'ไพบูลย์' แนะรัฐแจง 'กม.ข้อมูลส่วนบุคคลฯ' 

'ไพบูลย์' แนะรัฐแจง 'กม.ข้อมูลส่วนบุคคลฯ' 

นักวิชาการออกโรงชี้ดีอีเอสควรทำไกค์บุ๊คชี้แจงประชาชนถึงสิทธิพรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล หลังครม.มีมติเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายบางมาตรออกไป ชี้ถือเป็นผลดีให้ทุกฝ่ายมีโอกาสปรับตัว-เตรียมความพร้อม ระบุควรใช้โอกาสนี้ปูพื้นความรู้ประชาชน-ผู้ประกอบการ

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไซเบอร์ แสดงความเห็นส่วนตัวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ออกร่างพระราชกฤษฎีกาขยายเวลาการบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ออกไป โดยระบุว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการขยายเวลาการบังคับใช้บางมาตราไม่ใช่การเลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย แต่เป็นการยกเว้นการบังคับใช้บางมาตรา หรือบางกิจการ โดยข้อดี คือ จะทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาเพิ่มเติมในการเตรียมพร้อมด้านบุคลากร เทคโนโลยี และกระบวนการเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ขณะที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) จะมีเวลาตรวจสอบและออกหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับแนวปฎิบัติที่แต่ละธุรกิจที่มี

ทั้งนี้ ในส่วนของประชาชน การบังคับใช้ยังคงมีสิทธิตามกฎหมาย หากมีผู้ละเมิดสิทธิหรือข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนโดยไม่ได้รับความยินยอม เช่น นำภาพของประชาชนไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับการยินยอม สามารถฟ้องร้องทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาได้ตามกฎหมาย

อย่างไรก็ดี พอยกเว้นบางกิจการถ้าลูกจ้างในกิจการที่ได้รับการยกเว้นไปทำการละเมิดการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะมีต้องรับโทษส่วนบุคคล เช่น มีบุคลากรทางการแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาล แม้ พรฎ. จะยกเว้นกิจการแพทย์ แต่ถ้ามีการเอาข้อมูลคนไข้ไปขายหรือเอาไปโดยไม่ได้การอนุญาต ผู้ที่นำไปย่อมีความผิด ต้องรับผิดตามกฎหมาย การที่รัฐบาลเลื่อนการบังคับใช้จึงเป็นการเลื่อนเพื่อให้กิจการนั้นๆ ได้เตรียมความพร้อม แต่กฎหมายยังคุ้มครองสิทธิของประชาชนทั่วไปอยู่

เขา เสริมว่า ข้อดีอีกข้อของการยกเว้น คือ แม้จะมีการยกเว้นในบางกิจการ แต่มาตรการคุ้มครองข้อมูลในส่วนบุคคลยังต้องมีอยู่และดำเนินไป เช่น กิจการโรงพยาบาล การศึกษา ได้รับการการยกเว้นก็จริงแต่ต้องมีมาตรการในการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลต่อไปถ้าไม่มีจะมีโทษ หมายความว่าถึงจะยกเว้นแต่ยังมีมาตรการป้องกันคุ้มครองข้อมูลให้ประชาชนอยู่ ถ้าไม่มีหรือไม่เตรียมมาตรการหน่วยงานนั้นจะมีความผิดต้องมีมาตรการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเสียหาย

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงสิทธิและการคุ้มครองที่ได้รับจากฎหมาย กระรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายควรทำ คู่มือ หรือ ข้อมูลชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงสิทธิของตนเองอย่างง่าย อาจจะทำเป็นอินโฟกราฟิก หรือสื่ออย่างก็ได้ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และกระทรวงฯ ควรมีหน่วยงานฮอตไลน์ ให้คำปรึกษากับประชาชนในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง โดยสามารถให้คำแนะนำได้ว่าการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ทำได้แค่ไหน และควบคู่กับไปกระทรวงฯ ควรทำคำชี้แจงถึงเหตุผลในการขยายเวลาในกิจการนั้นๆ ว่ามีเหตุผลอย่างไรจึงมีความจำเป็นต้องขยายเวลา ข

“ขอย้ำว่า ทุกกิจการสิ่งที่ต้องทำคือการป้องกันการรั่วไหลข้อมูล การป้องกันการละเมิด จะต้องมีมาตรการพื้นฐาน และมีรายละเอียดของระดับของการอนุญาตให้ผู้เกี่ยวข้องใข้ข้อมูลได้ในระดับใดเพื่อเป็นความเข้าใจร่วมกันของแต่ละกิจการเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในระหว่างการเตรียมการเป็นไปอย่างราบรื่น”