สกพอ.ยืนยัน MRO อู่ตะเภาไม่สะดุดแม้ 'การบินไทย' เข้าแผนฟื้นฟู

สกพอ.ยืนยัน MRO อู่ตะเภาไม่สะดุดแม้ 'การบินไทย' เข้าแผนฟื้นฟู

"คณิศ" มั่นใจศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาไม่สะดุด แม้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ เผย 4-5 บริษัท สนใจเสียบแทนแอร์บัส

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้เห็นชอบในร่างสัญญาการลงทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

ร่างสัญญาฉบับนี้ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะนำร่างสัญญาให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเร็ว เมื่อ ครม.เห็นชอบแล้ว 

ทั้งนี้ คาดว่าภายในต้นเดือน มิ.ย.จะมีการเซ็นสัญญาระหว่างกองทัพเรือในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการกับ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ที่ประกอบไปด้วยบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 

โดยมี Narita International Airport Corporation เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบินส่วนการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกในรัศมีรอบสนามบินอู่ตะเภา 30 กิโลเมตรก็จะแล้วเสร็จภายในปี 2566 พร้อมกับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเช่นกัน

สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ซึ่งอยู่ในโครงการอีอีซีซึ่งมีการตั้งคำถามว่าจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ภายหลังที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งโครงการนี้อาจได้รับผลกระทบหลังจากที่บริษัท แอร์บัส ประเทศฝรั่งเศส ถอนตัวไม่เข้ามาร่วมทุน และการที่การบินไทยจะต้องเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ 

โดยในประเด็นนี้นายคณิศได้ชี้แจงว่าโครงการ MRO ยังเป็นโครงการที่ต้องเดินหน้าต่อไปเพราะเป็นโครงการสำคัญในสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งหากมีการขอความเห็นจากผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยมายัง สกพอ.จะให้ความเห็นว่าเป็นโครงการที่การบินไทยต้องดำเนินการเนื่องจากเป็นโครงการที่ทำกำไรได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูได้ 

ส่วนกรณีบริษัทแอร์บัสไม่เข้ามาร่วมลงทุนก็ไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวล เพราะขณะนี้มีบริษัทชั้นนำของโลกที่ความเชี่ยวชาญด้านการซ่อมแซมเครื่องบินประมาณ 4 - 5 บริษัทที่ติดต่อเข้ามาขอร่วมลงทุนกับการบินไทยในโครงการนี้

โดย สกพอ.จะเดินหน้าหาบริษัทร่วมลงทุนในโครงการนี้รายใหม่ให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภายังมีพื้นที่อีก 300 ไร่ ที่กันไว้ให้มีการลงทุน MRO ของภาคเอกชนรายอื่นๆที่ไม่ได้ร่วมทุนกับการบินไทยเพื่อส่งเสริมให้มีกิจกรรมซ่อมบำรุงเครื่องบินในสนามบินอู่ตะเภาได้ตามแผนที่วางไว้ 

“มีการตั้งคำถามเหมือนกันว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะกระทบกับการพัฒนาโครงการนี้หรือไม่ ได้มีการประเมินแล้วว่าการขนส่งสินค้าจะกลับมาเป็นปกติภายในปีครึ่ง ส่วนการขนส่งคนจะกลับมาภายใน 2 ปี แต่กำหนดแล้วเสร็จและเริ่มเปิดดำเนินการของสนามบินคือปี 2566 ดังนั้นแม้จะมีโควิด-19 ในเวลานี้ แต่ก็จะไม่กระทบโครงการที่จะเปิดในอนาคต” นายคณิศ กล่าว

พล.ร.ต.เกริกไชย วจนานนท์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาไม่มีปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ 6,500 ไร่ให้กับภาคเอกชนดำเนินการก่อสร้างเนื่องจากเป็นพื้นที่ในการดูแลของกองทัพเรือจะสามารถทำเรื่องส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนได้ภายในปีหน้าและไม่ทำให้โครงการล่าช้า 

ส่วนโครงการก่อสร้างรันเวย์แห่งที่ 2 สนามบินอู่ตะเภาอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดและจัดทำการประเมินผลกระทบจากสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA)ก่อนที่จะนำเสนอต่อ ครม.เห็นชอบต่อไป