โบรกชี้ต่ออายุเกณฑ์ 'ซิลลิ่ง-ฟลอร์' ลดโอกาส 'ทำกำไร' ของนักลงทุน

โบรกชี้ต่ออายุเกณฑ์ 'ซิลลิ่ง-ฟลอร์' ลดโอกาส 'ทำกำไร' ของนักลงทุน

ตลท.มองตลาดหุ้นยังผันผวน เตรียมต่ออายุเกณฑ์ซื้อขายหุ้นที่ปรับปรุงใหม่อีก 3 เดือน ถึงสิ้นก.ย.นี้ ด้าน“บล.เคจีไอ”ชี้ขยายเกณฑ์ “ซิลลิ่ง-ฟลอร์” กระทบวอลุ่มซื้อขาย และลดโอกาสทำกำไรของนักลงทุน ส่วน“เมย์แบงก์กิมเอ็ง”ชงใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลใหม่ถาวร

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งว่า  ตลาดหลักทรัพย์ เห็นควรให้ขยายระยะเวลาปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับเป็นการชั่วคราว ทั้งราคาเสนอขายชอร์ต หรือ ชอร์ตเซล  ,ราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (ซิลลิ่ง-ฟลอร์)  และเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงราคาซื้อขายสูงสุดในแต่ละวัน ของตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ออกไปไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.2563 จากเดิมจะสิ้นสุดไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย.2563  เนื่องจากความผันผวนของตลาดหุ้นในปัจจุบัน ยังสูงกว่าช่วงต้นปี2563 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งสถานการณ์โควิด-19  ยังมีอยู่ ขณะที่ภาวะศรษฐกิจโดยรวมยังผันผวน โดยอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง 

นายสมชาย กาญจนเพชรรัตน์ กรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจหลักทรัพย์บุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย)  กล่าวว่า  การขยายเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์นั้น  ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย  ข้อดีอาจช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดได้ แต่ส่วนหนึ่งก็ทำให้นักลงทุนที่ชอบเล่นชอร์ตทำได้ลำบากขึ้น  ทำให้มีนักลงทุนบางกลุ่มได้เปรียบ และบางกลุ่มเสียเปรียบ เพราะคนที่ยืมหุ้นนั้นสามารถขายชอร์ตได้ จึงทำให้นักลงทุนสถาบันได้เปรียบกว่านักลงทุนรายย่อย เพราะยืมหุ้นมาชอร์ตมาได้ง่ายกว่า ขณะที่นักลงทุนรายย่อยต้องทำผ่าน Single Stock Futures หรือทำผ่านใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW)

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ยอดธุรกรรมขายชอร์ตลดลงอย่างชัดเจน แม้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ตลาดยังอยู่ในภาวะขาขึ้น แต่ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขณะที่หลักเกณฑ์ ซิลลิ่ง-ฟลอร์ที่ลดระดับลง ยังส่งผลให้จังหวะการทำกำไรของนักลงทุนน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งกระทบต่อปริมาณการซื้อขายของลูกค้าและวอลุ่มของโบรกเกอร์ลดลงด้วย

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)   กล่าวว่า  ตลาดหลักทรัพย์ ควรพิจารณานำมาตรการชอร์ตเซล ที่กำหนดให้สมาชิกเสนอขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายนั้น เป็นมาตรการถาวรเลย เพราะมาตรการนี้ช่วยให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาแข็งแกร่ง

 สะท้อนได้จากหลังมีมาตรการนี้ เห็นภาพชัดเจนว่านักลงทุนไม่ได้อยู่ในความหวาดกลัวและไม่ถูกเอาเปรียบจากนักลงทุนบางกลุ่มเล็กๆที่อาศัยช่องทางดังกล่าวกดดันราคาหุ้นและทำกำไรบนความเสียหายของนักลงทุนคนอื่นๆ  ส่วนของมาตรการซิลลิ่ง-ฟลอร์นั้น เชื่อว่ามีผลไม่มากนัก จึงคิดว่าตลาดหลักทรัพย์จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนมาตรการดังกล่าวก็ได้