'อีพีจี' ผุดธุรกิจใหม่สู้โควิด ทุ่มผลิตหน้ากากขายทั่วโลก

'อีพีจี' ผุดธุรกิจใหม่สู้โควิด ทุ่มผลิตหน้ากากขายทั่วโลก

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ทำให้มีความต้องการใช้ "หน้ากากอนามัย" เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตได้ทัน ส่งผลให้ราคาในท้องตลาดเพิ่มขึ้นร้อนแรง โดยขยับขึ้นจากราคากล่องละไม่ถึง 100 บาท เป็น 700-1,000 บาท

วิกฤติดังกล่าวทำให้ บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG) ตัดสินใจผลิตหน้ากากที่ทำจากพลาสติก Polypropylene เพื่อใช้ในโรงงานและขายเชิงพาณิชย์ ช่วยให้ประชาชนมีหน้ากากใช้ในราคาที่เหมาะสม เพราะบริษัทมีจุดแข็งเรื่องนวัตกรรม ความพร้อมวัตถุดิบ เครื่องจักร ซึ่งปัจจุบันประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโพลีเมอร์และพลาสติก โดยมี 3 หน่วยธุรกิจ คือ ผลิตและจำหน่ายฉนวนยางกันความร้อนและความเย็น, ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ชิ้นส่วนตกแต่งรถยนต์ และธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์

‘ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์’ ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG)  ระบุ ตอนแรกที่เราคิดผลิตหน้ากากเพื่อให้พนักงานของเราใช้ เพราะโควิด-19 ระบาดทำให้หาซื้อหน้ากากอนามัยยากมาก แต่บริษัทไม่สามารถที่จะผลิตหน้ากากอนามัยได้เพราะไม่มีวัตถุดิบผ้าและเครื่องจักร จึงคิดนำวัตถุดิบ และเครืองจักรที่เรามีมาผลิต ประกอบกับบริษัทมีจุดแข็งด้านนวัตกรรม และการวิจัยและพัฒนา ทำให้ใช้เวลาเพียงประมาณ 1เดือนสามารถผลิตเริ่มผลิตจากวันประชุมแผนงานต้นเดือน มี.ค. โดยล็อตแรกหน้ากากพลาสติกอเนกประสงค์ EP-Kare จำนวน 3 แสนชิ้น เมื่อวันที่ 10 เม.ย. เพื่อให้พนักงานของบริษัทใช้ และบริจาคให้หน่วยงานต่างๆ

แต่ในช่วงนั้นเริ่มมีหน้ากากอนามัยปลอมมากขึ้น ทำให้บริษัทคิดจะผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้หน้ากากที่มีคุณภาพ ในราคาเหมาะสม เพราะหน้ากากอเนกประสงค์ของบริษัทนั้น มีข้อดี นอกจากป้องกันไวรัสที่มากับอากาศได้แล้ว ยังสามารถใช้ซ้ำได้ โดย 1 ชิ้น ใช้ได้ถึง 80 ครั้ง เพียงทำความสะอาดด้วยการเช็ดล้างและแผ่นกรองผลิตจากผ้าชั้นแรกใช้ผ้าสปันบอน ส่วนชั้นที่ 2 และ 3 ใช้ผ้าจากเยื่อไผ่ ซึ่งสามารถซักและนำมาใช้ใหม่ได้ 20 ครั้ง ซึ่งเป็นการช่วยลดขยะหน้ากากอนามัยได้ถึง 20 เท่า เพราะปัจจุบันมีขยะหน้ากากอนามัยวันละ 20 ล้านชิ้น

บริษัทเริ่มขายหน้ากากบน Shopee ราคา 3 ชิ้น 100 บาท เพื่อทดลองตลาด และต้องการข้อมูลเพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งรุ่นแรกที่บริษัทผลิตนั้นได้คะแนนจากผู้ซื้อรีวิว 4.7 ดาว ถือว่าดีมาก ซึ่งขณะนี้พัฒนาอยู่ที่รุ่นที่ 3 แล้ว และมีแผนพัฒนารุ่นที่ 4 ถึงระดับ N95 เพื่อให้แพทย์ใช้ โดยบริษัทจะมีการสร้างห้องแล็บขึ้นมาทดสอบคุณภาพ

ประธานคณะกรรมการบริหาร กล่าวต่อว่า ในเดือนก.ย.จะเริ่มขายเชิงพาณิชย์หน้ากากพลาสติกอเนกประสงค์ และมีแผนจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก พร้อมตั้งเป้าเป็นผู้ผลิตหน้ากากที่ดีที่สุดในโลกทั้งด้านคุณภาพและราคา ในช่วงแรกส่งไปประเทศที่มีประชากรสูงและมีความต้องการ เช่น อเมริกา อินเดีย ออสเตรเลีย ฯลฯ โดยการลงทุนเฟสแรกใช้เงินประมาณ 30 ล้านบาท และบริษัทมีแผนลงทุนผลิตแผ่นกรองเอง และซื้อธุรกิจที่เกี่ยวการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมจะใช้เงินอีกประมาณ 50-100ล้านบาท

หากการพัฒนาหน้ากากเป็นไปเป้าหมาย ในปี 2564 บริษัทจะมีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ EP Kare เป็นธุรกิจที่ 4 ของบริษัท โดยตั้งบริษัทย่อย ขึ้น เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ด้านการแพทย์ ประกอบด้วย หน้ากากพลาสติกอเนกประสงค์ , face shield ซึ่งปัจจุบันบริษัทผลิตมากสุดในประเทศไทย และส่งออกไปจำหน่ายที่ญี่ปุ่น อเมริกา ออสเตรเลีย และมีแผนส่งไปจำหน่ายในตะวันออกกลาง , พลาสติกฉากกั้นรวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆฯลฯ

แม้การแพร่ระบาดโควิด-19 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่เชื่อว่าความต้องการหน้ากากยังมีอยู่ เนื่องจากทุกคนในโลกจะยังคงระมัดระวัง เพราะไม่รู้ว่าโควิด-19จะกลับมาระบาดอีกเมื่อไหร่  วัคซีนป้องกันยังผลิตไม่สำเร็จ และหากสหรัฐจะผลิตวัคซีนออกมาได้ แต่มีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอกับประชากรของโลกที่มีจำนวนมาก อย่างไรก็ตามแม้การแพร่ระบาดโควิด-19 จะจบลง โลกของเราก็ยังมีปัญหาเรื่องมลภาวะฝุ่นPM 2.5 ทำให้ความต้องการใช้หน้ากากยังมีอยู่

สำหรับปัจจุบันสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทถือว่าดีมาก เพราะบริษัทเตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่เดือน ก.พ.2563 ซึ่งปัจจุบันมีกระแสเงินสดอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง และธุรกิจของบริษัทสร้างกระแสเงินสดที่ดีทั้ง 3 ธุรกิจ แม้ธุรกิจผลิตจำน่ายอุปกรณ์ชิ้นส่วนตกแต่งรถยนต์จะได้รับผลกระทบทำให้ยอดขายลดลง แต่ได้ปรับตัวในการผลิตทุนโซลาร์ลอยน้ำ ฉากกั้นพลาสติก,face shield ,ห้องผุ่นฆ่าเชื้อ