เฟด ชี้ ‘ศก.สหรัฐ’ ไตรมาส 2 ทรุดตัวแรง พิษโควิดยื้อ

เฟด ชี้  ‘ศก.สหรัฐ’ ไตรมาส 2 ทรุดตัวแรง พิษโควิดยื้อ

เปิดเอกสารประชุม “เฟด” ชี้ กิจกรรมเศรษฐกิจสหรัฐ ไตรมาส 2 ทรุดตัวแรง เหตุโควิดยืดยื้อ ส่งผลชะงักงันในระยะใกล้และระยะกลางนี้

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28-29 เม.ย. โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐเผชิญกับความเสี่ยง และความไม่แน่นอนอย่างมากในระยะกลางนี้ โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 อาจจะทรุดตัวลงในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

กรรมการเฟด ประเมินว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคครัวเรือนที่ประสบปัญหาด้านการเงินมากที่สุด นอกจากนี้ กรรมการเฟดยังแสดงความกังวลว่า การเลิกจ้างพนักงานแบบชั่วคราวอาจจะกลายเป็นการถาวร โดยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างอาจจะสูญเสียทักษะพิเศษในการทำงาน และต้องออกจากตลาดแรงงานในที่สุด

“ในการประเมินสถานการณ์เชิงลบนั้น คาดว่า การแพร่ระบาดรอบใหม่อาจจะเกิดขึ้นในระยะใกล้หรือระยะกลางนี้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเผชิญกับภาวะชะงักงันอีกครั้ง รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดจากการขยายช่วงเวลาในการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และจะมีธุรกิจจำนวนมากขึ้นที่จะต้องปิดกิจการ และสูญเสียรายได้ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทรุดตัวลงอย่างรุนแรง” เฟดระบุในรายงานการประชุมซึ่งมีการเผยแพร่ในวันพุธตามเวลาสหรัฐ

ส่วนในการประเมินสถานการณ์เชิงบวกนั้น กรรมการเฟดมองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว หากการแพร่ระบาดลดน้อยลงมากพอที่จะทำให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าจะมีการผ่อนคลายหรือปรับพฤติกรรมในการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเมื่อวันที่ 28-29 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% และยืนยันว่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวไปจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้น และเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% นอกจากนี้ เฟดประกาศว่าจะยังคงซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในปริมาณที่มีความจำเป็นต่อไปเพื่อสนับสนุนการทำงานของตลาด และจะยังคงเสนอเงินกู้ข้ามคืนจำนวนมาก รวมถึงดำเนินการซื้อคืนพันธบัตรเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาด