ฉากอำนาจ คสช. แรงต้าน 6 ปีรัฐประหาร

ฉากอำนาจ คสช. แรงต้าน 6 ปีรัฐประหาร

เป็นเวลาครบรอบ 6 ปี จากสถานการณ์จุดหักเหบ้านเมืองครั้งสำคัญ เมื่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 เวลา 16.30 น. เข้าสยบความขัดแย้งผ่านอำนาจรัฐประหารในวิกฤติการณ์ทางการเมืองไทย

เหตุการณ์ยึดอำนาจเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา บันทึกไว้เป็นการ “รัฐประหาร” ครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย ท่ามกลางแรงสนับสนุนและแรงต่อต้าน บนความแตกแยกเป็น 2 ฝ่ายตั้งแต่ปี 2557 จนถึงการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 

มาถึงวันนี้ ยังไม่มีสัญญาณใดชี้วัดทางออกให้บ้านเมือง จากจุดเดือดความขัดแย้งที่รอวันปะทุ

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สะท้อนภาพความเป็นไปของบ้านเมืองตลอด 6 ปี ตั้งแต่อำนาจ คสช.ในวงรอบเปลี่ยนผ่านประเทศถึงยุครัฐบาล “ประยุทธ์ 2”

เริ่มต้น รศ.ดร.ยุทธพร วิเคราะห์ 6 ปี คสช.ยึดอำนาจ ต้องย้อนกลับไปดูถึงการเข้ามา คสช.มีเป้าหมาย หรือเป้าประสงค์อย่างไร โดยพบว่า การเข้ามาของ คสช.มาจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งในคำแถลงของการรัฐประหารในครั้งนั้น ได้ถูกพูดถึงการเข้ามาแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง และเข้ามาเพื่อให้การเมืองได้รับการปฏิรูป 

แต่เมื่อย้อนกลับไปดูถึงเรื่องการเมืองที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงวันนี้ผ่านมา 6 ปีแล้ว การปฏิรูปเรื่องต่างๆ ที่มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูป การกำหนดแผนปฏิรูป มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ต้องบอกว่ายังไม่ได้เห็นภาพที่ชัดเจนสำหรับองค์กรเหล่านี้ที่เกิดขึ้น

ฉากอำนาจ คสช. แรงต้าน 6 ปีรัฐประหาร

การเข้ามาของ คสช.ในรอบ 6 ปี แทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 เห็นได้ว่าการเมืองไทยยังวนเวียนอยู่ในมิติแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นการอาศัยกลุ่มทางการเมือง อาศัยตระกูลทางการเมืองท้องถิ่น หรือกระบวนการที่ต้องอาศัยนักการเมืองหน้าเดิมๆ เพื่อสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในพื้นที่ หรือเรียกว่าการเมืองในระบบเจ้าพ่อ สิ่งเหล่านี้ยังวนเวียนอยู่ ยังมีเรื่องของโควตารัฐมนตรี หรือเรื่องการต่อรองทางการเมือง ทั้งหมดเป็นการเมืองในมิติเดิมที่แทบจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย หลังจากการรัฐประหารที่ผ่านมาตลอด 6 ปี

ส่วนการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ที่เป็นไปตามที่ คสช.เคยประกาศไว้ รศ.ดร.ยุทธพร มองว่า เรื่องการปฏิรูปที่พอยังเห็นผลมากที่สุด จะเป็นการปฏิรูปด้านสังคมในบางส่วนเท่านั้น ที่มีการแก้ปัญหาการจัดระเบียบรถตู้ หรือจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะเมื่อหมดการใช้อำนาจเข้มข้นในยุค คสช.สิ่งเหล่านี้ก็เลือนหายไป ทุกอย่างก็กลับมาสู่วงจรเดิมที่ไม่เห็นอะไรเปลี่ยนแปลง 

จนท้ายที่สุดการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เข้ามา กลับไม่ได้รับการแก้ไขในเชิงโครงสร้างของประเทศ อย่างเช่นปัญหาโควิด-19 ที่เข้ามา ทำให้เป็นภาพที่เห็นว่าเราแทบไม่เห็นอะไรที่เป็นมรรคผลจากการปฏิรูป

