'ปิยบุตร' ชี้ปมปัญหาการเมืองไทยคือ 'อำนาจสูงสุด' ไม่ได้อยู่ที่ประชาชน

 'ปิยบุตร' ชี้ปมปัญหาการเมืองไทยคือ 'อำนาจสูงสุด' ไม่ได้อยู่ที่ประชาชน

"ปิยบุตร" บรรยายพิเศษนักศึกษา มทส. ชี้ปมปัญหาการเมืองไทยคือ "อำนาจสูงสุด" ไม่ได้อยู่ที่ประชาชน - อัด "ศาลรัฐธรรมนูญ" ไม่เคยร่วมปกป้อง รธน.- ต้านรัฐประหาร เผยแนวทางป้องกันยึดอำนาจ - ให้สัตยาบัน ไอซีซี

นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นแกนนำคณะก้าวหน้า เปิดห้องเรียนออนไลน์ บรรยายวิชาความเป็นพลเมืองและพลเมืองโลก หัวข้อ “สิทธิของเรา กับ-ใน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และศาลรัฐธรรมนูญ” ให้กับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ โดยเริ่มต้นอธิบายถึงการก่อกำเนิด ทั้งความหมายและพัฒนาการของรัฐธรรมนูญ โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งได้อธิบายว่า การออกกฎหมายเป็นอำนาจนิติบัญญัติ การนำกฎหมายไปบังคับใช้เป็นอำนาจบริหาร การพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีเป็นอำนาจตุลาการ ซึ่งทั้ง 3 อำนาจนี้จะมีได้ก็ในตอนที่มีรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญจะมีได้ก็เกิดจากอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ โดยประชาชนมาร่วมแรงร่วมใจกันออกแบบรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของรัฐ โดยมอบอำนาจให้กลไกอื่นๆ นำอำนาจไปใช้แทน แต่รัฐธรรมนูญของไทยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองมากกว่าเป็นคุณค่าพื้นฐานของคนในชาติที่เป็นฉันทามติของประชาชนที่แท้จริง ทำให้ไม่เกิดความรู้สึกหวงแหน เพราะเมื่อมีการรัฐประหารก็มีการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งทุกครั้ง

158993903637

"สำหรับรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่จะพาบ้านเมืองไปสู่ทางตัน อีกทั้งยังเป็นดอกผลของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำได้ยากมาก แม้จะได้เสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร ก็ยังต้องเจอป้อมปราการของทั้ง ส.ว.และของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ มาตรา 279 ยังไม่มีความชอบธรรม ที่ได้ไปรับรองการกระทำของหัวหน้าคณะรัฐประหาร ทั้งนี้ บทเรียนของหลายๆ ประเทศทั่วโลกคือรัฐธรรมนูญที่แก้ยากๆ มักจะกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการล้มทั้งระบอบ นอกจากนี้ ในวันที่ลากรถถังออกมาทำการรัฐประหารยึดอำนาจ วันนั้นมีความผิดฐานกบฎสำเร็จแล้วแต่ที่ไม่ต้องรับโทษเพราะมีการมาเขียนกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับตัวเอง อีกทั้งการที่หัวหน้าคณะรัฐประหารยังคอยมาเที่ยวสั่งสอนคนอื่นให้เคารพกฎหมายแต่ตนเองดันฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นเรื่องที่กลับหัวกลับหางมาก" นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวในหัวข้อเรื่องสิทธิ โดยอธิบายหลักการเรื่องสิทธิว่า ในรัฐประชาธิปไตย เรื่องสิทธิเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเมื่อประชาชนเกิดมาแล้วคือผู้ทรงสิทธิ รัฐต้องปฏิบัติต่อประชาชนเสมือนเป็นองค์ประธานไม่ใช่ขี้ข้า การจะจำกัดสิทธิของประชาชนเป็นข้อยกเว้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นการออกตามพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาซึ่งมีที่มาจากผู้ทรงสิทธิที่จะอนุญาติให้มาจำกัดสิทธิได้ ทั้งนี้ การจะจำกัดสิทธิต้องชี้ชัดว่าทำไปเพื่ออะไร ทำเท่าที่จำเป็น พอสมควรแก่เหตุ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยปัจจุบัน ไม่ใช่การจำกัดสิทธิ แต่เป็นการกำจัดสิทธิมากกว่า

