‘ล้มละลาย’ กับ ‘ฟื้นฟูกิจการ’ ต่างกันอย่างไร

‘ล้มละลาย’ กับ ‘ฟื้นฟูกิจการ’ ต่างกันอย่างไร

ทำความเข้าใจความแตกต่างของ “การฟื้นฟูกิจการ” กับ  “การล้มละลาย” พร้อมไขข้อข้องใจกรณี “การบินไทย” ขอฟื้นฟูกิจการ

หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 พ.ค. มีการพิจารณามติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย เป็นที่เรียบร้อย

"กรุงเทพธุรกิจ" พาไปทำความรู้จักความแตกต่างของ การฟื้นฟูกิจการกับ การล้มละลาย ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง การยื่นขอฟื้นฟูกิจการของ การบินไทย ในครั้งนี้ หมายถึง การล้มละลาย” หรือการล่มสลายของสายการบินแห่งชาติของไทยหรือไม่!?

   

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า "การฟื้นฟูกิจการ" ไม่ใช่ "การล้มละลาย" หรือการที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ 

เพียงแต่บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการ ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย จึงอาจทำให้เข้าใจผิดไปได้ว่าการยื่นขอฟื้นฟูกิจการคือการยื่นขอล้มละลาย

   

  •  การล้มละลาย คืออะไร ?

"การล้มละลาย" คือ การที่กิจการหรือลูกหนี้ มีหนี้สินล้นพ้นตัว (หนี้บุคคลธรรมดาไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท หนี้นิติบุคคลไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท)

เมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องคดี ศาลจะทำการพิจารณาสืบพยานหลักฐานว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงตามคำฟ้องหรือไม่ หากว่าจริง ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้

"คำสั่งพิทักษ์เด็ดขาด" คือ การที่ศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ควบคุมกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ กล่าวคือ ลูกหนี้ไม่สิทธิกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของตนได้เลย ยกเว้นแต่ทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น

เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้แล้ว จะเข้าสู่คดีล้มละลาย ทั้งนี้ ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในทันที แต่จะส่งหมายแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ เพื่อให้ดำเนินการจัดการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้และดำเนินการแบ่งทรัพย์สินที่รวบรวมได้เพื่อจัดสรรให้กับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้

ส่วนกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้สินมากจนไม่เพียงพอจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องติดตามทรัพย์อื่นมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป

  • ทำความรู้จัก "การฟื้นฟูกิจการ"

ตามกฎหมายการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้/ลูกหนี้ ปี 2541 ระบุว่าผู้ที่มีสิทธิ์ในขอฟื้นฟูกิจการได้นั้นจะต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้

- ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว 
- ลูกหนี้เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดบริษัทมหาชนหรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
- จำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
- ลูกหนี้มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการและมีเหตุอันสมควร (ต้องไม่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด)
- ยื่นคำขอโดยสุจริต

โดย หากผลของคำสั่งศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้จะได้รับสภาวะพักการชำระหนี้ (automatic stay) ในกรณีศาลเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการผู้บริหารแผนจะดำเนินการตามแผนระยะเวลาตามแผน 5 ปีขอขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี

ในกรณีศาลเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหารแผนจะดำเนินการตามแผนระยะเวลาตามแผน 5 ปี ขอขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี

หัวใจสำคัญของ "การฟื้นฟูกิจการ" คือ เมื่อศาลสั่งรับคำขอฟื้นฟูกิจการ สภาวะการพักการชำระหนี้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า automatic stay เกิดขึ้นทันทีนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด

"สภาวะการพักการชำระหนี้" นี้เอง ที่เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้และเป็นจุดแข็ง ทั้งนี้ เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการไปต่อได้และดูแลสภาพคล่อง (liquidity) ของธุรกิจ โดยไม่ต้องกังวลว่าธุรกิจหรือกิจการจะถูกเรียกให้ชำระหนี้หรือถูกฟ้องร้อง สภาวะการพักการชำระหนี้

หากกล่าวให้เห็นภาพ "สภาวะการพักการชำระหนี้" เสมือนหนึ่งธุรกิจหรือกิจการจะอยู่ภายใต้ร่มคันใหญ่ที่จะป้องกันการถูกฟ้องร้อง ถูกบังคับคดี ถูกบังคับชำระหนี้ ถูกงดให้บริการสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ประโยชน์ข้างต้นที่ลูกหนี้จะได้รับ ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่ได้อาศัยการพักชำระหนี้เป็นเหตุของการประวิงคดี ดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ผู้ที่มาพึ่งศาล จะต้องมาศาลด้วยมือสะอาด” (He who comes to equity must come with clean hands)

สำหรับหน้าที่ของลูกหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีอย่างไรนั้น กฎหมายก็ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าลูกหนี้ยังสามารถประกอบธุรกิจตามที่จำเป็นของธุรกิจเท่านั้น เพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ดังนั้น ลูกหนี้จะจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

แต่ กรณีที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ยอมรับแผน และศาลไม่เห็นชอบด้วยแผน อาจสั่งยกเลิกคำสั่งฟื้นฟูกิจการ หรือหากลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลายไว้ให้ไปดำเนินคดีล้มละลายนั้นต่อไป ในกรณีที่ผู้บริหารแผนพ้นตำแหน่ง และไม่อาจเลือกผู้บริหารแผนคนใหม่ได้ ศาลอาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ส่วนกรณีระยะเวลาตามแผนสิ้นสุดแต่การฟื้นฟูกิจการยังไม่สำเร็จ ศาลอาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ

  • สรุปแล้ว การฟื้นฟูกิจการ VS การล้มลาย ต่างกันอย่างไร

กล่าวโดยสรุปคือ "การฟื้นฟูกิจการ" ถือเป็นการรักษาให้กิจการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจ ได้ตามปกติ หรือพูดง่ายๆ ว่า ผู้ยื่นขอให้มีการฟื้นฟูกิจการต้องการรักษาความเป็นกิจการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง (going concern) จะเปิดโอกาสให้มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้ทั้งหลายทั้งเจ้าหนี้ภายในและต่างประเทศ รวมถึงจะเปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และแผนธุรกิจ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาจมีผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกบริษัทมาร่วมดำเนินการ

ในขณะที่ "การล้มละลายหรือการถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์" นั้น จะไม่ได้เป็นการทำให้ธุรกิจดำเนินการได้ต่อเนื่อง แต่เป็นการมุ่งไปสู่กระบวนการค้นหาและรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำมาแบ่งให้กับเจ้าหนี้ โดยการยึดหรืออายัดและนำมาขายทอดตลาด และในขณะที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี จะเป็นผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

เพราะฉะนั้นในกระบวนการขอฟื้นฟูกิจการในกรณีของ "การบินไทย" ยังไม่ได้หมายความถึงการล้มละลาย ณ เวลานี้ แต่อย่างไรก็ดี เรื่องที่น่าติดตามต่อไปคือสายการบินแห่งชาติของไทยจะใช้แผนอะไรในการฟื้นฟูกิจการเพื่อฝ่าวิกฤติในครั้งนี้

อ้างอิง 
ธนาคารไทยพาณิชย์ , กรมบังคับคดี , kaohoon