'คุมระบาด-ฟื้นเศรษฐกิจ' ภารกิจคู่ขนานของรัฐบาล

'คุมระบาด-ฟื้นเศรษฐกิจ' ภารกิจคู่ขนานของรัฐบาล

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรเร่งคลอดแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการที่กระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และควรใส่เงินลงไปในโครงการที่เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจมากที่สุด

เป็นเรื่องน่ายินดีที่หลังจากประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้เห็นถึงความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะโครงการสำคัญ คือ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมืองเพื่อให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค

ถึงแม้จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน แต่มีความจำเป็นที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการลงทุน เพราะถือว่าเป็นโครงการการลงทุนที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย โดยถ้าประเทศไทยเกิดการลงทุนที่ต่อเนื่อง จะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมเมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว และประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในทันทีที่ตลาดกลับมาฟื้นตัว เพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสำเร็จและเปิดใช้งานได้

การระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียง 3 คน รวมแล้วมีผู้ป่วยสะสม 3,037 คน โดยไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 56 คน หายดีแล้ว 2,897 คน และอยู่ระหว่างการรักษาตัวภายในโรงพยาบาล 84 คน เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศแล้ว ถือว่าประเทศไทยควบคุมสถานการณ์ได้ค่อนข้างดี รวมทั้งเป็นเรื่องที่ดีเมื่อหลายฝ่ายช่วยกันเตือนและเฝ้าระวังถึงการระบาดรอบที่ 2

ที่ผ่านมาหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ดีขึ้น ทำให้มีการผ่อนปรนการเปิดกิจการ ซึ่งหลังจากนั้นหากรัฐบาลมีความมั่นใจในสถานการณ์การระบาดแล้ว ควรที่จะพิจารณาเปิดให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนอื่นเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวไปมากกว่านี้ โดยภาครัฐควรสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีส่วนสำคัญต่อปากท้องของประชาชน

นอกจากการจ่ายเงินเยียวยาประชาชน เกษตรกรและกลุ่มเปราะบางต่างๆ แล้ว ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรเร่งคลอดแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการที่กระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และควรที่จะใส่เงินลงไปในโครงการที่เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจมากที่สุด เพราะการที่รัฐบาลกู้เงินมาถึง 1 ล้านล้านบาท ย่อมมีผลต่อการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในอนาคต เพราะอาจทำให้ภาครัฐมีข้อจำกัดในการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต