‘Locall’โฮสเทลสู่แชริ่งบิซิเนส ทางรอดวิกฤติเพื่อยั่งยืน

‘Locall’โฮสเทลสู่แชริ่งบิซิเนส   ทางรอดวิกฤติเพื่อยั่งยืน

4 เดือนที่ผ่านมาเศรษฐกิจบอบช้ำจากผลกระทบของโควิด-19 ‘Locall’ ดิลิเวอร์รีแพลตฟอร์มจึงเกิดขึ้น ภายใต้แนวคิด ‘ธุรกิจเกื้อกูลชุมชน’จากทีมงานของ Once Again Hostel ที่พลิกสถานการณ์เลวร้ายไปสู่โอกาสใหม่

‘Locall’ ดิลิเวอร์รีแพลตฟอร์มจึงเกิดขึ้น หลายคนเคยได้ยินชื่อ และผ่านตากับรูปถ่ายอาหารแสนน่าทานที่ส่งตรงจากร้านค้าชุมชนของคุณลุงคุณป้าย่านชุมชนประตูผี-เสาชิงช้า ภายใต้แนวคิด ‘ธุรกิจเกื้อกูลชุมชน’ (Inclusive Business) จากทีมงานของ Once Again Hostel ที่สามารถปรับตัวจนสามารถพลิกสถานการณ์เลวร้ายไปสู่โอกาสใหม่โดยยังคงรักษาแก่นของธุรกิจเดิมไว้ได้

มิก-ภัททกร ธนสารอักษร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Once Again Hostel เล่าว่า ก่อนเกิดโควิด-19 Once Again เป็นโฮสเทลที่ตัดอันดับต้นๆในเว็บที่รับจองโฮสเทลในกรุงเทพฯมาตลอดระยะเวลา4 ปี แม้ว่าจะมีคู่แข่งจำนวนมากแต่จุดขายที่ชัดเจนในการดึงคนในชุมชนมามีส่วนร่วมทำให้ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติที่เข้าใจวิธีคิดของโฮลเทลว่า‘ไม่ใช่’แค่ที่พัก ซึ่งหลังจากโควิดระบาดนักท่องเที่ยวจีนหายไปช่วงนั้น ยังไม่ได้รับผลกระทบเพราะกลุ่มลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวฝั่งตะวันตก จากยุโรปและอเมริกา จนกระทั้งเกิดการแพร่ระบาดลุกลามไปทั่วโลก

จากเดือนกพ. เริ่มเห็นสัญญาณ พอถึงเดือนมี.ค. ปรากฏว่า ยอดจองดิ่งเหว ลูกค้ายกเลิกแบบรัวๆหลังจากนั้น ภัททกรและหุ้นส่วนวางแผนที่ปิดบริการเริ่มกลางเดือนมี.ค. แม้ว่ารัฐบาลไม่สั่งปิด เพราะไม่อยากให้เป็นแหล่งที่มีความเสี่ยงการแพร่เชื้อโควิด โดยก่อนปิดให้บริการหาทางออก เพราะจุดประสงค์หลักคือต้องการเก็บพนักงานทุกคนไว้

"เพราะกิจการโฮสเทลในเครือที่ Once Again Hostel และ LUK Hostel ซึ่งเพิ่งเปิดที่สำเพ็งเมื่อปีที่ผ่านมาจนเป็นโฮลเทลอันดับต้นๆได้เพราะองค์ประกอบหลักคือพนักงานทุกคนจำนวน 30 ชีวิต นอกจากนี้ยังมีเด็ก20คนที่รับมาจากทีมเพื่อนบ้าน "สาธารณะ" ที่ทำเรื่องเกี่ยวกับชุมชนปั้นเป็ดเปลี่ยนเมืองรวมทั้งหมด50คน จึงเป็นที่มาของการทำธุรกิจใหม่ในช่วงวิกฤติเพื่อความอยู่รอด "

ทางออกคือการทำ 3 ธุรกิจใหม่เริ่มจาก 1.RISE Cafe เน้นอาหารดิลิเวอรี่ ด้วยการเปลี่ยน Once Again Hostel มาเป็น Once Again Kitchen โดยปรับล็อบบี้เดิมให้กลายเป็นครัวเฉพาะกิจ 2.LUK Home จากเดิมเป็น LUK Hostel สำหรับคนฉุกเฉินที่ไม่สามารถกลับบ้านได้อย่างนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือคนที่ออกจากงานไม่มีที่อยู่ไม่มีที่พัก โดยปรับให้เข้ากับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมจากห้องหนึ่งรับ6คนเหลือ 2 คนและเตียงห่างกัน ห้องเดียวให้รับแค่คนเดียวจากเดิมรับ 2 คนเป็นต้น

3.Locall เริ่มจากย่านประตูผีก่อน ขยายไปที่เยาวราช โดยกระจายพนักงานไปอยู่ใน 3 ธุรกิจใหม่เพื่อให้แต่ละธุรกิจหาเงินมาเลี้ยงน้องๆเหล่านี้ให้อยู่ต่อไปได้สามารถสั่ง ผ่านแอพพลิเคชัน LINE Official @locall.bkk หรือhttps://www.facebook.com/Locall.bkk

ภัททกร บอกว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาเซอร์ไพรส์ เพราะว่าไปได้ดีกว่าที่คิด แต่ยังไม่ถึงจุดที่รายได้จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ แต่ช่วยค่าใช้จ่ายได้ถึง60-70% คาดว่า เดือนต่อไปจะดีกว่านี้ และแม้ว่าโควิดจะเริ่มคลี่คลายแล้วก็ตาม 3 ธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นมา‘ไม่ใช่’ ธุรกิจระยะสั้นอีกต่อไปแล้ว จากโหมดแรกที่ทำเพื่อ ‘เอาชีวิตรอด’ จากสถานการณ์ฉุกเฉิน (โควิด-19) เนื่องจากหลังจากที่ลงมือทำพบว่า ทั้ง 3ธุรกิจใหม่นั้นน่าสนใจและสามารถเติบโตได้ในอนาคตอย่างยั่งยืนด้วยตัวเอง

ยกตัวอย่าง RISE Cafe เป็นร้านขายอาหารที่พยายามไม่ให้เกิดขยะอาหาร (Food Waste) โดยใช้แพกเกจใส่อาหารที่ไม่ใช่พลาสติก เช่น ใช้ถุงกระดาษ ใบบัวห่ออาหาร หรือใช้วิธีผูกปิ่นโต หรือใส่ข้าวผัดในลูกสับปะรด ซึ่งกลายดีสเพลย์อาหารไปด้วยในตัว ขณะที่ LUK Home จะเป็นการพัฒนาที่พักในอนาคตหลังจากโควิดจบ ที่พร้อมปรับตัวรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด ส่วน Locall ถือเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในแง่รู้จักและต่อยอดความคิดของ Once Again Hostel ซึ่งพิสูจน์วิธีคิดแบบโลกสวยว่า สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงและเป็นไปได้

“วิกฤติครั้งนี้ทำให้เราสามารถชูเรื่องของการพัฒนาเมืองและชุมชนจากการแบ่งปัน หรือ แชริ่งอีโคโนมี ได้มากกว่าที่คิดว่าจะแสวงหาโอกาสทางธุรกิจได้อย่างไร”

ภัททกร อธิบายว่า Locall ต้องการขายความเป็น “แชริ่ง คอมมูนิตี้” ในการช่วยเหลือร้านอาหารท้องถิ่นด้วยการแชร์อาหาร แชร์ค่าส่งกัน รวมถึงการแชร์ไอเดียกัน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของ “แชริ่ง บิซิเนส” ทำให้เกิดผลในวงกว้างจนกลายเป็นกรณีศึกษาของแชริ่ง บิสซิเนส แม้ว่าปัจจุบันรายได้จะยังได้ไม่ได้ครอบคลุมรายจ่ายได้ทั้งหมด

ทว่า สิ่งที่ทีมงานได้รับคือความสุข ของทุกคนรอบๆตัวในชุมชน เกิดความผูกพันกันเพราะทุกอย่างแชร์กันตั้งไอเดียยันรายได้ จึงเป็นเหตุผลที่ตั้งราคาขึ้นต่ำให้สั่งซื้อ 300 บาทเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ทุกร้านค้าในชุมชน ให้ทุกร้านได้มีโอกาสขายสินค้า เพราะทุกออร์เดอร์ส่วนใหญ่จะไม่สั่งแค่เจ้าเดียว

"Locall.bkk เป็นสตาร์ทอัพ แบบใหม่ ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน และสามารถสเกลอัพได้ ซึ่งมีกลุ่มทุนให้ความสนใจเยอะมากมีทั้งอยากร่วมทุนและระดมทุน แต่เราพยายามทำให้ Locall เป็นธุรกิจใหม่ไม่ใช่แพลตฟอร์มดิลิเวอรี่ แต่เป็นแชริ่ง อีโคโนมี เพื่อช่วยเหลือชุมชนและพัฒนาสังคมแห่งการแบ่งปันไปยังที่ต่างๆแล้วรายได้จะมาเอง"

ภัททกร กล่าวว่า ปัจจุบันหรือก่อนหน้านี้การทำธุรกิจจะคำนึงถึงผลกำไรเป็นหลักและทำให้บางอาชีพ หรือบางธุรกิจหายไปเพราะถูกดิสรัปจากธุรกิจใหม่ แต่เราอยากทำธุรกิจที่ช่วยส่งเสริมพลัง (Empower) ให้กับธุรกิจท้องถิ่นให้ดีขึ้น โดยเริ่มจากการส่งอาหารให้กับร้านอาหารในชุมชนแต่อนาคต Locall ไม่ได้จบอยู่แค่การส่งอาหารแต่จะเป็นการนำแนวคิดแชริ่งอีโคโนมี ส่งต่อไปทุกที่ทั่วโลก

“หัวใจหลักในการทำแชริ่ง บิสซิเนส ผมและหุ้นส่วน พยายามขายของเก่าซึ่งในที่นี้หมายถึงภูมิปัญญาดั่งเดิมที่หายไปให้กลับมาและอยู่ต่อไปได้ในอนาคตด้วยการแบ่งปันซึ่งกันและกันนั่นเองเป็นเรื่องยากในการทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้กลายเป็นรูปธรรมให้คนสามารถรับรู้และจับต้องได้ ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจและเวลาแต่ว่ายั่งยืนในระยะยาว”