'พิพัฒน์' เล็งถก 'ประยุทธ์' ปลดล็อกเที่ยวในประเทศ

'พิพัฒน์' เล็งถก 'ประยุทธ์'  ปลดล็อกเที่ยวในประเทศ

“พิพัฒน์” เล็งหารือ “บิ๊กตู่” ปลดล็อกเที่ยวในประเทศมิ.ย.นี้ หนุนเดินทางไปยังจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ ด้านตัวแทน 13 สาขาอาชีพท่องเที่ยว “สทท.” ถกเครียดซอฟท์โลนออมสิน 1 หมื่นล้าน หลังกู้ผ่านแค่1%ของวงเงินยื่นขอ ร้องปรับเกณฑ์กู้สภาพคล่องเอสเอ็มอีด่วน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เตรียมหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผลักดันให้ประกาศปลดล็อคการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างเป็นทางการภายในเดือน มิ.ย.นี้ เบื้องต้นอาจจะส่งเสริมให้มีการเดินทางไปยังจังหวัดที่ไม่มีการติดเชื้อนานกว่า 21 วัน

หลังจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันมีจำนวนต่ำกว่าสิบคนต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่ดีของการควบคุมโรคโควิด-19 ประกอบกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีมีสภาพคล่องอยู่ได้ถึงเดือน พ.ค.นี้ หากนายกฯประกาศให้เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเดือนหน้า ก็จะช่วยต่อลมหายใจผู้ประกอบการได้อีกทาง

“ต่อกรณีที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เห็นพ้องว่าควรต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน จากเดิมจะหมดอายุวันที่ 31 พ.ค.นี้ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. และเตรียมนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.วันนี้ (22 พ.ค.) ก่อนเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 26 พ.ค.นี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯไม่คัดค้าน และมองว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะสามารถขยับธุรกิจได้แม้ยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอาจจะต้องมีการหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อผ่อนปรนหรือยกเว้นเรื่องการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว”

สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากขณะนี้คนไทยอาจจะยังกลัวการเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติ กระทรวงการท่องเที่ยวฯจึงเตรียมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ว่าจังหวัดไหนพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถ้าพร้อมรับ อาจต้องจำกัดการเดินทางให้อยู่ในเฉพาะจังหวัดนั้นๆ เพื่อสะดวกต่อการติดตามและเฝ้าระวัง โดยคาดการณ์ว่าจะเริ่มกลับมาเที่ยวไทยตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 นี้เป็นต้นไป ตั้งเป้าที่เดือนละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนด์ พร้อมตั้งเป้าว่าตลอดปีนี้จะมีชาวต่างชาติมาไทยที่ 14-16 ล้านคน

นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนเรื่องข้อเสนอของบฯบูรณาการจากหลายกระทรวงตามแผนซ่อมสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เบื้องต้นอยู่ที่ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท โดยเขาจะหารือกับเจ้ากระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาดไทย คมนาคม ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ก่อนนำไปหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯภายในเดือน พ.ค.นี้

ด้านนายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ไม่คัดค้านหากรัฐบาลจำเป็นต้องต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์โรคโควิด-19 ไม่ให้มีการระบาดซ้ำ ส่วนข้อเสนอของนายพิพัฒน์ รมว.การท่องเที่ยวฯเรื่องเปิดให้เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศได้ในเดือน มิ.ย.นี้ สทท.เห็นด้วย เพราะจะได้ช่วยกระตุ้นให้มีกระแสการเดินทางและสร้างรายได้ โดยการเปิดให้เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงแรกควรเน้นกระตุ้นกลุ่มภาครัฐ เช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อประชุมสัมมนาข้ามจังหวัด รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวขับรถเอง เมื่อเปิดให้เดินทางได้สักระยะแล้วพบว่าไม่มีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ค่อยเปิดให้ตลาดกรุ๊ปทัวร์เดินทาง

ขณะที่วานนี้ (21 พ.ค.) ผู้แทนจาก 13 สาขาวิชาชีพซึ่งเป็นสมาชิกของ สทท.ได้ร่วมประชุมกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เรื่องมาตรการการเงินและการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ในที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของธนาคารออมสิน วงเงิน 10,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ประกอบการยื่นขอซอฟท์โลนจำนวน 3,073 ราย วงเงินรวม 12,744 ล้านบาท แต่ได้รับการอนุมัติเพียง 36 รายเท่านั้น วงเงิน 87 ล้านบาท คิดเป็น 1% ของจำนวนรายและวงเงินที่ยื่นขอทั้งหมด

ส่วนจำนวนที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์มี 1,337 ราย คิดเป็น 44% ของจำนวนรายทั้งหมด วงเงิน 3,244 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของวงเงินที่ยื่นขอทั้งหมด ขณะที่จำนวนรายที่อยู่ระหว่างดำเนินการมี 1,700 ราย คิดเป็น 55% ของจำนวนรายทั้งหมด วงเงิน 9,413 ล้านบาท คิดเป็น 74% ของวงเงินที่ยื่นขอทั้งหมด

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า ทั้งกระทรวงฯและ สทท.จึงได้ขอให้ธนาคารออมสินเร่งพิจารณาซอฟท์โลนส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด พร้อมปรับหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของการดำเนินงานในแต่ละสายธุรกิจ และในวันจันทร์ที่ 25 พ.ค.นี้ จะประชุมย่อยของแต่ละสาขาอาชีพอีกครั้งที่กระทรวงฯ เพื่อรวบรวมหลักเกณฑ์ซอฟท์โลนที่ต้องการการผ่อนผัน และนำหารือกับภาคธนาคารและการคลังในวันเดียวกัน หวังว่าจะได้ข้อสรุปสุดท้ายเพื่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะได้นำเงินกู้ไปเสริมสภาพคล่องทันตามความต้องการ