158993905647

นายปิยบุตร ยังได้บรรยายถึงเรื่องของที่มาหลักคิดของการก่อกำเนิดศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ในประเทศตะวันตกต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย โดยทำหน้าที่เป็นกลไกคุ้มครองเสียงข้างน้อยและประกันความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในหลายๆ ประเทศ ศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายขอบเขตอำนาจให้สูงขึ้น ทำให้ศาลเข้ามายุ่งกับเขตแดนทางการเมืองมากขึ้น ก็เลยมักถูกตั้งคำถามถึงอำนาจ ความชอบธรรม และการเชื่อมโยงกับประชาชนซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของรัฐ ทั้งนี้ พันธกิจของศาลรัฐธรรมนูญคือการพิทักษ์และรักษารัฐธรรมนูญ แต่ในกรณีของประเทศไทย วันที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น ถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ที่ไหน ซ้ำร้ายเมื่อมีการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งครั้งล่าสุด หัวหน้าคณะรัฐประหารยังได้ออกคำสั่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ทำหน้าที่ต่อ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็อยู่ต่อและรับเงินเดือน โดยที่ไม่มีคดีให้ต้องวินิจฉัย นอกจากไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องและรักษารัฐธรรมนูญตามพันธกิจแล้ว การทำหน้าที่ที่ผ่านมายังเสมือนเป็นการทำหน้าที่รักษาการรัฐประหารหรือไม่? เป็นสิ่งที่หลายคนตั้งคำถาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการบรรยายนายปิยบุตร กล่าวสรุปว่า ปมปัญหาของประเทศไทย หากต้องขมวดปัญหาชวนให้นักศึกษาและประชาชนทุกคนช่วยกันขบคิดคือ อำนาจสูงสุดใช่เป็นของประชาชนหรือไม่ และประชาชนเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญจริง หรือแท้จริงแล้วเจ้าของประเทศที่แท้จริงเป็นของใครกันแน่

158993908247

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง ถาม-ตอบ มีนักศึกษาส่งคำถามเข้ามาถามว่า เราจะป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญและการนิรโทษกรรมของคณะรัฐประหารได้อย่างไร? นายปิยบุตรได้ตอบคำถามโดยการยกตัวอย่างกรณีของประเทศเยอรมันและประเทศกรีซ โดยในกรณีของประเทศเยอรมันได้เขียนสิทธิและหน้าที่ในรัฐธรรมนูญให้กับเจ้าหน้าที่ว่ามีสิทธิปฏิเสธคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ หรือขัดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ส่วนในกรณีของรัฐธรรมนูญกรีซได้กำหนดไว้ว่าประชาชนมีสิทธิและหน้าที่ในการลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหารที่แย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนไป เขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญเลย และไม่ได้อยู่ในเครื่องหมายคำพูดว่าต้องต่อสู้โดยสงบปราศจากอาวุธ เพราะนี่คือสิทธิและหน้าที่ที่ต้องออกมาต่อสู้ไม่อย่างนั้นจะถูกพรากเอาอำนาจสูงสุดไป และในมาตราสุดท้ายกำหนดไว้ว่าให้ดำเนินคดีกับผู้แย่งชิงอำนาจจากประชาชนโดยไม่มีอายุความ นอกจากนี้ วิธีป้องกันการรัฐประหารที่ใช้ในประเทศอื่นๆ คือการให้สัตยาบันเข้าเป็นสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศหรือ ICC เมื่อเกิดกรณีการละเมิดสิทธิมนุษชนอย่างร้ายแรง ลำพังการเขียนกฎหมายนิรโทษกรรมภายในประเทศ ผู้กระทำการก็สามารถถูกเอาผิดและถูกลงโทษได้ภายใต้คำตัดสินของศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นสมาชิกกับ ICC