การใช้ชีวิตแต่ละวันช่วยป้องกันโควิดช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนได้

การใช้ชีวิตแต่ละวันช่วยป้องกันโควิดช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนได้

ความเข้มแข็งในระดับชุมชนที่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐอย่างจริงจังและการใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นเพื่อช่วยต้านภัยโควิด-19 ในการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่คือหนึ่งในปัจจัยในการควบคุมการระบาด

ย่างเข้าเดือนที่ 5 แล้วที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) โดยเริ่มจากการระบาดในกลุ่มเล็กๆ จากคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ก่อนจะขยายไปสู่คลัสเตอร์ใหญ่ๆ แล้วแพร่กระจายไปทั่วประเทศจนตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 3,000 รายแล้ว อย่างไรก็ดี จากมาตรการต่างๆ ที่รัฐกำหนดก็ทำให้สถานการณ์ในระยะหลังเริ่มคลี่คลายลงไปได้อย่างมาก จากตัวเลขผู้ติดเชื้อหลักร้อยต่อวันก็ลดลงเหลือหลักสิบและหลักหน่วยในที่สุด

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้เลยในการควบคุมการระบาด คือความเข้มแข็งในระดับชุมชนที่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐอย่างจริงจัง ทั้งการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรค การใส่หน้ากาก ล้างมือและรักษาระยะห่างทางสังคม การตรวจเช็คและการกักตัวผู้เข้ามาในพื้นที่ 14 วันจนพ้นระยะฟักตัวของโรค และ การใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นเพื่อช่วยต้านภัยโควิด-19 ในการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ 

158997385176

แกนหลักในการดำเนินการคือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตลอดจนแกนนำภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ งบประมาณจากหลายแหล่งที่ถูกดึงเข้ามาสนับสนุนการทำงานให้ไหลลื่นและจัดหา “ของ” มาใช้ปฏิบัติงาน ทั้งเงินที่ส่วนกลางสนับสนุนลงไป เงินขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เงินบริจาคในชุมชน และยังมีอีกส่วนที่สำคัญคือกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือที่เรียกสั้นๆว่ากองทุนสุขภาพตำบล ซึ่ง สปสช.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลอยู่ มีหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยตรง

“นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนตามมาตรา 47 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแห่งชาติ 2545 ซึ่ง สปสช.ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล สมทบเงินกันจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลพื้นที่ของตัวเอง โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 และพัฒนาความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นจะมีงบประมาณหมุนเวียนในพื้นที่ทุกปี รวมแล้วประมาณ 3,800 ล้านบาท ใน 7,500 ตำบลทั่วประเทศ

158997385446

ทั้งนี้ ปกติแล้วกองทุนสุขภาพตำบลจะเน้นดูแลคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพประมาณ 4-5 มิติ เช่น เด็กเล็ก โรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ เป็นต้น แต่ขณะนี้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งก็มีอยู่กว่า 4,000 ตำบลที่นำงบประมาณไปใช้กับเรื่องนี้ รวมแล้วกว่า 7,000 โครงการ ทั้งในเรื่องการสร้างการรับรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) เพื่อให้ชุมชนรับรู้สุขภาวะของตัวเอง การป้องกัน โดยเฉพาะการหาเจล การทำหน้ากาก เพื่อเป็นการป้องกันคนในชุมชน ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณการประสานงานและติดตามแก่ อสม. ในการเฝ้าระวังผู้มาจากต่างจังหวัดหรือพื้นที่เสี่ยงในพื้นที่ รวมแล้วเป็นวงเงินประมาณ 600 ล้านบาท

158997385947

“แม้ในอนาคตจะมีวัคซีนออกมาได้ แต่สิ่งสำคัญคือพฤติกรรมทางสังคม ในอนาคตโควิด-19 คงอยู่กับเราไปอีกนาน คำถามคือเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เศรษฐกิจต้องเดินหน้า กิจกรรมต่างๆ ที่จะกลับมาดำเนินการจะทำอย่างไร โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สนามกีฬา จะเปิดอย่างไร เรื่องเหล่านี้ต้องมีคำตอบที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินการ สิ่งสำคัญต่อจากนี้ จาก 4,000 ตำบลคงขยายเป็น 7,500 ตำบลในเร็วๆ นี้ในการทำเรื่องส่งเสริมป้องกันโควิด-19 เชื่อว่าถ้า 7,500 ตำบลเข้มแข็ง สามารถขับเคลื่อนภายใต้ทิศทางของกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาล จะสามารถป้องกันควบคุมโรคได้ ปัญหาต่างๆ จะเกิดน้อยลง ทำให้ชีวิตดำรงในสังคมร่วมกันได้”เลขาธิการ สปสช. กล่าว

“ธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม” นายกเทศมนตรีนครรังสิต หนึ่งในท้องถิ่นที่นำงบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบลมาขับเคลื่อนการควบคุมป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 เล่าว่าได้ใช้งบจากกองทุนสุขภาพตำบลประมาณ 6 ล้านบาทใน 3 เรื่องหลักๆ คือ 1.กิจกรรมที่มีผลกระทบกับประชาชนในเชิงพื้นที่ 2.กิจกรรมสนับสนุนเครื่องมือและสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติที่เป็นอาสาสมัคร และ 3.สนับสนุนเครื่องมือและองค์ความรู้แก่เจ้าหน้าที่

158997386165

โดยในช่วงแรกได้ให้ อสม. เป็นผู้จัดทำโครงการขอรับเงินไปดำเนินงานพัฒนาการสอนวิธีทำหน้ากาก ระยะต่อมาคือการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เฝ้าระวังในเชิงพื้นที่ จัดหาน้ำยาฆ่าเชื้อ เจลแอลกอฮอล์เพื่อส่งมอบให้ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนใช้งาน และเมื่อสถานการณ์ดำเนินมาถึงปัจจุบันก็มีการขับเคลื่อนเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มเสี่ยงต่างๆ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ก็ได้นำองค์ความรู้และอุปกรณ์ป้องกันไปให้ รวมทั้งกลุ่มอาชีพผู้ให้บริการ เช่น วินมอเตอร์ไซค์ ผู้ประกอบการรถตู้ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ก็ต้องสร้างมาตรฐาน ให้ความรู้และให้อุปกรณ์ในการป้องกันตัวเช่นกัน

158997384935

“ระยะต่อไปเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆมากขึ้น ทางท้องถิ่นก็เตรียมรับข้อมูลองค์ความรู้จาก สธ. และแนวปฏิบัติของรัฐเพื่อส่งต่อไปยังอาชีพต่างๆ เช่น ถ้าผ่อนคลายเรื่องร้านตัดผม จะเตรียมส่งต่อองค์ความรู้และแนวปฏิบัติอย่างไร” ธีรวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินการขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่อนุมัติงบประมาณ กองทุนสุขภาพตำบลมาขับเคลื่อนการป้องกันโรคโควิด-19 อยู่บนพื้นฐานดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาและยึดประโยชน์รวมเป็นหลัก