และระบบเศรษฐกิจและสังคมแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน

ดังนั้น การปฏิรูปต้องอยู่ที่บริบทของประเทศ ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้!