กทม.ขอความร่วมมือขนส่งรถ-เรือสาธารณะ เน้นเพิ่มเที่ยวเพื่อเว้นระยะห่าง

กทม.ขอความร่วมมือขนส่งรถ-เรือสาธารณะ เน้นเพิ่มเที่ยวเพื่อเว้นระยะห่าง

กทม.ขอความร่วมมือ "ขนส่งรถ-เรือสาธารณะ" เน้นเพิ่มเที่ยวเพื่อเว้นระยะห่าง รับมาตรการผ่อนปรนระยะต่อไป

เมื่อวันที่ 20 ..63  ณ ห้องรัตนโกสินทร์ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) จากการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRT) บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ร่วมประชุม

ในที่ประชุม ทุกหน่วยงานได้นำเสนอมาตรการและแนวทางการปฏิบัติเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) ซึ่งหลังจากการแพร่ระบาดของโรค พบว่าทุกภาคส่วนมีจำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างชัดเจน และเมื่อมีมาตรการผ่อนปรน เริ่มมีจำนวนผู้โดยสารมากขึ้น ซึ่งทุกหน่วยงานได้เพิ่มขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสารโดยคำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่าง Social Distancing เป็นสิ่งสำคัญ

รวมทั้งการจัดจุดคัดกรอง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่จัดเตรียมไว้ และใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์มากขึ้น ในส่วนของผู้ประกอบการเอกชน หน่วยงานที่ดูแล ได้ขอให้ผู้ประกอบการเคร่งครัดมาตรการเว้นระยะห่าง การเพิ่มเที่ยวเดินรถหรือเรือ และการดูแลรถให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ภายหลังการประกาศมาตรการผ่อนปรนโดยหน่วยงานภาครัฐ พบว่าการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเว้นระยะห่าง Social Distancing ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งจากการหารือร่วมกันทุกหน่วยงานเห็นว่ามาตรการเว้นระยะห่าง Social Distancing เป็นสิ่งสำคัญและยินดีให้ความร่วมมือตามข้อกำหนดของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้หน่วยงานได้เสนอให้ภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการเหลื่อมเวลาการทำงานมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าจะมีนัยสำคัญต่อการแพร่ระบาดของโรค เพื่อเฉลี่ยจำนวนผู้โดยสาร รวมทั้งการกำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการรถโดยสาร ที่ได้รับผลกระทบจากการจำกัดผู้โดยสารต่อเที่ยว และการเพิ่มความถี่ในการบริการมากขึ้น และขอสนับสนุนเจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยบริเวณป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้า ตามมาตรการเว้นระยะห่าง

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาวางแผนเพื่อรองรับมาตรการผ่อนปรนในระยะต่อไป อาทิ การควบคุมจำนวนผู้โดยสารให้พอเหมาะกับมาตรการ Social Distancing การพิจารณาจำกัดจำนวนผู้โดยสารก่อนเข้าใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้ภายในรถโดยสารสามารถปฏิบัติตามมาตรการSocial Distancing ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดระเบียบผู้โดยสารบริเวณสถานี การขึ้นลง จุดยืนรอ การขอความร่วมมืองดการพูดคุยและใช้โทรศัพท์ระหว่างโดยสาร รวมทั้งการดูแลผู้โดยสารในช่วงหน้าฝน เพื่อไม่ให้มีประชาชนตกค้าง โดยอาจเพิ่มความถี่ของเที่ยว