'สปสช.' ขยายเวลา 'ส่งยาทางไปรษณีย์' ถึง 30 ก.ย.63

'สปสช.' ขยายเวลา 'ส่งยาทางไปรษณีย์' ถึง 30 ก.ย.63

"สปสช." หารือ "ไปรษณีย์ไทย" ต่อยอดโครงการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ เตรียมขยายเวลาถึง 30 ก.ย.63 หลังเปิดดำเนินการ 1 เดือน ส่งยาแล้วเกือบ 2.8 หมื่นครั้ง มีโรงพยาบาลเข้าร่วมกว่า 111 แห่ง

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ สปสช.ได้ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ดำเนินการโครงการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ให้กับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2563 เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ดูแลผู้มีสิทธิบัตรทอง ร่วมป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา

ซึ่งโครงการมีการตอบรับที่ดี มีโรงพยาบาล 398 แห่ง แสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการ ในจำนวนนี้มีโรงพยาบาล 111 แห่งที่ได้จัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์แล้วรวม 27,992 ครั้ง รวมเป็นค่าจัดส่งพัสดุ 1,399,600 บาท

ส่วนข้อมูลผู้ป่วยที่รับบริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์ เมื่อแยกตามกลุ่มโรค 10 อันดับแรก มีดังนี้ 1.โรคความดันโลหิตสูง 7,128 ครั้ง 2.โรคเบาหวาน 4,838 ครั้ง 3.โรคติดเชื้อเอชไอวี 792 ครั้ง 4.โรคหืด 743 ครั้ง 5.โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง/ถุงลมโป่งพอง 629 ครั้ง 6.ต้อหิน 446 ครั้ง 7.โรคสมาธิสั้น 357 ครั้ง 8.โรคต่อมลูกหมากโต 329 ครั้ง 9.โรคลมชัก 315 ครั้ง และ 10.โรคเบาหวาน ชนิดไม่พึ่งอินซูลิน 305 ครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 10 พ.ค.63)

ทั้งนี้โครงการนี้ สปสช.ได้รับความร่วมมืออันดีจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการรับส่งยาและเวชภัณฑ์จากหน่วยบริการให้ถึงมือผู้ป่วย โดยเบื้องต้น สปสช.กำหนดระยะเวลาดำเนินการเพียง 3 เดือน ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 นี้ เป็นโครงการเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19

แต่ด้วยเสียงตอบรับที่ดี จึงได้ขยายเวลาเพิ่มเติมไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 หรือสิ้นปีงบประมาณ 2563 นอกจากเพิ่มความสะดวกการรับบริการให้กับผู้ป่วยบัตรทองแล้ว ยังรองรับบริการผู้ป่วยในรูปแบบ New Normal ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล และอาจมีการต่อยอดโครงการนี้อีกในอนาคต

“วันนี้ สปสช.และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หารือร่วมกัน เพื่อดูว่าจะมีแนวทางอย่างไรพัฒนาระบบการขนส่งอย่างไรให้มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย นับเป็นบริการใหม่ในระบบการขนส่ง และเป็นนวัตกรรมใหม่ในการบริการผู้ป่วยที่นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ ซึ่งในอนาคตอาจเป็นแบบอย่างให้กับนานาชาติได้ หากเรามีการวางระบบบริหารจัดการที่ดี อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ในช่วง 2-3 เดือน เราคงต้องมีการประเมินผลกันอีกครั้ง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

158987239525


ด้าน นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) กล่าวว่า ความร่วมมือกับ สปสช.ในครั้งนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้มีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยคิดค่าจัดส่งพัสดุอัตราเหมาจ่าย 50 บาท/พัสดุ ทั้งในส่วนของน้ำหนักพัสดุและระยะทางจัดส่ง

ซึ่งบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มีโครงข่ายจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ให้ผู้ป่วยได้ทุกพื้นที่ในประเทศ ไม่ว่าอยู่ในเขตเมืองหรือพื้นที่ห่างไกล และยังจัดส่งได้อย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม พร้อมมีระบบตอบรับเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับยาและเวชภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว

ในกรณีที่มีจำนวนโรงพยาบาลร่วมจัดส่งยาให้ผู้ป่วยรวมถึงขยายไปยังกลุ่มโรคเพิ่มเติม ระบบการจัดส่งของเรายังสามารถรองรับได้ และเตรียมที่จะพัฒนามาตรฐานการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการเตรียมที่จะเชื่อมโยงการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยในสิทธิประกันสุขภาพอื่นด้วย ทั้งนี้ในอนาคตหากบริษัทมีการจัดส่งที่มีปริมาณมากขึ้น ในส่วนของราคาเหมาจ่ายก็อาจปรับลดได้กว่านี้ตามกลไกด้านราคา