'ประภัตร' เคาะทำนาปี 59 ล้านไร่ 24 ล้านตันรับฝนดี

'ประภัตร' เคาะทำนาปี 59 ล้านไร่ 24 ล้านตันรับฝนดี

คณะอนุฯ นบข. ด้านการผลิต เห็นชอบพื้นที่ปลูกข้าว 2563/64 นาปี 59.884 ล้านไร่ 24 ล้านตันข้าวเปลือก ขณะกรมชลฯระบุฝนดีกว่าปีก่อน เกิดนิวนอมอลต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 %

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต (อนุกบข. ว่า จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 1 พ.ค. 2563 จากร่างแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 (พ.ย. 2563 – เม.ย. 2564) ที่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็น 59% ของปริมาณน้ำต้นทุน

ที่ประชุมจึงได้มีมติเห็นชอบพื้นที่เป้าหมายการส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 (นาปี) พื้นที่ปลูก 59.884 ล้านไร่ แบ่งเป็น

1.ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ปริมาณ 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก

2.ข้าวหอมไทย (ข้าวปทุมธานี 1) 2.084 ล้านไร่ ปริมาณ 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก

3.ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ปริมาณ 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก

4.ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ปริมาณ 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5. ข้าวตลาดเฉพาะ 5.59 แสนไร่ ปริมาณ 2.19 แสนตันข้าวเปลือก ซึ่งจะทำให้มีข้าวเปลือกทุกชนิดพันธุ์รวมประมาณ 24.657 ล้านตัน โดยเมื่อเป็นข้าวสารแล้วจะได้ประมาณ 16.03 ล้านตัน

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำข้อมูลการขึ้นทะเบียนปี 2562/63 รอบที่ 1 รายกลุ่มสินค้าข้าว 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. ข้าวหอมมะลิ 2. ข้าวหอมไทย 3. ข้าวเจ้า (ข้าวเจ้าพื้นนุ่ม และข้าวเจ้าพื้นแข็ง) 4. ข้าวเหนียว และ 5. ข้าวตลาดเฉพาะ แยกเป็นรายภาค รายชนิดข้าว (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พ.ค. 2563) รวมทั้งสิ้น 4,494,397 ครัวเรือน พื้นที่ 61,207,114 ไร่

159006190718

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้รับรายงานจากรมอุตุนิยมวิทยา หลังไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าในปีนี้ปริมาณน้ำฝนจากมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยจะปริมาณน้ำฝนปีนี้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ที่ 5 % เทียบกับปีที่ผ่านมาปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 11 %

ทั้งนี้หากย้อนหลังกลับไปในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าสถิติปริมาณน้ำฝนของไทยจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5-10 % ทุกปี ที่เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนดังกล่าว จึงเรียกได้ว่าเป็นค่าเฉลี่ยปกติใหม่ หรือ ดังนั้นปริมาณค่าน้ำฝนดังกล่าวทุกปี น่าจะเป็นค่าปกติใหม่ว่า หรือ นิวนอร์มอล( new normal)

โดยกรมอุตุฯ คาดว่าในปีนี้จะมีพายุเข้ามาในเขตประเทศไทย 2 ลูก ในช่วงเดือน ส.ค.- ต.ค. แต่ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.ค.- มิ.ย. อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และเกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้ในทุกพื้นที่ เช่นเดียวกับในเขตชลประทาน การบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนจะใช้น้ำฝนเพื่อการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ การระบายน้ำในเขื่อนจะเพื่อระบบนิเวศน์เท่านั้น และต้องการเก็บน้ำไว้ในอ่างเพื่อใช้ในฤดูแล้งหน้าให้มากที่สุด

ทั้งนี้ก่อนหน้าที่ไทยประสบภาวะฝนแล้ง กรมชลประทานได้ขุดลอกและปรับปรุงอ่างเก็บน้ำเอาไว้มาก จึงคาดว่าจะเก็บน้ำได้มากขึ้น จากปกติปริมาณน้ำจากฝนที่ตกลงมา 100 % จะเก็บน้ำลงอ่างได้เพียง 60 % เท่านั้นที่เหลือต้องปล่อยทิ้งตามลำน้ำธรรมชาติ

“การเตรียมการรับมือฤดูฝนปี 63 นั้น ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่ง ให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ รวมทั้งสำรวจสิ่งกีดขวางทาง และการกำจัดวัชพืชในแม่น้ำสายหลัก คู คลองต่างๆ การติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆเป็นไปตามเกณฑ์การเก็บกักที่วางไว้ “

นายทองเปลว กล่าวว่า  ส่วนการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2562/63 ที่สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่าน สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก รวมทั้งแหล่งน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ(ณ 30 เม.ย. 63) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 35,590 ล้าน ลบ.ม.(46 % ของความจุฯรวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 13,016 ล้าน ลบ.ม.

เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 8,649 ล้าน ลบ.ม.(35 % ของความจุอ่างฯรวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 1,953 ล้าน ลบ.ม.

ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศ พบว่า ณ วันที่ 30 เม.ย. 63 มีการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งที่ผ่านมารวมทั้งสิ้นประมาณ 17,053 ล้าน ลบ.ม.(96 % ของแผนฯ)(แผนวางไว้ 17,699 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำไว้รวม 4,500 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวม 3,500 ล้าน ลบ.ม.

อีกส่วนหนึ่งจะผันมาจากแม่กลอง 1,000 ล้าน ลบ.ม. ผลการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งรวมทั้งสิ้น 4,595 ล้าน ลบ.ม. ถือได้ว่าการใช้น้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่วางไว้ ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณเกษตรกรและประชาชนทุกภาคส่วนที่ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด ทำให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเพียงพอ

สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกรวมทั้งสิ้น 4.75 ล้านไร่(แผนวางไว้ 2.83 ล้านไร่) แยกเป็นข้าวนาปรัง 4.21 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.54 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำนาปรังประมาณ 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.90 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองทำการเพาะปลูก