นอนแบงก์เบรก‘สินเชื่อนาโน’หวั่น‘ โควิด’ซ้ำเติมหนี้เสียพุ่ง

นอนแบงก์เบรก‘สินเชื่อนาโน’หวั่น‘ โควิด’ซ้ำเติมหนี้เสียพุ่ง

“นอนแบงก์” เบรกปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ หวั่น “โควิด” ดันหนี้เสียพุ่ง “กรุงศรีคอนซูมเมอร์” เลื่อนกลับมาให้บริการ เหตุไม่ใช่จังหวะเหมาะสม ขณะ “เอ็นพีแอล” ของเก่ายังค้าง 11% ด้าน “ไชโย” สั่งลดวงเงิน พร้อมคุมเข้มปล่อยกู้ ชี้สถานการณ์ยังไม่เอื้อ

นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ “กรุงศรีคอมซูมเมอร์” กล่าวว่า บริษัทได้หยุดปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งอยู่ภายใต้แบรนด์ “สินเชื่อเถ้าแก่ทันใจ” ไปแล้ว ซึ่งเดิมบริษัทวางแผนว่าจะกลับมาให้บริการสินเชื่อดังกล่าวใหม่ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” จึงเชื่อว่าเวลานี้ยังไม่ใช่จังหวะดีที่จะกลับมาให้บริการ

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน บริษัทมียอดบัญชีคงค้าง ภายใต้แบรนด์ “สินเชื่อเถ้าแก่ทันใจ”อยู่ราว 2.8 พันบัญชี คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อคงค้างราว 43 ล้านบาท ขณะที่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 11% จากยอดปล่อยกู้ทั้งหมด ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา มีลูกหนี้นาโนไฟแนนซ์ เข้าโครงการพักหนี้กับบริษัทแล้วราว 756 คน

"ตอนนี้แผนการกลับมาลุยสินเชื่อนาโนฯใหม่อีกครั้งคงต้องดีเลย์ออกไปก่อน เพราะไม่ใช่จังหวะเหมาะในการกลับมาลุย พอร์ตเดิมก็มีแต่ลดลงเรื่อยๆเพราะเราไม่ได้ปล่อยใหม่ ขอดูสถานการณ์จนกว่าโควิด-19จะชัดเจนก่อน ค่อยกลับมาลุยอีกครั้ง

ด้าน นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ หรือสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ บริษัทมีการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังมากขึ้น ภายใต้ความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และจากผลกระทบของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และลดวงเงินการปล่อยสินเชื่อ เพื่อรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ในปัจจุบัน เฉลี่ยอยู่ที่ราว 2-4 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่เคยปล่อยสินเชื่อระดับ 5 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท ขณะเดียวกันหากดูยอดสินเชื่อคงค้างปัจจุบันถือว่าต่ำมาก มียอดคงค้างเพียงระดับ 2 ล้านบาท ขณะที่เอ็นพีแอลถือว่ามีสัดส่วนค่อนข้างน้อยไม่ถึงระดับ 1%

“นาโนไฟแนนซ์เป็นสินเชื่อที่พึ่งระวังมาก แม้เอ็นพีแอลของพอร์ตนี้จะอยู่ในระดับต่ำ และสินเชื่อรวมไม่ถึง 5% ของสินเชื่อรวมทั้งบริษัท แต่ภายใต้ภาวะแบบนี้ ก็ต้องทั้งเข้มงวดการปล่อยกู้มาก เพราะหากทำแล้วเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมา เราก็ตาย ดังนั้นก็ต้องเฝ้าระวัง เพราะตอนนี้ลูกค้าที่ไม่ไหวก็เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ พักหนี้อยู่ แต่หลังจากนี้เชื่อว่า เอ็นพีแอลก็พร้อมจะไหลมาแน่นอน ดังนั้นเราขอให้สถานการณ์โควิด-19 เบาลงก่อน หากฟ้ายังไม่ใส โควิดยังไม่เคลียร์ ก็น่าจะยังไม่ลุย หากเราไม่มั่นใจว่าจะคุมเอ็นพีแอลอยู่ ก็ไม่ปล่อย”

ล่าสุดจากข้อมูลสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สิ้นสุดเดือนมี.ค. 2563 พบว่า ไตรมาสแรกปีนี้ เป็นครั้งแรก ที่เห็นยอดเอ็นพีแอลของธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ปรับลดลง จากก่อนหน้าที่เอ็นพีแอลปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดเอ็นพีแอลคงค้างอยู่ที่ 1,307 ล้านบาท โดยลดลง 11.9% หากเทียบกับช่วงสิ้นปีก่อน ที่เอ็นพีแอลมียอดคงค้างรวมอยู่ที่ 1,485 ล้านบาท แต่ขณะเดียวกันหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่าเอ็นพีแอลปรับเพิ่มขึ้นที่ 33% จากเอ็นพีแอลคงค้าง 982 ล้านบาท

ทั้งนี้สำหรับจำนวนบัญชีของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ พบว่าปรับลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 9.7 แสนบัญชี จาก1.1ล้านบัญชี ลดลง 17% เทียบกับสิ้นปีก่อน และลดลง 48% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้าง ปรับลดลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยลดลง 9.1% มาอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท จาก 1.9 หมื่นล้านบาทในช่วงสิ้นปีก่อน และลดลง 42% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท