เจ้าหนี้ไทย-ต่างชาติ เปิดทางฟื้นฟู 'การบินไทย'

เจ้าหนี้ไทย-ต่างชาติ เปิดทางฟื้นฟู 'การบินไทย'

เจ้าหนี้แบงก์ไทย-เทศ มูลหนี้ 1.4 แสนล้านบาท ตั้งที่ปรึกษากฎหมายยื่นขอชำระหนี้ ”การบินไทย” หลังยื่นขอฟื้นฟูกิจการ “บอร์ดวายุภักษ์” ถกวันนี้ซื้อหุ้น คาดใช้ราคาเฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง มีส่วนลด 15-20% วงเงิน 600-700 ล้าน

กระบวนการฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านศาลล้มละลายกลางเริ่มมีทางออกเมื่อเจ้าหนี้ทั้งไทยและต่างประเทศ ส่งสัญญาณในทางบวกว่าจะให้การสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ แม้ว่าในขณะนี้จะไม่ลงรอยกันระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่ (กระทรวงการคลัง) และกระทรวงคมนาคมในฐานะฝ่ายปฏิบัติการก็ตาม

แหล่งข่าวจากเจ้าหนี้สถาบันการเงิน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) แห่งหนึ่ง เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ขณะนี้เจ้าหนี้สถาบันการเงินทุกแห่งของการบินไทย แต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายของตัวเอง เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการยื่นขอชำระหนี้จากการบินไทย ภายหลังจากที่การบินไทย ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และศาลล้มละลายกลางอนุมัติให้ฟื้นฟูกิจการ

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมในฐานะที่ได้รับมอบหมายจาก ครม.ให้เป็นเจ้าภาพหลักการในฟื้นฟูกิจการการบินไทย คาดว่าจะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางได้ในเดือน มิ.ย.นี้ ก่อนจะนำคำร้องเดียวกันไปยื่นต่อศาลล้มละลายของสหรัฐ

จากงบการเงินปี 2562 การบินไทยมีหนี้ที่ต้องชำระ 147,352 ล้านบาท แบ่งเป็น

1.หนี้ภายใต้แผนเช่าซื้อเครื่องบิน ที่มีเครื่องบิน 32 ลำ เป็นหลักประกัน 46,456 ล้านบาท เช่น ธนาคารจากฝรั่งเศส และกลุ่มธนาคารจากญี่ปุ่นที่จะปล่อยกู้ลิสซิ่งเครื่องบิน

2.หนี้ไม่หลักประกัน ประกอบด้วย หนี้ที่ชำระเป็นเงินบาท ได้แก่ หู้นกู้ 74,108 ล้านบาท หนี้สถาบันการเงินในประเทศ 2,000 ล้านบาท เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย หนี้ระยะยาวจากสถาบันการเงินต่างประเทศ 8,873 ล้านบาท เช่น แบงก์จากเยอรมัน แบงก์จากอเมริกา และหนี้ระยะสั้นอีก 3,500 ล้านบาท

หนี้ที่ต้องชำระเป็นเงินตราต่างประเทศ ได้แก่ เงินยูโร ของกระทรวงการคลัง คิดเป็นเงินไทย 11,977 ล้านบาท และหนี้เงินเยน ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) คิดเป็นเงินไทย 437 ล้านบาท

158999465334

“เจ้าหนี้มองว่า ถ้าแผนฟื้นฟูการบินไทยเดินหน้าได้เร็ว และในแผนฟื้นฟูมีการ Spin off บางธุรกิจออกไป เชื่อว่าภายใน 1 ปี การบินไทยจะกลับมาได้” แหล่งข่าวกล่าว

“เมื่อก่อนคลังถือ 51% เมื่อการบินไทยไปโรดโชว์จะง่ายในการสร้างความเชื่อมั่น เพราะมีรัฐหนุนหลัง แต่ต่อไปเมื่อไม่มีรัฐการันตีให้แล้ว คำพูดก็ไม่มีความหมาย ต้องโชว์ด้วยผลประกอบการอย่างแท้จริง เว้นแต่รัฐจะออกหนังสือค้ำประกันให้ ซึ่งเป็นไปได้ยาก”

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังขายหุ้นการบินไทย 3% ทำให้การบินไทยพ้นสภาพของการเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น ต่อไปเมื่อการบินไทยโรดโชว์ต่างประเทศ นักลงทุน หรือเจ้าหนี้จะพิจารณาการบินไทยจากผลการดำเนินงานที่แท้จริง และอาจมีผลถึงรัฐวิสาหกิจอื่นที่มีรัฐถือหุ้นด้วย

“เมื่อก่อนคลังถือ 51% เมื่อการบินไทยไปโรดโชว์จะง่ายในการสร้างความเชื่อมั่น เพราะมีรัฐหนุนหลัง แม้รัฐจะไม่ได้ค้ำประกันให้ก็ตาม แต่ต่อไปเมื่อไม่มีรัฐการันตีให้แล้ว คำพูดก็ไม่มีความหมาย ต้องโชว์ด้วยผลประกอบการอย่างแท้จริง เว้นแต่รัฐจะออกหนังสือค้ำประกันให้ ซึ่งเป็นไปได้ยาก”

  • ถกขายหุ้นบินไทยเข้าวายุภักษ์วันนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วันนี้ (21พ.ค.) คณะกรรมการกองทุนวายุภักษ์ที่มี นายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งรับมอบจากนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมพิจารณาอนุมัติเข้าซื้อหุ้นการบินไทยตามที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ผ่านมา

ทั้งนี้ ครม.อนุมัติให้กองทุนวายุภักษ์ 1 เข้าซื้อหุ้น 3.17% ในการบินไทยจากกระทรวงการคลัง จะทำให้กระทรวงการคลังมีสัดส่วนหุ้น 48% จากเดิม 51%

  • เคาะส่วนลด15-20%จากราคาตลาด

สำหรับราคาที่จะเข้าซื้อได้หารือรอบคอบเพื่อดูราคาให้เหมาะสมทั้ง 2 ฝ่าย เพราะตอนนี้ราคาหุ้นการบินไทยขยับขึ้นมา ในส่วนผู้ซื้อต้องการซื้อราคาต่ำ ส่วนคนขายอยากขายราคาสูง ดังนั้นเบื้องต้นได้หารือว่าควรซื้อขายกันในราคาเฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง พร้อมมีราคาส่วนลดอีก 15-20% คาดว่ากองทุนวายุภักษ์ 1 จะใช้เงินเข้าซื้อราว 600-700 ล้านบาท

“คณะกรรมการได้ประชุมนอกรอบ เพื่อพิจารณาราคาขายหุ้นก่อนเข้าสู่การประชุมคณะกรรรมการวันนี้ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ร่วมประชุมด้วย โดยสรุปว่าเราจะซื้อขายในราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วันก่อนวันซื้อ และดิสเคาวน์อีก 15-20% ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสม”

ทั้งนี้ หลังคณะกรรมการมีมติ ทางกองทุนวายุภักษ์ 1 จะเข้าซื้อโดยเร็วที่สุดหรือภายในสัปดาห์หน้า

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและกองทุนวายุภักษ์ 1 จะเร่งสรุปการซื้อขายหุ้นการบินไทยโดยเร็วที่สุดหรือภายในสัปดาห์หน้า โดยราคาการซื้อขายจะต่ำกว่าราคาทุนก็สามารถทำได้ โดยไม่ขัดกับข้อกฎหมายใด ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เมื่อได้ข้อสรุปจะเรียนคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบอีกครั้ง

ส่วนการตั้งพรรคใหม่นั้น ยืนยัน ไม่มี เป็นข่าวลือข่าวปล่อย ซึ่งไม่ทราบว่า เพื่ออะไร เพราะวันนี้เราก็ตั้งใจทำงานเพื่อประเทศ ฉะนั้น ข่าวที่ออกมา จึงเป็นข่าวปล่อย

  • เดือน หุ้นบินไทย’ ชน ซิลลิ่ง

การเคลื่อนไหวหุ้นการบินไทย พบว่าราคาขึ้นชนเพดานการซื้อขายสูงสุด (ซิลลิ่ง) โดยปิดตลาดวานนี้ (20พ.ค.) ที่ระดับ 5.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.70 บาท หรือ 14.89% เป็นการทำซิลลิ่งครั้งที่ 8 ในรอบ 2 เดือน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของหุ้นการบินไทยที่หวือหวาว่า ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ แต่ปกติ ตลท.ตรวจสอบหุ้นทุกตัวที่เคลื่อนไหวผิดปกติ แต่ไม่เปิดเผยข้อมูลให้รับทราบ หากพบว่าหุ้นตัวใดผิดปกติเรื่องการซื้อขายจะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ดำเนินการตรวจสอบทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะนี้ทีมงานนายกรัฐมนตรีได้รับรู้แล้วว่ามีขบวนการสร้างราคาหุ้นการบินไทย และกำลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ

  • โบรกฯ เตือนหุ้นฟื้นฟูเสี่ยงสูง

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ระบุว่าการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลาย แม้จะเป็นทางรอดของธุรกิจ แต่เป็นเรื่องเจ็บปวดของผู้ถือหุ้น เพราะโดยหลักการต้องลดทุนจดทะเบียน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเดิมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นจึงจะเจรจากับเจ้าหนี้

การลดทุนจดทะเบียนลงจนใกล้ศูนย์ มีนัยสำคัญต่อราคาหุ้นอย่างมาก เพราะในทางทฤษฎี หมายถึงหุ้นแทบไม่เหลือมูลค่าอะไรเลย ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจที่ในอดีต ราคาหุ้นของบริษัทที่มีแนวโน้มเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ส่วนใหญ่จะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจนแทบจะเป็นศูนย์ เพราะเป็นการสะท้อนความเสี่ยงในการถูกลดทุน

จากการรวบรวมข้อมูลของบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลาย 52 บริษัท แบ่งเป็น

1. บริษัทที่ฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จ ถูกเพิกถอนออกจากตลาด 20 บริษัท หรือคิดเป็นสัดส่วน 38%

2. บริษัทที่ยังอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 9 บริษัท ซึ่งปัจจุบันถูกระงับการซื้อขาย

3. บริษัทที่ฟื้นฟูกิจการสำเร็จกลับมาซื้อขายได้ 23 บริษัท คิดเป็นสัดส่วนที่ 44% โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาฟื้นฟูกิจกา 7 ปี (ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP สูงสุด 18 ปี, น้อยสุด 1 ปี)