‘เจ้าหนี้หุ้นกู้’ เชื่อมั่น ‘การบินไทย’ จ่ายคืนครบ

‘เจ้าหนี้หุ้นกู้’ เชื่อมั่น ‘การบินไทย’ จ่ายคืนครบ

เจ้าหนี้หุ้นกู้ “การบินไทย” มั่นใจได้เงินคืน เชื่อมั่นกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ช่วยให้บริษัทแข็งแกร่งขึ้น และมีกำไรได้ ด้าน “แอลเอชฟันด์”เผยมีมุมมองบวก ขอเพียงมีกระบวนการฟื้นฟูที่ดี

แหล่งข่าวจากกองทุนในฐานะเจ้าหนี้หุ้นกู้บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)(THAI)  เปิดเผยว่า แม้การบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ แต่ยังมั่นใจว่าการบินไทยจะชำระคืนหนี้หุ้นกู้ โดยเชื่อมั่นว่าหากการบินไทยกลับมาดำเนินการต่อได้ และมีการปรับโครงสร้างภายในเสร็จสิ้น น่าจะกลับมามีกำไร หรือสามารถลดต้นทุนต่างๆ จะมีเงินกลับมาราวหมื่นล้าน

เหมือนกรณีสายการบินเจเปนแอร์ไลน์ ที่เคยปัญหาในลักษณะเดียวกัน แต่หลังจากนั้นราว2ปีราคาหุ้นก็กระโดดขึ้นมาได้ และมีโอกาสกำไร (Upside gain) ในฝั่งของการแปลงหนี้เป็นทุนส่วนหนึ่ง อีกทั้งยังมีการชำระคืนหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอีกส่วนหนึ่ง

จากการวิเคราะห์งบการเงินของการบินไทยในทุกจุดช่วงไตรมาส4ปีก่อน พบว่า ในแง่กระแสเงินสด การบินไทยยังมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ หากไม่เกิดสถานการณ์โควิด-19 และแนวทางที่ภาครัฐจะเข้ามาดูแล มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง2สัปดาห์

นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด หรือ LH Fund เปิดเผยว่า ในฐานะเจ้าหนี้ ขณะนี้เรายังมีมุมมองเชิงบวกต่อการบินไทย เป็นโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น   มองว่ายังเป็นความหวังได้ ขอเพียงกระบวนการฟื้นฟูที่ดี เมื่อผ่านพ้นไป2-3ปี องค์กรน่าจะกลับมาแข็งแกร่งขึ้น ราคาหุ้นก็กลับมาขึ้นตามปกติได้ เหมือนหลายบริษัทที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูในช่วงวิกฤติปี2540 

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เตรียมพร้อมสภาพคล่องของกองทุนมากกว่าภาวะปกติ  โดยกองทุนรวมที่ลงทุนหุ้นกู้การบินไทยมี2กอง เป็นกองทุนตราสารหนี้และกองทุนผสม มีสัดส่วนการลงทุนไม่ถึง1% โดยยังคงให้ผลตอบแทนได้ตามปกติ เนื่องจากยังมีสินทรัพย์ลงทุนอื่นที่มีคุณภาพกว่า90%

อย่างไรก็ตาม เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหน่วยลงทุนทุกราย บริษัทได้แยกส่วนการลงทุนที่เป็นหุ้นกู้การบินไทย ออกจากการลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่นๆของกองทุน(Set Aside) มีผลตั้งแต่วันที่19 พ.ค.2563 เป็นต้นไป เมื่อกองทุนได้รับชำระหนี้คืนเรียบร้อยแล้ว บริษัทจะจัดสรรคืนเงินให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนตามสัดส่วน ณ วันที่มีการทำSet Aside

“การทำ Set Aside เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ลงทุนเก่ากับใหม่ ซึ่งนักลงทุนมีคำถามต่อว่ายังมีตราสารหนี้ตัวอื่นที่จะมีปัญหาหรือไม่ แจ้งไปว่า พอร์ตลงทุนตอนนี้เป็นตราสารหนี้คุณภาพ และเป็นบริษัทมีกระแสเงินสดเท่านั้น นักลงทุนสามารถแยกแยะได้อยู่แล้ว”