'ศรีสุวรรณ' ยื่น สตง.สอบ กฟภ. ประมูลศูนย์สื่อสาร ITiDC ส่อฮั้วหรือไม่

'ศรีสุวรรณ' ยื่น สตง.สอบ กฟภ. ประมูลศูนย์สื่อสาร ITiDC ส่อฮั้วหรือไม่

"ศรีสุวรรณ" ยื่น สตง.สอบ กฟภ. ประมูลศูนย์สื่อสาร ITiDC ส่อฮั้วหรือไม่ เหตุอุปกรณ์หลักในการจัดการข้อมูล ไม่ได้ถูกเสนอให้เป็นอุปกรณ์หลักในโครงการ ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 63 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ประกวดราคาจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบและการจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารแบบรวมศูนย์ของ กฟภ. (IT Infrastructure Design and Consolidation for PEA : ITiDC) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 887 ล้าน ซึ่งมีข้อพิรุธหลายประการนั้น

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การจัดทำทีโออาร์โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ในสมัยผู้ว่าการฯ คนก่อน แต่เนื่องจากโครงการนี้มีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก เลยมีการชะลอโครงการออกไป และได้ริเริ่มนำโครงการกลับมาดำเนินการอีกครั้งในปี 2562 โดยได้ดำเนินการแก้ไขร่างโครงการฯในส่วนของคุณสมบัติของผู้เสนอราคาและแก้ไขข้อกำหนด หรือ Spec ใหม่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆจะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เนื่องจากการประกาศร่างทีโออาร์ครั้งที่ 1 มีหลายบริษัทสนใจ แต่มีการยื่นเรื่องร้องเรียนเรื่องความไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรม ทำให้ กฟภ. ยกเลิกการจัดหาเพียง 1 วัน ก่อนวันยื่นซองประมูล ต่อมามีการประกาศร่างทีโออาร์ครั้งที่ 2 ของการประกวดราคา มีบริษัทจำนวนมาก แต่ก็ยังมีการร้องเรียนในเรื่องของความไม่โปร่งใสเช่นเดิม แต่ กฟภ.ยืนยันที่จะดำเนินการต่อไป โดยไม่มีการตรวจสอบหรือทบทวนข้อร้องเรียนต่าง ๆ ว่าเป็นไปตามข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนหรือไม่ อย่างไร จนกระทั่งมีการเปิดการยื่นประกวดราคาตามวิธีการ e-bidding โดยมีบริษัทจำนวนหนึ่งสนใจเข้าร่วมประกวดราคาในวันที่ 27 เม.ย.63 ที่ผ่านมา อาทิ 1)กลุ่มบริษัท ยิบอินซอย จำกัด 2)บริษัท IOT innovation 3)บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAMART) 4)บริษัท แอดวานซ์ อินฟอร์เทชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (AIT) และ 5)บริษัท ไดเมนชั่น ดาต้า จำกัด

158994864378

โครงการนี้มีการดำเนินการสอบราคากลางกันหลายครั้ง ซึ่งมีผู้เสนอราคาเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าอุปกรณ์หลักที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น VMware ซึ่งเป็นอุปกรณ์บริหารจัดการข้อมูลในศูนย์ข้อมูลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปัจจุบัน กลับไม่ได้ถูกเสนอให้เป็นอุปกรณ์หลักในโครงการครั้งนี้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาในระหว่างการโอนย้ายข้อมูลเดิมจากศูนย์ข้อมูลปัจจุบัน ไปยังศูนย์ข้อมูลใหม่ ที่กำลังประกวดราคาจัดซื้อในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัย เพราะเจ้าหน้าที่ของ กฟภ. ย่อมไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการบำรุงรักษา ดังจะเห็นได้จากโครงการของ กฟภ. ส่วนใหญ่ต้องซื้อการบำรุงรักษา หรือ MA ไม่น้อยกว่า 5 ปี พ่วงไปกับโครงการเสมอ



การประกวดราคาดังกล่าว อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางรายที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจขัดต่อแนวทางปฏิบัติที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ (คณะกรรมการวินิจฉัย) ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ม.8 วรรคหนึ่ง (2) ที่บัญญัติให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐต้องโปร่งใส โดยต้องกระทำโดยเปิดเผย เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด