ศธ. ชงเปิดโรงเรียนพื้นที่ไร้โควิด สธ.รับลูกกำหนด 6 มาตรการเข้มรับเปิดเทอม

ศธ. ชงเปิดโรงเรียนพื้นที่ไร้โควิด สธ.รับลูกกำหนด 6 มาตรการเข้มรับเปิดเทอม

กระทรวงศึกษาฯ เสนอ ศบค. เปิดเรียนปกติในพื้นที่ไม่พบผู้ติด "โควิด-19" 1 ก.ค. ขณะที่สาธารณสุขกำหนด 6 มาตรการ คุมเข้มก่อนเปิดเทอม ขณะที่การแก้ปัญหาเรียนออนไลน์เตรียมแจกกล่องรับสัญญาณดิจิทัล 2 ล้านกล่อง

จากกรณีที่คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. พิจารณาเปิดโรงเรียนในพื้นที่ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ล่าสุด วานนี้ (20 พ.ค.) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว ศธ.ได้เสนอไปยัง ศบค.เรียบร้อยแล้ว คงต้องขึ้นอยู่กับพิจารณาว่าพื้นที่ใดสามารถเปิดเรียนได้หรือไม่

ขณะเดียวกัน ศธ. ได้ศึกษากลุ่มโรงเรียนต่างๆ เพื่อการจัดแบ่งกลุ่มว่า โรงเรียนไหนพร้อมหรือไม่พร้อม มีศักยภาพในการดูแล บริหารจัดการโรงเรียนหรือไม่ เพราะการเปิดโรงเรียนต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากโรงเรียนเป็นพื้นที่ในกลุ่มโซนสีแดง เบื้องต้นการกำหนดเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 ยังคงเป็นวันที่ 1 ก.ค. ตามเดิม และต่อให้สถานการณ์ปกติหรือไม่ปกติก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

แจกกล่องรับสัญญาณ 2 ล้านชิ้น

ขณะที่การทดสอบระบบการเรียนทางไกลผ่านทีวีวันที่ 3 ยังพบปัญหาส่วนใหญ่คือบ้านนักเรียนไม่สามารถปรับจูนช่องทีวีให้รับสื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ DLTV ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ โดยในการแก้ปัญหาดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดหากล่องรับสัญญาณดิจิทัล 2 ล้านกล่อง มาแจกให้แก่บ้านนักเรียนที่ไม่มีกล่องรับสัญญาณ

ส่วนเนื้อหาการเรียนการสอนจากสื่อ DLTV ที่มีข้อผิดพลาด ได้ประสานมูลนิธิฯเพื่อปรับแก้ไขให้หลักสูตรมีความเชื่อมต่อกันมากขึ้นแล้ว นอกจากนี้ สพฐ.จะจัดครูภาษาอังกฤษจากโครงการศูนย์อบรมครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค (Regional English Training Centres) หรือที่รู้จักกันในนามโครงการ Bootcamp เข้ามาช่วยเสริมกับครูผู้สอนจากมูลนิธิฯ

6 มาตรการสธ.รับเปิดเรียน

ขณะที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19ในโรงเรียน สถานศึกษา ฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2563 โดยสาระสำคัญแบ่งเป็น 6 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 เมื่อมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเกิดขึ้น จะมีผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อสูง หมายถึงผู้สัมผัสใกล้ชิด โดยเป็นผู้ที่เรียนร่วมห้อง ผู้ที่นอนร่วมห้อง หรือเพื่อนสนิทที่คลุกคลีกัน ผู้ที่มีการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตรนานกว่า 5 นาที หรือถูกไอ จาม รด จากผู้ป่วย โดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัย ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ปิดไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศ ห้องปรับอากาศร่วมกับผู้ป่วยและอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่เกิน 1 เมตรนานกว่า 15 นาทีโดยไม่มีการป้องกัน

เตรียมอุปกรณ์-คัดกรองก่อนเข้าร.ร.

