'คมนาคม' เปิด 10 ขั้นตอน ยื่นศาลล้มละลาย ขอฟื้นฟู 'การบินไทย'

'คมนาคม' เปิด 10 ขั้นตอน ยื่นศาลล้มละลาย ขอฟื้นฟู 'การบินไทย'

“ศักดิ์สยาม” จ่อชงนายกฯ เคาะ 15 รายชื่อ ทีมทำแผนฟื้นฟู มั่นใจคลอดแผนก่อน มิ.ย.นี้ นัดสหภาพฯ ถกมาตรการช่วยพนักงาน 2 หมื่นคน มั่นใจหลุดแผนฟื้นฟูใน 1 ปี

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้เวลาหารือ 1 ชั่วโมง เพื่อพิจารณา 3 แนวทางในการแก้ปัญหาของ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ก่อนได้ข้อสรุปให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าครม.มีมติให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลล้มละลาย และมีมติให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นลงให้ต่ำกว่า 50% เพื่อทำให้การบินไทยมีสถานะพ้นจากรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมเห็นว่าที่ผ่านมาการบินไทยมีปัญหาทางการเงิน โดยปี 2562 มีหนี้สิน147,352 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 เผชิญวิกฤติโควิด-19 ซึ่งการบินไทยประเมินว่าจะทำให้หนี้สินเพิ่มมาอยู่ที่ 219,798 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้ปัญหา เพราะการบินไทยมีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว 

สำหรับข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมมี 3 ข้อ คือ

1.รัฐบาลเข้าอุ้มและให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ 54,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมพบว่าการบินไทยยังมีความเสี่ยง 23 เรื่อง ถ้าเห็นชอบไปอาจทำไม่ได้ตามแผน และอาจต้องตัดสินใจใส่เงินเข้าไปอีก

2.ปล่อยให้ล้มละลาย โดยรัฐบาลไม่ต้องดำเนินการใดและให้การบินไทยล้มละลายจนต้องหยุดบิน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการบินไทย ทำให้ทรัพย์สินถูกอายัด ขายทอดตลาด อีกทั้งกระทบพนักงาน 2 หมื่นคน รวมถึงกระทบผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้

3.การดำเนินการตาม มาตรา 90/12 พ.ร.บ.ล้มละลาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะทำให้การบินไทยในฐานะลูกหนี้หยุดพักชำระหนี้อัตโนมัติ เพื่อเริ่มขั้นตอนเจรจาเจ้าหนี้ในและต่างประเทศ โดย จะสร้างความเชื่อมั่นให้เจ้าหนี้ว่าการบินไทยกลับมาได้อีก

สำหรับแนวทางเลือกที่ 3 มีขั้นตอนการขอฟื้นฟูกิจการรวม 10 ขั้นตอน คือ

1.ครม.ให้ความเห็นชอบให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย โดยกระทรวงการคลังลดการถือหุ้นให้ต่ำกว่า 50%

2.การบินไทยมีมติยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและเสนอตัวเองเป็นผู้ทำแผนต่อศาลล้มละลาย รวมทั้งตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาเจ้าหนี้ 

3.การยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลาย โดยกรณีศาลรับคำร้องจะทำให้การบินไทยได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 90/12 หรือสภาวะพักชำระหนี้

4.ส่งหมายให้เจ้านี้

5.ประชุมเจ้าหนี้ โดยเสียงข้างมากเลือกผู้ทำแผน

158989893076

6.ศาลตั้งผู้ทำแผน และผู้ทำแผนเข้าควบคุมกิจการ

7.ผู้ทำแผนเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ 

8.ประชุมเจ้าหนี้เพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟู ในขั้นตอนนี้อาจต้องปรับปรุงแผนพื้นฟู

9.ศาลพิจารณาเห็นชอบแผนและแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟู

10.ดำเนินการตามแผนฟื้นฟู

“จะเร่งดำเนินการให้เร็วสุด โดยสัปดาห์นี้จะได้รายชื่อคณะผู้ทำแผน หลังจากนั้นจะเสนอรายชื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสัปดาห์หน้า ซึ่งจะเสนอรายชื่อไม่น้อยกว่า 15 คน”

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมเริ่มทาบทามผู้มีความสามารถมาเป็นผู้ทำแผนแล้ว โดยมีคุณสมบัติได้รับการยอมรับในสังคม มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และมีประสบการณ์ด้านการบิน เพราะต้องมาช่วยทำแผนอุตสาหกรรมการบิน แต่ต้องครอบคลุมทุกด้าน เช่น การเงิน การบิน

สำหรับการยื่นขอฟื้นฟูกิจการต้องยื่นทั้งศาลไทยและศาลสหรัฐ เพราะการบินไทยมีเจ้าหนี้ต่างชาติสัดส่วน 35% ของหนี้สินทั้งหมด อีกทั้งเป็นหนี้ด้านไฟแนนซ์อีก 10% ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเช่าซื้อเครื่องบิน

“การบินไทยเร่งหาทีมที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษาทางกฎหมาย เพื่อมาช่วยดูรายละเอียดของการยื่นศาล โดยยื่นควบคู่ไปทั้ง 2 ศาลได้ เพราะไม่ได้เป็นการยื่นล้มละลายแต่เป็นการยื่นขอทำแผนฟื้นฟู”

นอกจากนี้ ครม.ได้หารือถึงการที่กระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนหุ้น ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้วการบินไทยจะพ้นสภาพจากรัฐวิสาหกิจ และจะตั้งคณะกรรมการการบินไทยชุดใหม่ หรือปรับโครงสร้างองค์กร

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า รายละเอียดทั้งหมดจะเสร็จก่อนเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อให้เสร็จก่อนจะมีปัญหาการจ่ายเงินพนักงาน และถ้าหากโควิด-19 จบลงการบินไทยจะกลับมาทำการบินได้ทันที รวมทั้งสัปดาห์นี้จะนัดหารือสหภาพการบินไทยเพื่อหาแนวทางให้พนักงาน 2 หมื่นคน โดยแนวทางเหล่านี้จะอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ที่ดำเนินการได้ ดังนั้นแนวทางที่จะกำหนดออกมาต้องเป็นทางออกที่อยู่ในสถานการณ์จริง แต่จะทำออกมาอย่างไร คงต้องขอเวลาในการหารือ

“เรื่องปลดพนักงานจะไม่ทำเหมือนสายการบินอื่นที่ปลดกันทีเยอะๆ ส่วนจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ ผมเชื่อว่าก่อน 1 ปี หากไม่มีโควิด”