สสส. ห่วงรถสาธารณะ 'ไม่พอ - ไม่เว้นระยะห่าง' หลังคลายล็อกดาวน์

สสส. ห่วงรถสาธารณะ 'ไม่พอ - ไม่เว้นระยะห่าง' หลังคลายล็อกดาวน์

สสส.เผยผลสำรวจระบบขนส่งสาธารณะหลังคลายล็อกดาว์นเมือง “รถไม่พอ-ไม่เว้นระยะห่าง” ห่วงไม่เข้มงวดโควิด-19 กลับมาระบาดซ้ำ เครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ทุกคนเข้าถึงได้ เสนอ ศบค.ใช้ 5 มาตรการควบคุม

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า  ในช่วงการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ โควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางของประชาชนเพิ่ม สสส. จึงสนับสนุนให้เครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ทุกคนเข้าถึงได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจปัญหาระบบขนส่งมวลชน ระหว่างวันที่ 1-8  พฤษภาคม 2563 กลุ่มเป้าหมาย 437 คน และสังเกตการณ์เพื่อเก็บข้อมูลการใช้บริการรถเมล์ 10 จุด ในชั่วโมงเร่งด่วน

158995891339

จากการสำรวจ พบว่า คนส่วนใหญ่ยังคงเดินทางน้อยลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการ ส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุระหว่าง 36-60 ปี มากที่สุด คือ ร้อยละ 64.9 ส่วนใหญ่เดินทางไปทำงาน รองลงมาคือ การไปซื้ออาหารและของใช้จำเป็น ปัญหาที่พบมากที่สุดคือ การมีรถให้บริการไม่เพียงพอ และการที่ผู้ใช้บริการต้องรอนานกว่าในช่วงปกติ รองลงมาคือ การไม่สามารถเว้นระยะห่างจากผู้โดยสารคนอื่นได้เมื่ออยู่ในยานพาหนะ

“คนส่วนใหญ่กังวลเรื่องการเว้นระยะห่างของผู้โดยสารโดยเฉพาะรถตู้แถบชานเมืองในเวลาเร่งด่วน เพราะรับผู้โดยสารเต็มคันโดยไม่มีการให้เว้นที่นั่ง รถเมล์บางสาย บางคันในช่วงเวลาเร่งด่วนมีผู้โดยสารจำนวนมาก ไม่สามารถจะเว้นระยะยืนห่างกัน1-2 เมตรได้ ส่วนรถเมล์ร่วมบริการของเอกชน พบว่ามีการรับคนโดยไม่คำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่างเช่นเดียวกับรถสองแถวที่มีผู้โดยสารนั่งและยืนเต็มคัน"

"ส่วนเรือโดยสาร การขึ้น-ลงที่ท่าเรือ มีการกำหนดจุดให้เว้นระยะห่าง แต่ไม่สามารถปฏิบัติตัวตามมาตรการได้ นอกจากนี้ กังวลเรื่องการทำความสะอาดยานพาหนะที่ใช้บริการ และเจลแอลกอฮอล์ให้บริการไม่ทั่วถึง ซึ่งหากระบบขนส่งสาธารณะไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดอาจทำให้โควิด-19 กลับมาระบาดใหม่ได้ ”นางภรณี กล่าว

ด้าน นายชีวิน  อริยะสุนทร ผู้ประสานงานเครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ทุกคนเข้าถึงได้ กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ทุกคนเข้าถึงได้ ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) ชุมชนคนรักรถเมล์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม (สสป.) สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย เครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ เครือข่ายพลังผู้สูงวัย และกลุ่มปั้นเมือง ได้จัดทำข้อเสนอการบริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค.,กระทรวงคมนาคม,กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 5ประเด็นดังนี้

158995891382

1. ความปลอดภัย ขอความร่วมมือผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทให้ปฏิบัติตามมาตรการคัดกรอง ควบคุม ป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

2. ความเพียงพอ ขอให้มีการจัดระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอและมีความถี่ที่สอดคล้องกับความต้องการใช้บริการโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้า และตอนเย็น

3. ความทั่วถึงและครอบคลุม ขอให้มีการจัดให้มีรถโดยสารประจำทาง และปรับเปลี่ยนแผนการเดินรถ ให้ครอบคลุมและทั่วถึงในแต่ละพื้นที่ให้มากขึ้น โดยเฉพาะชานเมืองและในเส้นทางที่ผู้ให้บริการรถร่วมเอกชนยุติการให้บริการลงเพราะวิกฤตโควิด-19

4. การให้บริการที่มีความเฉพาะกลุ่ม ขอให้ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะมีมาตรการเฉพาะแก่กลุ่มผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ ที่จำเป็นต้องสัมผัสใกล้ชิดกันและเพิ่มความเสี่ยงที่จะติดหรือแพร่เชื้อ เช่น คนพิการทางการเห็น คนพิการที่ใช้รถเข็น ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ เด็ก เป็นต้น เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยได้อย่างเท่าเทียมกัน

5. ราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรม ขอให้มีมาตรการลดราคาค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะลงเช่นเดียวกับค่าไฟฟ้าและประปา ส่งเสริมให้มีการใช้อีทิกเก็ต หรือระบบตั๋วร่วมของระบบขนส่งสาธารณะที่จะทำให้เกิดความสะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้นและช่วยลดการสัมผัสเหรียญกษาปณ์ และธนบัตรในการชำระค่าโดยสารในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19