คุมเข้มโควิด-19 'เห็นผล' หนุน 'ไช่ อิงเหวิน' นั่งผู้นำไต้หวันสมัย 2

คุมเข้มโควิด-19 'เห็นผล' หนุน 'ไช่ อิงเหวิน' นั่งผู้นำไต้หวันสมัย 2

ความสำเร็จในการควบคุมโรคโควิด-19 ระบาดของ “ไช่ อิงเหวิน” ส่งผลให้เธอรับตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันสมัยที่ 2 โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ขณะที่สหรัฐแสดงความยินดีเป็นชาติแรก ๆ

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐได้แสดงความยินดีกับ ไช่ อิงเหวิน ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีไต้หวันเป็น สมัยที่ 2 วานนี้ (20 พ.ค.) พร้อมทั้งระบุว่า ไต้หวันเป็น “พันธมิตรที่ไว้วางใจได้” ของสหรัฐ

ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐระบุในแถลงการณ์ว่า “เรามีวิสัยทัศน์ร่วมกันสำหรับภูมิภาคนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ กฎหมาย ความโปร่งใส ความรุ่งเรือง และความมั่นคงของทุกคน” และได้กล่าวเสริมว่า “ผมมั่นใจว่า การดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีไช่สมัยที่ 2 นั้น จะสานต่อความร่วมมือของสหรัฐและไต้หวันให้รุ่งโรจน์ต่อไป”

ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ใช้วิธีเผชิญหน้ากับจีน ขณะที่เลือกดำเนินนโยบายผูกมิตรกับไต้หวัน โดยจีนมองไต้หวันว่าเป็นจังหวัดหนึ่งของจีน ซึ่งรอวันที่จะกลับมารวมกับจีนอีกครั้ง และอาจต้องใช้กำลังหากจำเป็น

ไช่ เริ่มเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในวันพุธ โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

อย่างไรก็ตาม ไต้หวันภายใต้การปกครองของไช่ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ต้องเผชิญหน้ากับจีนที่มุ่งจะบั่นทอนความพยายามของไต้หวันในการเรียกร้องการยอมรับจากนานาชาติ และเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐที่กำลังตึงเครียดมากขึ้น

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ไช่ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงไทเปก่อนที่จะกล่าวสุนทรพจน์ในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ ความสำเร็จของไต้หวันในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ได้รับการชมเชยจากประชาคมโลก ทั้งยังช่วยกระตุ้นความสนใจในกรณีที่ไต้หวันถูกเพิกเฉยจากองค์กรอนามัยโลก หรือ ดับเบิลยูเอชโอ (WHO) และความพยายามของจีนในการกีดกันไต้หวัน

องค์การอนามัยโลก ชื่นชมไต้หวันที่พยายามจัดการโควิด-19 โดย "มิเชล ไรอัน" ผู้อำนวยการบริหาร WHO กล่าวว่า ไต้หวันควรได้รับการชื่นชมที่บริหารจัดการได้ดีและสามารถแบ่งปันประสบการณ์ในการรับมือโควิด-19

ประธานาธิบดีไช่ เผยแพร่บทความที่เธอเขียนเองว่า ไต้หวันไม่ได้ประสบความสำเร็จจากการรับมือโควิด-19 ด้วยความบังเอิญ หรือโชคช่วย แต่เกิดจากความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งด้านการแพทย์ ทั้งรัฐบาล ทั้งภาคเอกชน และภาคสังคม ต่างร่วมมือร่วมใจในการสู้กับโรคระบาดครั้งนี้ บทเรียนจากความเจ็บปวดที่ได้รับเมื่อครั้งเกิดโรคซาร์สระบาดในปี 2546 ทำให้ไต้หวันหวาดกลัว และพยายามตื่นตัวจากภัยคุกคามเหล่านี้ตั้งแต่ที่เริ่มมีการระบาดในช่วงระยะแรก ๆ

ไช่ เล่าว่า ตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. 2562 ที่เริ่มมีการระบุว่ามีโรคระบาดที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเกิดขึ้นในจีน ไต้หวันเริ่มจับตาดูนักเดินทางที่มาจากอู่ฮั่น จากนั้น ในเดือนม.ค. เธอเริ่มตั้งศูนย์สั่งการส่วนกลางเพื่อเตรียมมาตรการป้องกันโรคระบาดนี้ ทั้งเริ่มจำกัดการเดิน และใช้มาตรการกักกันโรคกับผู้เดินทางที่มีความเสี่ยงสูง

ประธานาธิบดีไช่ ยืนยันความพร้อมเจรจาเพื่อรักษาความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ แต่ไม่มีทางยอมรับสถานะแบบหนึ่งประเทศ สองระบบ โดยประธานาธิบดีสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำไต้หวันสมัยที่ 2 อย่างเป็นทางการ ที่ทำเนียบรัฐบาลในกรุงไทเป เมื่อวันพุธ (20 พ.ค.) พร้อม “ไล่ ชิง-เต๋อ” รองประธานาธิบดีคนใหม่

ทั้งประธานาธิบดีไช่และรองประธาธิบดีลงสมัครในนามตัวแทนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนมากกว่า 8.17 ล้านคะแนนถล่มทลายที่สุดนับตั้งแต่ไต้หวันมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2539

ขณะที่พิธีสาบานตนดำเนินด้วยความกระชับเนื่องจากไต้หวันกำลังเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 โดยผู้แทนจากต่างประเทศ ซึ่งเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน มีเพียง 15 ประเทศ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ กับรัฐบาลไทเป ได้แก่ วาติกัน อีสวาตินี เบลิซ กัวเตมาลา เฮติ ฮอนดูรัส นิการากัว ปารากวัย เซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์ลูเชีย เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ นาอูรู ปาเลา ตูวาลู และสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์