ประเด็นที่ 2 การเตรียมสถานศึกษาก่อนเปิดภาคเรียน ต้องตรวจสอบห้องสุขา โรงอาหาร ให้มีอ่างล้างมือให้เพียงพอ อยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน รวมถึงสบู่ล้างมือที่เพียงพอ จัดเตรียมอุปกรณ์ล้างมือ เช่น เจลแอลกอฮอล์ไว้บริเวณทางเข้าห้องเรียน และอาคารต่างๆ ที่มีการใช้งานร่วมกัน กำหนดจุดตรวจคัดกรองอาการป่วยบริเวณทางเข้าต่างๆ จัดสถานที่เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล

เช่น การเข้าแถว การเข้าคิว การจัดที่นั่งเรียน การจัดที่นั่งรับประทานอาหาร ทำสัญลักษณ์เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล จัดตารางเหลื่อมเวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน
สำหรับเด็กเล็กที่ยังต้องนอนกลางวันหรือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มีโรงนอน ให้รักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตรไม่เอาศีรษะชนกันและแยกอุปกรณ์เครื่องใช้เป็นของส่วนตัว ไม่ใช้ร่วมกัน กรณีเด็กป่วยให้หยุดอยู่บ้าน และกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบการป้องกันควบคุมโรคของสถานศึกษา

ประเด็นที่ 3 กิจกรรมการเฝ้าระวังและป้องกันโรคเมื่อเปิดการเรียนการสอน ให้มีการตรวจสอบการลาป่วยของนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน หากพบว่าผู้ป่วยมากผิดปกติให้รายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ให้มีการคัดกรองไข้และอาการทางเดินหายใจของนักเรียนและบุคลากรทั้งหมดบริเวณทางเข้าสถานศึกษาทุกวัน

หากพบผู้ป่วยให้หยุดและไปพบแพทย์ หากพบว่ามีผู้มีไข้มากผิดปกติให้แจ้งไปยังหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ แจ้งผู้ปกครองที่บุตรหลานมีอาการ เช่น ไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เหนื่อยหอบ หรือกลับจากพื้นที่เสี่ยงและอยู่ในช่วงกักกันให้หยุดเรียน

งดเรียนในห้องแอร์โดยไม่จำเป็น

รวมถึง กำชับกรณีมีคนในครอบครัวป่วยโรคโควิด-19 หรือกลับจากพื้นที่เสี่ยงให้ทำตามคำแนะนำเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด งดการจัดกิจกรรมรวมคน ทัศนศึกษา แข่งกีฬาสี เป็นต้น หากมีรถรับส่งนักเรียน เจ้าหน้าที่ต้องสังเกตอาการนักเรียนก่อนอนุญาตขึ้นรถ ให้สวมหน้ากากผ้าหน้ากากอนามัยทุกคน ระหว่างนั่งในรถ พยายามเปิดประตูหน้าต่างของห้องเรียน งดการเรียนในห้องแอร์ที่ไม่จำเป็น และตรวจตราผู้ประกอบอาหารของโรงเรียนให้ปฏิบัติตามสุขอนามัย

ประเด็นที่ 4 การทำความสะอาด พื้นและพื้นผิวต่างๆทำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาซักผ้าขาวผสมสำหรับเช็ดพื้นผิว หรือแอลกอฮอล์ 70% เช็ดฆ่าเชื้อโรคของอุปกรณ์ต่างๆ ทำความสะอาดห้องสุขาด้วยน้ำยาอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และกำจัดขยะอย่างถูกวิธีทุกวัน

ประเด็นที่ 5 กิจกรรมเมื่อพบผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 ปิดชั้นเรียนที่พบผู้ป่วย เพื่อแยกนักเรียน นักศึกษา ทำความสะอาดสถานที่ที่ผู้ป่วยนั่งเรียนหรือใช้ประจำ สำรวจคัดกรองนักเรียนและบุคลากรทุกคนบริเวณทางเข้าโรงเรียนเรียนอย่างเคร่งครัด หากพบอาการไข้หรืออาการทางเดินหายใจให้นำส่งโรงพยาบาล

ผู้สัมผัสกลุ่มเสี่ยงสูง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะดำเนินการเก็บตัวอย่างทางเดินหายใจส่งตรวจหาเชื้อและให้แยกตัวอยู่บ้านเป็นเวลา 14 วัน ผู้สัมผัสกลุ่มเสี่ยงต่ำ แยกตัวอยู่ที่บ้านและรายงานอาการทุกวัน และทีมสอบสวนโรคทำการติดตามผู้สัมผัสทุกวันจนครบกำหนด และ
ประเด็นที่ 6 การแยกตัวอยู่บ้านของผู้สัมผัสไม่มีอาการ วัดไข้ทุกวัน หากพบอุณหภูมิสูงกว่า หรือเท่ากับ 37.5 องศา หรือมีอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้โทรรายงานครูผู้รับผิดชอบ แยกของใช้ส่วนตัว ทุกคนในบ้านให้ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำหรือจับสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน และห้ามออกจากบ้าน