ส่วนแรงต่อต้าน คสช.ตั้งแต่การยึดอำนาจ 22 พ.ค.2557 จนมาถึงการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 “รศ.ดร.ยุทธพร” วิเคราะห์ให้เห็นว่า แรงต้านตรงนี้ไม่ได้เกิดจากกระบวนการต่อต้านเฉพาะ คสช.เท่านั้น เพราะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ได้สะท้อนให้เห็นว่า ในเชิงอุดมการณ์ความคิดของคนในสังคมยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน 

โดยส่วนแรกอยู่ในอุดมการณ์ความคิดแบบ “อนุรักษ์นิยม” อีกส่วนเป็นอุดมการณ์ความคิดแบบ “ก้าวหน้า” ทำให้คนในสังคมยังคงมีการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ ถึงแม้การเลือกตั้งจะผ่านไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นประชาธิปไตยที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบควบคุมกำกับ หรือ Limited Democracy

ในกลไกรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ทำให้หลายส่วนมีการกำกับควบคุมการคืนอำนาจให้กับประชาชนไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 250 ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลที่มาจากการสรรหาของ คสช. ทำให้ส.ว.เหล่านี้ สามารถกำกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง หรือบทบาทขององค์กรอิสระในการควบคุมนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ ทำให้พบแรงต่อต้านเกิดขึ้น ถึงแม้จะมีการบอกว่าจัดการเลือกตั้งแล้ว แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และไม่ได้รับการยอมรับ ทั้งในแง่ของที่มากระบวนการจัดการเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้ง

ถามถึงแรงเสียดทานทางการเมือง และอนาคตของรัฐบาลชุดนี้ในฉากทัศน์ข้างหน้า รศ.ดร.ยุทธพร มองไปที่แรงเสียดทานทางการเมือง 2 ส่วน ที่ต้องพิจารณา 

1.การเมืองในสภา 2.การเมืองนอกสภา โดยการเมืองในสภาฯ คงไม่เป็นปัญหาที่น่ากังวลสำหรับรัฐบาล เพราะจากปัญหาเสียงปริ่มน้ำ ในเวลานี้ไม่มีแล้ว ดังนั้นรัฐบาลจะมีเสียงสนับสนุนจากฝั่งรัฐบาลด้วยกันจะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัญหาความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล หรือปัญหาการต่อรองภายในพรรคพลังประชารัฐ เป็นสิ่งที่น่ากังวลมากกว่า

“วันนี้ฝ่ายค้านคงไม่สามารถทำอะไรได้มากในเชิงคณิตศาสตร์ทางการเมือง เพราะเสียงปริ่มน้ำไม่มีแล้ว ส่วนการต่อรองภายในพรรคร่วมรัฐบาลจะเกิดขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากสมดุลทางการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลได้เปลี่ยนไป จากปรากฏการณ์ ”ผึ้งแตกรัง“ โดยมี 9 ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ ย้ายไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย ทำให้สถานะเสียง ส.ส.พรรคภูมิใจไทยขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 ของพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้การต่อรองมีสูงมากขึ้น เราจะได้เห็นการดิสเครดิตกันไปมาระหว่างพรรคการเมืองขนาดกลาง จากภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์”

รศ.ดร.ยุทธพร ยังวิเคราะห์ไปถึงเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาหลังจากนี้ โดยเฉพาะ แฟลชม็อบ” จากขบวนการนิสิตนักศึกษา จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาว่า รัฐบาลจะรับมือถือเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ เพราะแฟลชม็อบวันนี้ยังไม่ได้หายไปไหน แต่ด้วยข้อจำกัดทาง พรก.ฉุกเฉินปี 2548 หรือการปิดสถานศึกษาต่างๆ ทำให้แฟลชม็อบยุติการเคลื่อนไหว 

แต่หลังจากนี้ไป คงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินปี 2548 หรือปิดสถานศึกษาต่อเนื่องไป ดังนั้นการเผชิญการเมืองนอกสภาของรัฐบาลจากนี้ จะเป็นประเด็นท้าทายที่มีมากกว่าการเมืองในสภาด้วยซ้ำ