เช็ค 'สถานะการเงิน' เอเชีย หลังอัดฉีด 'เยียวยาโควิด'

เช็ค 'สถานะการเงิน' เอเชีย หลังอัดฉีด 'เยียวยาโควิด'

เช็คชีพจรสถานะการเงินประเทศในเอเชีย หลังอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ขณะที่ล่าสุดเอสแอนด์พี มูดีส์ และฟิทช์ บริษัทจัดอันดับรายใหญ่ของโลก ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือแนวโน้มเศรษฐกิจไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

ประเทศในเอเชียต้องหันมาตรวจสอบสถานะการเงินกันอย่างจริงจัง และใช้จ่ายด้วยความระมัดระวังมากขึ้น หลังจากที่ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คิดเป็นเงินมูลค่ามหาศาล เพราะหากรัฐบาลประเทศต่างๆ ไม่ใช้เงินอย่างชาญฉลาด ก็อาจจะทำให้ประชาชนที่จะเกิดในอนาคต เกิดมาพร้อมกับหนี้ก้อนโตที่คนรุ่นก่อนหน้านี้ก่อเอาไว้ 

รัฐบาลทั่วภูมิภาคเอเชียออกมาตรการเป็นแพ็คเกจเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่การบริโภคและการลงทุนในภูมิภาคหยุดนิ่งอยู่กับที่ในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก ซึ่งปัจจัยลบเหล่านี้บั่นทอนความพยายามที่จะใช้นโยบายการเงินการคลังของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

บรรดานักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นว่าการดำเนินการรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและทันกับเหตุการณ์เป็นสิ่งสำคัญ แต่บรรดาสถาบัน หรือบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ กลับให้ความสำคัญกับสถานะด้านการคลังของประเทศ และเห็นว่า บรรดาผู้กำหนดนโยบายต้องใช้จ่ายเงินอย่างชาญฉลาด เพื่อหลีกเลี่ยงให้คนรุ่นต่อไปในอนาคต ต้องมาแบกรับหนี้สินก้อนใหญ่ที่พวกเขาไม่ได้สร้างขึ้น

158991427415

บริษัทจัดอันดับรายใหญ่ของโลกทั้ง 3 แห่ง คือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) มูดีส์ และฟิทช์ ยังไม่ได้ออกรายงานหั่นอันดับความน่าเชื่อถือประเทศของชาติเศรษฐกิจเอเชียขนาดใหญ่ แต่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือแนวโน้มเศรษฐกิจของไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ พร้อมทั้งเตือนเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสถานะทางการเงินของประเทศเหล่านี้ ตลอดจนความล้มเหลวในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่าอาจจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มขึ้น และท้ายที่สุดจะทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจตามมา

ยกตัวอย่างกรณีของญี่ปุ่น ชาติเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 2 ของเอเชียรองจากจีน อัดฉัดเงินประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และเมื่อวันพฤหัสบดี (14 พ.ค.) นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น ก็บอกว่าที่ประชุมรัฐสภาได้รับรองร่างงบประมาณพิเศษฉบับที่ 2 เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่วนประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเกาหลีใต้ ก็ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13.3% ของจีดีพีประเทศ

ส่วนในภูมิภาคอาเซียน มาเลเซีย อัดฉีดเงินช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในสัดส่วน 15% ของขนาดเศรษฐกิจ สิงคโปร์ 13% ส่วนฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ใช้จ่ายเพื่อเรื่องนี้ไปประมาณ 7.8% และ 3.9% ตามลำดับ ขณะที่ไทย มาตรการเยียวยาคิดเป็นมูลค่า 67,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 12% ของจีดีพีประเทศ

158991435855

ไทย ชาติเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเดินทางได้รับผลกระทบหนักสุดจากมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติหดหายและพลอยทำให้ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและการเดินทางได้รับผลกระทบอย่างหนักไปด้วย

บริษัทจัดอันดับชั้นนำของโลกทั้ง 3 แห่งพร้อมใจหั่นเรทติ้งแนวโน้มความน่าเชื่อถือของไทยจาก “บวก” เป็น “เสถียรภาพ” แต่เศรษฐกิจของไทยไม่ใช่เรื่องเดียวที่บริษัทจัดอันดับรู้สึกวิตกกังวล เอสแอนด์พี ซึ่งให้คะแนนประเทศไทยที่ BBB+ ยังคงให้อันดับการลงทุนของไทยที่อันดับเดิม เริ่มมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความเปราะบางทางการเมืองของไทยว่าอาจจะนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ และรู้สึกกังวลเรื่องนี้มากกว่าปัญหาหนี้สินที่จะเพิ่มพูนขึ้นจากการใช้มาตรการเยียวยา

“เราคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกทำให้ล่าช้าออกไปในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” รายงานของเอสแอนด์พี ระบุ

หันกลับไปมองเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสองรอบรวมมูลค่า 270,000 ล้านริงกิต (62,000 ล้านดอลลาร์) ซึ่งรวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) และอัดฉีดเงินผ่านโครงการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ

ฟิทช์ ได้หั่นอันดับความน่าเชื่อถือแนวโน้มเครดิตของมาเลเซียจาก “เสถียรภาพ” เป็น “ลบ” สะท้อนถึงความไม่แน่นอนสูงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้รายได้จากการส่งออกของมาเลเซียลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ ที่อัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.4 ล้านล้านเปโซ (28,000 ล้านดอลลาร์) ที่ฟิทช์ หั่นอันดับความน่าเชื่อถือแนวโน้มเครดิตจาก “บวก” เป็น “เสถียรภาพ”

158991431926

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าชาติเศรษฐกิจเอเชียที่กำลังพัฒนาและเกิดใหม่จะขยายตัว 1.0% ในปีนี้ ส่วนใหญ่ได้อานิสงส์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย ส่วนประเทศอื่นๆ คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวหรืออาจจะหดตัว โดยคาดการณ์ว่าจีดีพีของมาเลเซียและสิงคโปร์จะหดตัว 1.7% และ 3.5% ตามลำดับในปีนี้ ขณะที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จะชะลอตัวลง

ส่วนชาติเศรษฐกิจในเอเชียที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ไอเอ็มเอฟเคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน ม.ค.ว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 0.7% แต่ตอนนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวประมาณ 5.2% ส่วนเกาหลีใต้คาดการณ์ว่าจะหดตัวประมาณ 1.2% 

การใช้มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะถึงแม้จะช่วยบรรเทาการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ แต่ก็ทำให้กิจกรรมทางธุรกิจและเศรษฐกิจหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อทุกภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ยานยนต์จนถึงการจำหน่ายตั๋วโดยสารสายการบิน