วิกฤติโควิดหนุนอีคอมเมิร์ซพุ่ง คาดทั้งปีสะพัด 2.2 แสนล้าน โต 35%

วิกฤติโควิดหนุนอีคอมเมิร์ซพุ่ง คาดทั้งปีสะพัด 2.2 แสนล้าน โต 35%

“ไพรซ์ซ่า” ผ่าเทรนด์อีคอมเมิร์ซ 2563 คาดโต 35% มูลค่าแตะ 2.2 แสนล้านบาท โควิด-19 หนุนพฤติกรรมใหม่ผู้บริโภค ดันค้าบนออนไลน์บูม คาดครึ่งปีหลังตลาดยังโตได้ต่อ อีมาร์เก็ตเพลสยิ่งแข่งเดือด ออมนิแชนแนลเพิ่มบทบาท อีคอมเมิร์ซกลายเป็นทางรอดไม่ใช่แค่ทางเลือก

จับตาอีมาร์เก็ตเพลสแข่งเดือด

สำหรับช่องทางที่ผู้บริโภคไทยนิยมใช้ในการซื้อของออนไลน์ เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูลของเอ็ตด้า จะพบว่า จากปี 2561 ที่สัดส่วนการซื้อขายมาจากโซเชียลมีเดีย 40% อีมาร์เก็ตเพลส 35% และแบรนด์ดอทคอม 25% ปี 2562 โซเชียลมีเดียลดลงเหลือ 38% อีมาร์เก็ตเพลสเพิ่มขึ้นเป็น 47% และแบรนด์ดอทคอมลดลงเหลือ 15%

จะเห็นได้ว่าอีมาร์เก็ตเพลสมีสัดส่วนที่มากขึ้น ซึ่งปัจจัยมาจากทั้งการมาของผู้เล่นหน้าใหม่ ขณะเดียวกันผู้เล่นต่างพยายามปรับตัว และพัฒนาตัวเองไปสู่การเป็นผู้บริการที่ครบวงจร มีการเพิ่มฟีเจอร์ ฟังก์ชั่นเชิงโซเชียลมีเดียเข้าไปเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการที่มีเอกลักษณ์ของตลาด คาดว่าจากนี้การแข่งขันจะยิ่งดุเดือดมากขึ้นอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี แม้สัดส่วนของโซเชียลคอมเมิร์ซจะลดลงเล็กน้อย ทว่ายังคงเติบโต แต่ที่ลดลงชัดเจนคือแบรนด์ดอทคอมเหตุผลเนื่องจากการทำธุรกิจผ่านเว็บไซต์ต้องลงทุนสูง ต้องมีความรู้ความเข้าใจเชิงลึก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับรายใหม่ที่จะเข้ามาจับตลาดนี้

ข้อมูลระบุด้วยว่า ปี 2562 ส่วนแบ่งการตลาดของผู้เล่นอีมาร์เก็ตเพรสช้อปปี้มีอยู่ประมาณ 54% ลาซาด้า 46% ในโซเชียลคอมเมิร์ซเฟซบุ๊ค 42% ไลน์ 34% อินสตาแกรม 19% และทวิตเตอร์ 5%

ด้านความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยช่วงการระบาดโควิด-19 ระหว่างเดือนม.ค.-ก.พ. เทียบกับช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. พบว่า ความต้องการบริโภคกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มสูงขึ้นกว่า 29% โดยเฉลี่ย

โดยหากแยกตามกลุ่มสินค้า สุขภาพและความงามเติบโต 34% สินค้าอุปโภคในครัวเรือนโต 34% หนังสือ 27% เครื่องใช้ไฟฟ้า 22% คอมพิวเตอร์ 4% เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ภายในบ้าน 2%

เมื่อเจาะลึกสินค้าที่ในกลุ่มสุขภาพและความงาม พบว่า สินค้าที่มีปริมาณความต้องการมากที่สุดได้แก่ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เครื่องวัดอุณหภูมิ เจลล้างมือ สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ตามลำดับ

ส่วนกลุ่มสินค้าที่มียอดขายลดลงได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสารลดลง 27% กีฬา สัตว์เลี้ยง และของสะสม 28% เสื้อผ้าและแฟชั่น 41% รถ ยานพาหนะ 44%

สำหรับไพรซ์ซ่า ทิศทางธุรกิจมุ่งเป็นผู้ให้บริการมัลติ-แชนแนลอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มที่จะเข้าไปช่วยให้ธุรกิจออนไลน์สามารถเพิ่มยอดขายออนไลน์ได้มากขึ้น คาดว่าปีนี้ผลประกอบการจะเติบโตได้ถึง 50% หลักๆ มาจากการขายโฆษณาที่ให้บริการอยู่ในหลากหลายช่องทาง