ชง “อสม.การศึกษา” ฉีดภูมิคุ้มกันเสมอภาค

ชง “อสม.การศึกษา” ฉีดภูมิคุ้มกันเสมอภาค

ประธานบอร์ดกสศ. เผย 2 ปี ช่วยเด็กมากกว่าล้านคน พร้อมรับมือวิกฤตโควิด-19 ระยะยาว ต้องสร้าง 5 ระบบคุ้มครองสังคม เสนอรัฐตั้ง อสม.การศึกษา รุกค้นหา ผู้ด้อยโอกาสไม่เสมอภาคทางการศึกษา

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานกสศ.ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาว่า นอกจากสามารถให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมพัฒนากลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมถึงครู ผู้พิการ และประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสจำนวนรวมกันแล้ว มากกว่า 1,147,754 คน ใน 27,731 โรงเรียน ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยแล้ว (1 ใน 4 ของเป้าหมายที่ กอปศ. เคยประเมินเอาไว้)

"ต้องขอขอบพระคุณ การสนับสนุนจากคุณครูสังกัด สพฐ. ตชด. และ อปท. กว่า 400,000 คน ทั่วประเทศ ที่ช่วยให้ กสศ. เข้าถึง และได้มีโอกาสช่วยเหลือ กลุ่มเป้าหมายที่ยากจนและด้อยโอกาสที่สุดในประเทศได้มากกว่า 1 ล้านคนภายในเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น" ดร.ประสาร กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนอาจคิดว่าการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะวัดความสำเร็จในการบรรลุวัตถุประสงค์การดำเนินการด้วย จำนวนหัวของกลุ่มเป้าหมายที่เราโอนเงินให้เสร็จเพียงเท่านั้น แต่ที่ กสศ. พวกเราคิดว่าการทำงานของเรากับน้องๆ มากกว่า 1 ล้านชีวิตนี้พึ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น ที่ กสศ. มีระบบสารสนเทศที่ชื่อว่า iSEE ช่วยติดตามการทำงานสนับสนุนน้องๆ ทุกคนได้เป็นรายบุคคล ตั้งแต่วันแรกที่เขาเริ่มรับการสนับสนุนจาก กสศ. เมื่อชั้นอนุบาล 1 ไปจนเขาสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สูงกว่า ทั้งในและนอกระบบการศึกษาตามศักยภาพและความถนัดของเขา

ดร.ประสาร ในฐานะกรรมการที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) เสนอว่า ด้วยประสบการณ์การทำงาน 2 ปี และข้อมูลเชิงลึกจากระบบ iSEE ของ กสศ. เราจึงมีข้อเสนอในการสร้าง “ระบบการคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษา” (social protection in education system) ใน 5 มิติดังนี้

1) ความมั่นคงทางอาหาร (food security) ให้แก่เด็กเยาวชนทุกคนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาค ปัจจุบันเราสนับสนุนอาหารกลางวันเพียง 200 วันต่อปีให้แก่เด็กอนุบาลถึง ป.6 เท่านั้น ยังมีเด็ก ม.ต้นถึง ม.ปลายอีกหลายล้านคนที่ยังไม่มีอาหารกลางวันทานที่โรงเรียน และยังมีอีก165 วัน ที่เด็กเยาวชนด้อยโอกาสหลายล้านคนยังไม่มีความมั่นคงทางอาหารในชีวิตของตนและครอบครัว เรื่องนี้ท่านอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับชาติ น่าจะช่วยให้ข้อเสนอแนะแก่พวกเราในรายละเอียดให้ขับเคลื่อนงานกันต่อได้อีกมาก

2)ความมั่นคงของสถาบันครอบครัว (family security) ปัจจุบันครอบครัวที่มีรายได้น้อยมากกว่าร้อยละ 40 เป็นครอบครัวแหว่งกลาง พ่อแม่แยกทางกัน ทำให้เด็กเยาวชนราว 1 ล้านคนกำลังเติบโตขึ้นมาโดยขาดความมั่นคงในสถาบันครอบครัว

3) ความพร้อมและความปลอดภัยในการเดินทางไปโรงเรียนของนักเรียน (travel security) ปัจจุบันเด็กเยาวชนเกือบ 2 ล้านคนไม่มีค่าใช้จ่ายและพาหนะที่ปลอดภัยในการเดินทางไปโรงเรียน ทำให้มีเด็กเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา และประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางไปโรงเรียน ดังที่เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นระยะๆ

4) ความพร้อมและความปลอดภัยของสถานศึกษาและครู (school security) ในการจัดการศึกษาทั้งในเชิงกายภาพ และความพร้อมของผู้บริหารและครูในการจัดการศึกษาตามมาตรฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรวมไปถึงการจัดการศึกษาแก่ผู้พิการด้อยโอกาสประเภทต่างๆ การป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน รวมทั้งการจัดการศึกษาภายใต้สถานการณ์อย่าง COVID-19

5) ความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น (community security) บทเรียนสำคัญจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้พวกเรายิ่งเห็นความสำคัญภูมิปัญญาของชาวแอฟริกาที่ว่า It takes a village to raise a child “การสร้างเด็กคนหนึ่งต้องอาศัย คนทั้งหมู่บ้าน ความเข้มแข็งและความร่วมมือร่วมใจของชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสนับสนุนสถาบันครอบครัวและสถานศึกษา ในการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคมในระบบการศึกษาทุกด้าน

“เมื่อเร็วๆนี้ เราพบจุดแข็งอย่างหนึ่งในระบบของบ้านเรา คือ อสม.สาธารณสุข ทำให้ฉุกคิดว่า จะเป็นอย่างไรบ้างถ้าจะสร้าง อสม.การศึกษา คือการสร้างเด็กคนหนึ่ง ไม่ใช่ไปห้องเรียน ออนแอร์ ออนไลน์ เด็กอายุ 15 ปีพบเยอะตั้งครรภ์ก่อนกำหนด เราพบเยอะทำไมไม่ไปอาชีวะเพื่อได้อาชีพ เหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือจากชุมชนในหลากรูปแบบ เป็นไปได้ไหมที่จะสร้าง อสม.การศึกษา เหมือนอสม.สาธารณสุข ที่เข็มแข็งมาก“ ดร.ประสาร กล่าว

ระบบการคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษาทั้ง 5 มิตินี้ หากเกิดขึ้นได้จริง ย่อมจะเป็นเสาหลักที่สำคัญของระบบการศึกษาในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และคุณภาพการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายทั้งในและนอกระบบการศึกษา ทั้งในวัยเรียนและในวัยแรงงาน กสศ. จะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งที่มีผู้แทนอยู่ในบอร์ดของเราและหน่วยงานภายนอกอื่นๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบการคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษาทั้ง 5 ด้านในอนาคตอันใกล้นี้

เมื่อประชาชนกลุ่มเป้าหมายหลาย 10 ล้านคนและครัวเรือนเหล่านี้ได้รับความคุ้มครองทางสังคมแล้ว ความจำเป็นในการพึ่งพามาตรการกู้วิกฤติในภาวะฉุกเฉินอย่างที่ผ่านมาก็จะลดลง ระยะเวลาที่ใช้ในการกลับสู่ภาวะปกติก็จะลดลง เพราะสังคมไทยจะมี “ภูมิคุ้มกัน” เพื่อสู้วิกฤตทั้งในรอบนี้และรอบหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป