'กลุ่มสื่อสาร' กำไรทรุด 22% 'ทรู' อ่วมพลิกขาดทุน 161 ล้านบาท

'กลุ่มสื่อสาร' กำไรทรุด 22%  'ทรู' อ่วมพลิกขาดทุน 161 ล้านบาท

"3 ค่ายมือถือ" รายงานกำไรไตรมาสแรกรวม 8.09 พันล้านบาท ลดลง 22% จากปีก่อน จาผลกระทบโควิด-19 ด้าน "ทรู" พลิกขาดทุน161 ล้านบาท กดดันจากดอกเบี้ยจ่ายพุ่ง ขณะที่ภาพรวมรายได้ทั้งอุตสาหกรรมลดลง หลังมาตรการล็อกดาวน์ 

หุ้นกลุ่มผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี2563  มีกำไรสุทธิรวม 8.09 พันล้านบาท ลดลง 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 1.03 หมื่นล้านบาท 

โดย  DTAC  กำไรเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยมีกำไร 1,501.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  ส่วน ADVANC  มีกำไร 6,756.19  ล้านบาท ลดลง 10.7%  ขณะที่ TRUE ประกาศผลประกอบการล่าสุดวานนี้ (18 พ.ค.) มีรายได้รวม 3.48 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% จากปีก่อน ขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 3.25 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากปีก่อน โดยภาพรวมบริษัทมี EBITDA ไม่รวมผลกระทบจาก TFRS 16 อยู่ที่ 8.45 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5%

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 161 ล้านบาท กดดันจากดอกเบี้ยจ่ายสุทธิที่เพิ่มขึ้น 140.8% เป็น 3.69 พันล้านบาท ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลง 52.5% เหลือ 1.01 พันล้านบาท

ทั้งนี้ รายได้ที่เติบโตขึ้นเป็นไปตามจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิในกลุ่มลูกค้ารายเดือน ซึ่งเพิ่มขึ้น 3 แสนราย ทำให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 30.6% จากฐานผู้ใช้บริการรวม 30.3 ล้านราย ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการรวมต่อเดือน (APRU) เพิ่มขึ้นเป็น 213 บาท

นายณัฐพล คำนวณผล นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน คาดว่า ผลการดำเนินงานของ TRUE ช่วงไตรมาส 2นี้ จะยังไม่สดใส โดยจะขาดทุนต่อเนื่อง จากการรับรู้ผลกระทบโควิด-19 เต็มไตรมาส ประกอบกับการรับรู้ค่าคลื่นลงทุน 5G มากขึ้น รวมถึงผลกระทบจากดอกเบี้ยจ่าย โดยรวมคาดทั้งปีนี้ขาดทุน 553 ล้านบาท (ไม่รวมผลจาก TFRS16)

ขณะที่ ADVANC คาดมีกำไรสุทธิ 6.75 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อน หากไม่รวมรายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 430 ล้านบาท บริษัทจะมีกำไรปกติที่ 7,186 ล้านบาท ลดลง 5% โดยการลดลงเป็นผลจากรายได้จากธุรกิจมือถือลดลง 1% เนื่องจากหมายเลขผู้ใช้งานลดลงราว 8.5 แสนเลขหมาย และผลกระทบจากการแข่งขันทางด้านราคา ทำให้ ARPU เฉลี่ยในไตรมาสแรกลดลงเหลือ 242 บาท เทียบกับไตรมาส 4 ปี2562 ที่ทำได้ 252 บาท และรายได้จากการขายซิมและเครื่องลดลง 10% เป็นผลจากมาตรการปิดเมือง ทั้งนี้ EBITDA ปรับตัวสูงขึ้น 18% เป็น 2.26 หมื่นล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากสัญญาเช่ากับ TOT และผลจาก TFRS 16

ด้าน DTAC ประกาศกำไรสุทธิไตรมาสแรกที่ 1.5 พันล้านบาท เติบโต 15.7% และหากไม่รวมรายการพิเศษ DTAC มีกำไรปกติ 1.37 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% ทั้งนี้ การเติบโตของกำไรปกติมาจากรายได้หลักจากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมโยงเครือข่ายเพิ่มขึ้น 2.6% และผลจาก ARPU ที่ยังเพิ่มขึ้นจาก 238 บาท เมื่อปีก่อน เป็น 251 บาท ซึ่งหนุนรายได้บริการเสียงและข้อมูลปรับขึ้นและชดเชยรายได้บริการข้ามแดนและรายได้บริการอื่น ๆ ที่ลดลง หลังเผชิญกับโควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง รวมถึงการใช้งานที่ลดลง ตลอดจนยอดจำหน่ายโทรศัพท์ที่ลดลง 20.8% หลังผู้บริโภคชะลอจับจ่าย