กพอ.เคาะร่างสัญญาอู่ตะเภา 2.9 แสนล้าน เตรียมนัดเซ็น 'BBS' มิ.ย.นี้

กพอ.เคาะร่างสัญญาอู่ตะเภา 2.9 แสนล้าน เตรียมนัดเซ็น 'BBS' มิ.ย.นี้

กพอ.เห็นชอบร่างสัญญาพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา มูลค่าโครงการ 2.9 แสนล้านบาท เตรียมชง ครม.พร้อมนัดลงนามกลุ่มบีบีเอส ภายใน มิ.ย.นี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเห็นชอบโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาแล้วเสร็จ 

ทั้งนี้จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบก่อนลงนามสัญญาระหว่างกองทัพเรือกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ในเดือน มิ.ย.นี้  โดยการลงทุนของโครงการรวมเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 290,000 ล้านบาท 

สำหรับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Lead Firm) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเสนอ Narita International Airport Corporation เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน

สำหรับโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนา “เมืองการบินภาคตะวันออก”  ในพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยมี 6 กิจกรรมสำคัญ

  • อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (Passenger Terminal Building 3)
  • ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน (Commercial Gateway and Ground Transportation Centre)
  • ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul)
  • เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (Cargo Village or Free Trade Zone)
  • ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Cargo Complex)
  • ศูนย์ฝึกอบรมการบิน (Aviation Training Centre)

การประมูลครั้งนี้มีผู้ยื่นซอง 3 ราย คือ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส 2.กลุ่ม Grand Consortium 3.กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร

การประเมินผลข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาตามข้อกำหนดเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) ที่ได้ระบุให้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอจัดทำข้อเสนอซองที่ 2 แยกรายละเอียดออกเป็น 2 หมวด คือ หมวดข้อเสนอด้านเทคนิคและหมวดข้อเสนอด้านแผนธุรกิจ โดยมีรายละเอียด 8 หัวข้อย่อย

โดยการประเมินในแต่ละหัวข้อย่อยเป็นแบบให้คะแนน (Scoring) ซึ่งคะแนนของแต่ละหัวข้อย่อยต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 และรวมคะแนนทั้ง 8 หัวข้อย่อยต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จึงจะถือว่าผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์ประเมิน

ผลการพิจารณาพบว่าเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 กลุ่ม ผ่านการประเมินซองที่ 2 (ด้านเทคนิค) โดยมีคะแนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

การพิจารณาซองที่ 3 (ด้านราคา) ของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 กลุ่ม และมีมติเห็นชอบลำดับผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอเงินประกันรายได้ขั้นต่ำเป็นผลตอบแทนให้แก่รัฐที่ดีที่สุด โดยลำดับที่ 1 กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ลำดับที่ 2 กลุ่มธนโฮลดิ้งฯ ลำดับที่ 3 กลุ่ม Grand Consortium

กล่าวคือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโดยได้เสนอราคาเป็นจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรายปีรวมตลอดอายุสัญญาร่วมทุน เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) ณ ปี 2561 โดยใช้อัตราคิดลดร้อยละ 3.76 เท่ากับ 305,555,184,968 บาท ตลอดอายุสัญญา 50 ปี

ทั้งนี้ ภาครัฐเริ่มเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 – 13 เมษายน 2563 โดยตั้งคณะทำงานเจรจา 2 ชุด ได้แก่

1.คณะทำงานเจรจารายละเอียดด้านเทคนิค

2.คณะทำงานเจรจาเงื่อนไขร่างสัญญาร่วมลงทุน โดยคณะทำงานเจรจาฯ ทั้ง 2 คณะ ได้มีการประชุมเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ทางด้านเทคนิค การเงิน และข้อกฎหมาย

รวมทั้งสิ้น 19 ครั้ง ภายใต้กรอบของเอกสารการคัดเลือกเอกชนฯ หลักการโครงการที่ กพอ. ได้เห็นชอบไว้ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งแล้วเสร็จ ผลการเจรจา : บรรลุข้อตกลงการเจรจากับเอกชนร่วมลงทุน โดยรับทราบข้อเสนอซองที่ 4 (ข้อเสนออื่นๆ) ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส และไม่นำมาเป็นส่วนหนึ่งของร่างสัญญาร่วมลงทุน เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขในการคัดเลือก และดำเนินการจัดส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา