ฉากทัศน์อนาคตไทย ‘Resilient SME’ ทางรอด COVID-19

ฉากทัศน์อนาคตไทย ‘Resilient SME’ ทางรอด COVID-19

COVID-19 จู่โจมมนุษย์และธุรกิจได้อย่างทรงพลัง รวดเร็ว และรุนแรง จนคนตัวเล็กอย่าง SMEs เริ่มสุดจะทัดทานได้ และเกิดคำถามว่าจะอยู่หรือจะไป? และทางรอดทางเลือกของธุรกิจ SMEs หลังจากนี้จะต้องเดินไปทางใด?

วิกฤตการณ์โรคอุบัติใหม่อย่างกรณี COVID-19 ทำให้ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องปรับให้มียุทธศาสตร์สร้างความยืดหยุ่น (Resilience Strategy) ต่อความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลง  หากประเทศไม่มียุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดี ยืดหยุ่น รวดเร็ว ตอบสนองได้ทันกับสถานการณ์ ประชาชนและธุรกิจก็จะเสี่ยง ประเทศก็จะเสี่ยง แถมกลายเป็นเกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติ

สหประชาชาติ นิยาม Resilience ว่า หมายถึงความสามารถของระบบ ชุมชน หรือสังคมที่เผชิญกับภัยอันตราย จะสามารถต่อต้าน ดูดซับ จัดการและฟื้นตัวจากผลกระทบของอันตรายได้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังสามารถเก็บรักษาและฟื้นฟูโครงสร้านพื้นฐานที่จำเป็นไว้ได้ หรือเราอาจพูดภาษาง่ายๆ ได้ว่า เมื่อเจอภัย เราต้องรอด หรือถ้าเราล้ม เราก็ต้องลุกขึ้นได้อย่างรวดเร็ว 

อย่างไรก็ดี Resilience ก็มีหลายระดับที่ต้องขบคิดกัน ไล่ไปตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับธุรกิจ ระดับเมือง และระดับประเทศ ผู้คนจะมีชีวิตอยู่รอดไปได้อย่างไร ธุรกิจ เศรษฐกิจจะประคองตัวไม่ให้ล้มได้อย่างไร หรือถ้าล้มแล้วจะต้องลุกขึ้นมาใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ล้มหายตายจากกันไปทั้งคนและเศรษฐกิจ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

ในมุมของธุรกิจไทย SMEs คือธุรกิจที่มีจำนวนถึงประมาณ ล้านราย หรือคิดเป็น 99.8% ของจำนวนวิสาหกิจ ที่สำคัญ SMEs ยังเป็นแหล่งจ้างงานหลักของประเทศ แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต่อ GDP ของกลุ่ม SMEs พบว่ามีค่าเฉลี่ยประมาณ 40% ตั้งแต่ปี 2550 มาจนถึงปัจจุบัน

ที่ผ่านมา ขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs มักมีอย่างจำกัด ทั้งจากศักยภาพ SMEs เองและมาตรการการส่งเสริมที่ยังไม่สามารถสร้างศักยภาพให้ SMEs ได้อย่างเต็มที่ SMEs จำนวนไม่น้อยจึงยังขาดความรู้ทางการเงิน ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ สินค้ายังมีคุณภาพและมาตรฐานไม่ดีพอ ขาดความสร้างสรรค์และความแตกต่าง

นอกจากนี้ SMEs จำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ขาดการพัฒนาแรงงานอย่างเป็นระบบ แต่ก็มี SMEs จำนวนหนึ่งที่สามารถสร้างสินค้าบริการได้อย่างโดดเด่น เน้นแข่งขันที่คุณภาพไม่ใช่แข่งขันที่ราคา แต่ยังเป็น SMEs ที่เป็นส่วนน้อย

SMEs ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะรายเล็ก มีความสามารถในการรองรับผลการกระแทกทางเศรษฐกิจอย่างกะทันหัน (shock) จาก COVID-19 ได้น้อย ที่สำคัญ SMEs มีสายป่านที่สั้นกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ และที่น่ากังวลก็คือ SMEs ไทยประมาณ 30% ยังไม่มีแผนในการปรับตัวกับวิกฤติ COVID-19 ในขณะที่วิกฤตินี้ไม่ได้อยู่เพียงแค่เดือน 2 เดือน แต่ผลกระทบคาดว่าจะยาวไปเป็นปี 2 ปี

ภาพอนาคตไทยหลังโควิด-19 โดยภาพรวมแล้ว คนต้องการความปลอดภัย คำนึงถึงสุขอนามัย วิถีชีวิตคนเปลี่ยนไป ธุรกิจต่างๆ จึงต้องเข้าใจความกังวลเรื่องนี้ SMEs ที่อยู่ได้ มีโอกาสรอดจากวิกฤติ คือ SMEs ที่ยืดหยุ่น ปรับตัวเก่ง ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว จากโอกาสมากมายที่เกิดขึ้นจากวิกฤติ

SMEs ไทยควรเร่งปรับตัว กรณีภาคการผลิต SMEs ต้องเร่งพัฒนาเรื่องมาตรฐาน คุณภาพสินค้า นวัตกรรม ส่วนกรณีภาคบริการยังคงต้องมีการจัดระยะห่างทางสังคม ต้องพัฒนามาตรฐาน ความปลอดภัย ในขณะที่กรณีการค้าปลีก/ค้าส่ง ต้องปรับสู่ช่องทาง E-commerce มากขึ้น พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ปรับไทยเข้าสู่โลกดิจิทัล

ในระยะสั้น ภาครัฐควรดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้ปรับตัวได้ ต้องมีนโยบายส่งเสริม เพื่อให้เกิด ‘Resilient SME’จำนวนมาก รวมถึงเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้ SMEs เข้าใจสถานการณ์จริง วางแผนรองรับ  ต้องตระหนักถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด พร้อมประเมินสิ่งที่มีความสำคัญต่อความอยู่รอด และควรส่งเสริม SMEs ให้มีความสามารถตอบสนองต่อวิกฤติได้ดีขึ้น

ส่วนในระยะกลางและระยะยาว ภาครัฐจะต้องมีนโยบายส่งเสริม SMEs ต้องเร่งเครื่องเน้นการเพิ่มศักยภาพ ขีดความสามารถในการแข่งขันและปรับตัวให้เข้ากับโลกหลัง COVID-19 ที่เปลี่ยนไป วาระการพัฒนาเพื่อส่งเสริมให้ SMEs ที่สำคัญ ได้แก่

1) Smart Enterprises โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับโฉม SMEs เป็น Innovation-Driven Enterprise (IDE) ใช้ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมเข้ามาช่วยยกระดับธุรกิจ

2) ส่งเสริมวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าและช่วยให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี (Technology Transfer) และการสร้างแบรนด์

3) Digital Transformation สู่ธุรกิจแห่งอนาคตและมีขีดความสามารถรับมือกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและความเสี่ยงในอนาคต รวมถึงพัฒนา Big Data ให้ตอบโจทย์ SMEs

4) พัฒนาทักษะเพื่ออนาคต (Future Skill) 

5) สร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง (Collaboration Platform)

ธุรกิจ SMEs ที่จะยืนอยู่ได้ รอดพ้นจากวิกฤติ COVID-19 ต้องเป็น ‘Smart & Resilient SME’ ทั้งฉลาดยืดหยุ่น และปรับตัวไว วิกฤติครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่จะนับหนึ่งอีกครั้ง เพื่อเติบโตขึ้นไปให้ได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน