ส่อง 5 มหาเศรษฐี ‘Healthcare’ รับทรัพย์ ช่วง ‘โควิด’

ส่อง 5 มหาเศรษฐี ‘Healthcare’ รับทรัพย์ ช่วง ‘โควิด’

การระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทที่พัฒนาวัคซีน ยารักษา หรือชุดตรวจโควิด ทะยานติดลมบน รวมถึงสร้างมหาเศรษฐีหน้าใหม่อย่างน้อย 1 คน และเพิ่มความมั่งคั่งให้กับมหาเศรษฐีพันล้านอีก 4 คนในอุตสาหกรรม Healthcare (เฮลท์แคร์)

หลังจากองค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ (WHO) ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ระดับโลกเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ตลาดหุ้นทั่วโลกพากันทรุดหนัก และดัชนีดาวโจนส์ในตลาดหุ้นสหรัฐ ถูกเทขายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2530

แม้ว่าขณะนี้ตลาดหุ้นในหลายประเทศฟื้นตัวกลับมาบ้างแล้ว แต่กลุ่มบริษัทหนึ่งที่ยังไม่เคยได้รับความเสียหายจากสถานการณ์นี้ และมีแต่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ คือ บริษัทด้านเฮลท์แคร์ที่พัฒนาวัคซีน วิธีรักษา และชุดตรวจโรคโควิด-19 ทำให้บรรดานักธุรกิจที่อยู่เบื้องหลังบริษัทอย่าง โมเดอร์นา (Moderna), ดิอาโซริน (DiaSorin), บีโอเมริเยอร์ (bioMerieux), เซลล์เทรียน (Celltrion) และ รีเจนเนอรอน (Regeneron) ร่ำรวยขึ้นไปด้วย

ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้ซึ่งทำงานเพื่อค้นหาตัวแปรสำคัญในการเอาชนะไวรัสต้นตอโรคโควิด-19 ทะยานอย่างมากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และสร้างมหาเศรษฐีพันล้านหน้าใหม่อีกคน รวมถึงเพิ่มความมั่งคั่งให้บรรดาเศรษฐีในแวดวงเดียวกัน

 

  • สเตฟาน บันเซล (โมเดอร์นา)

สเตฟาน บันเซล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัท “โมเดอร์นา” ที่มีสำนักงานใหญ่ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐ ถือเป็นนักธุรกิจ Healthcare ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากสถานการณ์โควิด ขณะที่โมเดอร์นาเป็นบริษัทรายแรกที่เริ่มทดสอบวัคซีนต้านโควิด-19 กับมนุษย์เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่เมืองซีแอตเทิล

159007704766

บันเซล วัย 47 ปีนั่งเก้าอี้ซีอีโอโมเดอร์นาตั้งแต่ปี 2554 หลังย้ายมาจากบริษัทบีโอเมริเยอร์ที่เขาเคยเป็นซีอีโอ ส่วนในปัจจุบัน บันเซลถือหุ้น 9% ในโมเดอร์นาซึ่งได้รับอนุญาตจากกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐ ให้เร่งพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19

ช่วงที่ WHO ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดระดับโลก มูลค่าสินทรัพย์ของบันเซลยังอยู่ที่ราว 720 ล้านดอลลาร์ แต่หลังจากนั้นมา ราคาหุ้นของโมเดอร์นาพุ่งกว่า 100% ทำให้ความมั่งคั่งของเขาเพิ่มขึ้นเป็นราว 1,500 ล้านดอลลาร์

นักธุรกิจชาวฝรั่งเศส ติดอันดับมหาเศรษฐีพันล้านของนิตยสาร “ฟอร์บส” เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ช่วงที่ราคาหุ้นโมเดอร์นาทะยานหลังมีข่าวว่าบริษัทมีแผนเริ่มทดลองวัคซีนต้านโควิดระยะที่ 2 โดยบันเซลคาดว่า วัคซีนของบริษัทน่าจะให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใช้งานในกรณีฉุกเฉินได้ภายในปลายปีนี้

 

  • กุสตาโว เดเนกรี (ดิอาโซริน)

กุสตาโว เดเนกรี เศรษฐีชาวอิตาลีวัย 83 ปีซึ่งจบการศึกษาด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยตูริน ปัจจุบันเป็นประธานผู้ถือหุ้น 45% ใน “ดิอาโซริน” บริษัทไบโอเทคของอิตาลี แต่ที่น่าสนใจคือ เขาไม่ได้เริ่มต้นธุรกิจจากอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์

159007706025

จุดพลิกผันครั้งใหญ่ของเดเนกรีเกิดขึ้นในปี 2528 เมื่อเขาควบรวมกิจการ “กรุปโป โปร-อินด์” (Gruppo Pro-Ind) บริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ที่เขาก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 70 เข้ากับ “ปิอาจิโอ” (Piaggio) ผู้ผลิตรถสกูตเตอร์เวสป้ายอดนิยม

มูลค่าสินทรัพย์ของเดเนกรีเพิ่มขึ้น 32% เป็น 4,500 ล้านดอลลาร์ (นับถึง 1 พ.ค.) จาก 3,400 ล้านดอลลาร์ ช่วงที่ WHO ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ในเดือน มี.ค.

เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ดิอาโซรินซึ่งเดเนกรีซื้อกิจการเมื่อปี 2543 เปิดตัวทั้งอุปกรณ์ตรวจเชื้อ (Swab Test) และชุดตรวจสารแอนติบอดีในเลือดสำหรับหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นชุดตรวจแอนติบอดีแบบใหม่ของบริษัท โดยชุดตรวจทั้ง 2 แบบของดิอาโซรินถูกส่งให้กับหน่วยงานรัฐระดับภูมิภาคหลายแห่งในอิตาลีเพื่อใช้รับมือการระบาดครั้งนี้

ปัจจุบัน บริษัทของเดเนกรีนอกจากมีโรงงานผลิตในอิตาลีแล้ว ยังมีในสหรัฐและสหราชอาณาจักรด้วย

 

  • อแล็ง เมริเยอร์ (บีโอเมริเยอร์)

อแล็ง เมริเยอร์ เศรษฐีพันล้านชาวฝรั่งเศส ก่อตั้งบริษัท “บีโอเมริเยอร์” ผู้ผลิตชุดตรวจโรคเมื่อปี 2506 ภายใต้ปีกยักษ์ใหญ่การแพทย์ “อินสติติวท์ เมริเยอร์” ธุรกิจครอบครัวที่ปู่ของเขาก่อตั้งขึ้นในปี 2440

159007707158

นับถึงวันที่ 1 พ.ค. มูลค่าสินทรัพย์ของเมริเยอร์วัย 81 ปีเพิ่มขึ้น 25% มาอยู่ที่ 7,600 ล้านดอลลาร์ จาก 6,100 ล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ WHO ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่

ปัจจุบัน บีโอเมริเยอร์มีซีอีโอชื่อ อเล็กซองเดร เมริเยอร์ บุตรชายของเศรษฐีจากเมืองลียง และเมื่อปลายเดือน มี.ค. บริษัทได้เปิดตัวชุดตรวจโรคโควิด-19 รุ่นใหม่ที่ลดเวลาทดสอบหาไวรัสลงเหลือ 45 นาที

 

  • ซอ จอง-จิน (เซลล์เทรียน)

ซอ จอง-จิน เศรษฐีนักธุรกิจชาวเกาหลีใต้ วัย 62 ปีร่วมก่อตั้ง “เซลล์เทรียน” บริษัทไบโอฟาร์มา (ชีวเภสัชภัณฑ์) ในกรุงโซลเมื่อปี 2545 และนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นเมื่อปี 2551 โดยปัจจุบันเขานั่งตำแหน่งซีอีโอของบริษัท

159007708128

สำหรับบทบาทของเซลล์เทรียนในช่วงโควิด-19 บริษัททำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาทั้งชุดตรวจและหาวิธีการรักษาที่ได้ผล โดยคาดว่าการทดสอบกับมนุษย์เพื่อหาวิธีต้านไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จะมีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2563

อุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิด-19 ของเซลล์เทรียนที่บริษัทอ้างว่าผู้ใช้สามารถตรวจได้เองและรู้ผลเร็วภายใน 15-20 นาที น่าจะวางจำหน่ายภายในสิ้นเดือน ส.ค.นี้

ข้อมูลของฟอร์บส ระบุว่า ซีอีโอของเซลล์เทรียนมีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 8,400 ล้านดอลลาร์ (นับถึง 1 พ.ค.) จาก 6,900 ล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา

 

  • จอร์จ แยงโคปูลอส (รีเจนเนอรอน)

จอร์จ แยงโคปูลอส นักวิทยาศาสตร์ด้านชีวการแพทย์ชาวอเมริกัน ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ของ “รีเจนเนอรอน ฟาร์มาซูติคัลส์” ผู้ผลิตยารายใหญ่ในเมืองแทร์รีทาวน์ รัฐนิวยอร์ก ก็เป็นอีกคนที่ได้อานิสงส์จากโควิดระบาด

159007948264

แยงโคปูลอสร่วมก่อตั้งรีเจนเนอรอน กับ เลียวนาร์ด ชไลเฟอร์ ซีอีโอคนปัจจุบันเมื่อปี 2531 โดยเขาตัดสินใจย้ายตามมาร่วมงานในปีถัดมา

ฟอร์บส เผยว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาด ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวการแพทย์รายนี้มีความมั่งคั่งพุ่ง 14% เป็น 1,200 ล้านดอลลาร์ (นับถึง 1 พ.ค.) เทียบกับ 1,050 ล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ WHO ประกาศให้โรคโควิดเป็นการระบาดใหญ่

สินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นของผู้ร่วมก่อตั้งรีเจนเนอรอน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทบาทของบริษัทเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่เริ่มการทดสอบทางคลินิกโดยใช้ยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ของตนกับกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ในนิวยอร์กซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิดในสหรัฐ ด้วยความร่วมมือกับ “ซาโนฟี” บริษัทยาของฝรั่งเศส

ผลเบื้องต้นจากการทดสอบ 2 ระยะ พบว่า ยาตัวนี้สามารถลดสารบ่งชี้ของการติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ รีเจนเนอรอนจะเดินหน้าทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 ตลอดทั้งเดือน พ.ค.

------------------------------------------

อ้างอิง: Forbes