'เซลส์ฟอร์ซ' เปิด '4 สมมุติฐาน' จาก 'วิกฤติ' ที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม

'เซลส์ฟอร์ซ' เปิด '4 สมมุติฐาน' จาก 'วิกฤติ' ที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม

ความเหลือมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น

วิกฤติไวรัสที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอน คาดเดาผลลัพธ์ยาก ไม่อาจฟันธงได้ว่าการทำงานของภาคเอกชน ภาครัฐ รวมถึงองค์กรสาธารณสุขทั่วโลกเพื่อยุติการแพร่ระบาดในแต่ละประเทศ จะสอดคล้องสัมฤทธิผล หรือแตกแยกจนเกิดปัญหาที่ใหญ่มากขึ้น

ปีเตอร์ ชวาร์ตซ์ รองประธานอาวุโสด้านการวางแผนเชิงกลยุทธ์ เซลส์ฟอร์ซ ยักษ์ซอฟต์แวร์บนระบบคลาวด์รายใหญ่ของโลก กล่าวว่า เซลส์ฟอร์ซ ร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญจากดีลอยท์ (Deloitte) ตั้งสมมุติฐาน 4 สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการแพร่ระบาด เพื่อให้องค์กรสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

โดยสถานการณ์ต่างๆ ที่ถูกหยิบยกมานี้เป็นการคาดการณ์ถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นนับตั้งแต่ปัจจุบันไปถึง 3-5 ปีข้างหน้า โดยใช้ตัวแปรจากความไม่แน่นอน (critical uncertainties) 2 ปัจจัยคือ ความรุนแรงของการระบาด และความร่วมมือกันของแต่ละภาคส่วนในแต่ละประเทศ

สถานการณ์ต่างๆ ที่ตั้งขึ้นยังกล่าวถึงผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์ อันเนื่องมาจากประสิทธิภาพการรับมือกับปัญหาของหน่วยงานด้านสาธารณสุขและสุขภาพ ความสมานฉันท์ของคนในสังคม และผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ฟ้าหลังฝน-กิจการเพื่อสังคม

สำหรับ 4 สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.ฟ้าหลังฝน (the passing storm) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่รัฐบาลทั่วโลกต่างร่วมมือกันอย่างขันแข็งเพื่อสร้างแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขต่างปฏิบัติงานเพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่ได้อย่างทันท่วงที

อีกทั้งผู้คนในสังคมต่างร่วมมือกันปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด อาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่ทุกภาคส่วนทั่วโลกร่วมมือกันเป็นอย่างดี จนสามารถก้าวผ่านวิกฤตไปได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชาชนกลับมาให้ความเชื่อถือต่อการทำงานของภาครัฐอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ดูดีก็ยังมีผลเสีย กล่าวคือความเหลือมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นเนื่องจากธุรกิจขนาดเล็ก หรือผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ที่ทำงานประเภทหาเช้ากินค่ำได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเป็นอย่างหนักทำให้กลับมาฟื้นตัวได้ยาก

159006407296

2.ธุรกิจเพื่อสังคม (good company) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถแก้ปัญหาโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่งผลให้ธุรกิจเอกชนรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหา

ธุรกิจเหล่านี้ยังมีการปรับวิสัยทัศน์ใหม่โดยเน้นให้ความช่วยเหลือลูกค้า พนักงาน คนในชุมชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจเพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤตและสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ธุรกิจยังมีการทำงานร่วมกันกับภาครัฐโดยนำเทคโนโลยีจากต่างสายงานมาใช้แก้ปัญหาเพื่อส่วนรวม อาทิ การใช้งานซอฟต์แวร์ และเครื่องมือต่างๆ การแชร์ความรู้และประสบการณ์ของบุคคลกรด้านสุขภาพของภาคเอกชนเพื่อหาทางแก้ปัญหา การเสริมสร้างการรับรู้ของสาธารณะที่ถูกต้องผ่านสื่อ ช่องทางโซเชียลมีเดียและช่องทางการสื่อสารของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก

ยุคทองของภูมิภาคเอเชีย

ขณะที่ 3.ยุคทองของเอเชียตะวันออก” (sunrise in the east) กล่าวคือเป็นสถานการณ์ที่ประเทศในฝั่งตะวันตกรับมือและแก้ไขปัญหาโรคระบาดได้ล่าช้าและไม่เฉียบขาดเหมือนฝั่งตะวันออก ส่งผลให้ศูนย์กลางอำนาจของโลกเปลี่ยนไปอยู่ในประเทศฝั่งตะวันออกอย่า จีน และประเทศในเอเชียตะวันออก

ทั้งนี้ ความเฉียบขาดในการบริหารจัดการของภาครัฐเกิดผลดี ทำให้ประเทศในฝั่งตะวันออกขึ้นเป็นผู้นำการประสานงานระดับโลกทั้งด้านสาธารณะสุขและทางธุรกิจ นานาประเทศมีการย้ายฐานการลงทุนมาสู่โลกทางฝั่งเอเชียตะวันออกเพื่อหลีกหนีภาวะวิกฤติ

โดยวิธีการใช้อำนาจที่เด็ดขาดของรัฐบาลกลายเป็นมาตรฐานที่ผู้คนทั่วโลกต่างยอมรับ ผู้คนในสังคมต่างเรียนรู้ที่จะยอมรับกฎระเบียบที่เคร่งครัดว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความก้าวหน้าในสังคม

สุดท้าย 4.ตัวใครตัวมัน (lone wolves) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด โดยสถานการณ์จะเป็นในลักษณะที่ ไวรัสได้มีการกลายพันธุ์ทำให้การแพร่เชื้อยาวนานขึ้นกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้น เกิดภาวะความไม่สงบในสังคม

รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจมีภาวะล้มเหลว ผู้คนในสังคมมีความตื่นตระหนก หวาดระแวง แต่ละประเทศแยกตัวเด็ดขาดออกจากกัน รัฐบาลมีการใช้มาตรการกักตัวและการรักษาความปลอดภัยต่างๆ ที่เข้มงวด เทคโนโลยีใหม่ๆ ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมโรค ทุกประเทศออกกฎเพิ่มมาตรการควบคุมบุคคลต่างสัญชาติ และการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด

สถานการณ์เหล่านี้แม้เป็นเพียงการคาดการณ์ แต่ผู้นำทางธุรกิจทั้งหลายควรให้ความสำคัญ และตั้งคำถาม เช่น การเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ที่คาดการณ์ไว้นั้นถี่ถ้วนดีหรือไม่ มีเรื่องใดต้องนำมาคิดซ้ำ, พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลง แตกต่างไปอย่างไรจากแต่ละสถานการณ์

นอกจากนี้ มีปัจจัยคุกคามใดที่ส่งผลต่อธุรกิจมากที่สุดหากสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งนี้เกิดขึ้น, โมเดลธุรกิจแบบไหนที่มีแนวโน้มว่าจะขึ้นมาตีตลาดได้มากที่สุด

จากสถานการณ์เหล่านี้ ความสามารถ ความสัมพันธ์ หรือทุนทรัพย์ใด ที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญมากที่สุด ผู้นำทางธุรกิจที่สามารถตีโจทย์ และตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างกระจ่างชัดจะสามารถนำธุรกิจสู่การปรับตัวให้พร้อมต่อสู้กับสถานการณ์ต่างๆ ส่งผลให้องค์กรสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ว่าวิกฤติในครั้งนี้จะออกผลลัพธ์มาในแบบใด