'กสิกร' หวังแชมป์ตลาดหุ้นกู้ ฟันธงครึ่งหลัง 'ตราสารหนี้' ฮอต

'กสิกร' หวังแชมป์ตลาดหุ้นกู้ ฟันธงครึ่งหลัง 'ตราสารหนี้' ฮอต

ตลาดตราสารหนี้ไทย เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังทุกส่วนเร่งฟื้นความเชื่อมั่น โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) โดยเริ่มเห็นภาคเอกชนออกและเสนอขายหุ้นกู้อย่างคึกคัก

ธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า    ธนาคารกสิกรไทยยังตั้งเป้าหมายเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ที่มียอดจัดจำหน่ายสูงสุด โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 20% ของมูลค่าการเสนอขายทั้งตลาด ที่คาดปีนี้จะมีบริษัทเอกชนออกหุ้นกู้มูลค่า 900,000 ล้านบาท  แบ่งเป็นหุ้นกู้ออกใหม่ประมาณ 400,000 ล้านบาท และอีก 500,000 ล้านบาทออกเพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนด เพราะมีลูกค้าของธนาคารจำนวนหลายรายเตรียมที่จะออกเสนอขายหุ้นกู้ และคาดว่าผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ต่อตตลาดตราสารหนี้ไม่น่าจะเลวร้ายไปกว่าครึ่งปีแรกนี้ เพราะตลาดรับรู้ข่าวความเสี่ยงไปแล้ว

 “ยอดออกหุ้นกู้ปีนี้  900,000 ล้านบาท แม้จะปรับตัวลดงจากปีก่อนอยู่ที่ 1.08 ล้านล้านบาท แต่ถือว่าเป็นยอดที่สูงภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ และดอกเบี้ยยังอยู่ในขาลง ซึ่งคาดว่ามีโอกาสลดลงอีก 0.25 % ในการประชุมกนง.วันพุธนี้ และก่อนหน้าเกิดโควิด-19 เราก็จะเห็นพฤติกรรมนักลงทุน แสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงิยฝาก หรือ search for yieldซึ่งในตอนนี้ก็มีอยู่และเป็นการ search for yield บนเครดิตเรตติ้งที่ดีด้วย ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้ที่เป็นบริษัทซึ่งมีสถานะการเงินแข็งแกร่ง ยังคงมีการออกหุ้นกู้อยู่และคาดว่าจะมีออกมาอีกเป็นจำนวนมากในเดือนพ.ค.นี้”

สำหรับยอดขายหุ้นกู้4 เดือนแรกปีนี้ 181,000 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 300,000 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากแผนการลงทุนของผู้ออกหุ้นกู้ที่เลื่อนหรือยกเลิก และผู้ออกหุ้นกู้ในบางอุตสาหกรรม อาทิ ภาคการท่องเที่ยว ภาคอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้รับความสนใจจากลงทุนเพราะได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ หรือ โควิด-19 แต่ถือว่าดีกว่าที่คาดไว้ตอนแรก

ขณะนี้นักลงทุนเริ่มกลับมาลงทุน แต่เฉพาะในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีหรือ ตราสารหนี้ ต้องเป็นตราสารหนี้ที่เป็นรู้จักและมีอันดับความน่าเชื่อถือสูง อาทิ พันธบัตรรัฐบาล รุ่นเราไม่ทิ้งกัน หุ้นกู้ของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และหุ้นกู้ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ซึ่งธนาคารเป็นหนึ่งในผู้จัดการการจัดจำหน่ายตราสารหนี้เหล่านี้ด้วย และมีกำหนดการเสนอขายในช่วงเดือนพ.ค.ถึงต้นเดือนมิ.ย.นี้ และคาดว่าตราสารหนี้เหล่านี้จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนค่อนข้างดี

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ความต้องการลงทุนหุ้นกู้เริ่มมกลับมาดีขึ้น แต่ต้นทุนของการออกหุ้นกู้นั้นไม่ได้ปรับลดลงตาม แต่มาอยู่ในระดับที่เรียกว่า New Normal ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นและส่งผ่านมายังส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (Credit Spread) ที่เพิ่มขึ้น 0.20–1.75 % เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 โดย Credit Spread ที่สูงขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับรุ่นอายุ อันดับความน่าเชื่อถือ รวมถึงอุตสาหกรรมของผู้ออก ว่ามีโอกาสได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอยหรือจากโควิด-19 มากน้อยเพียงใด

จากการรวบรวมข้อมูลบริษัทที่เสนอขายหุ้นกู้ในครึ่งเดือแรกนพ.ค.2563จำนวน 7 บริษัท พบว่า ขายหุ้นได้ครบตามจำนวน 5 บริษัท ประกอบด้วย บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP)เปิดเสนอขายไม่เกิน 8 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 5 -7 พ.ค.,บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FPT) เสนอขายจำนวน 1พันล้านบาท เปิดจอง 5-7 พ.ค., บริษัท ทรู มูฟ ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (TUC) เสนอขาย 9.8 พันล้านบาท เปิดจอง วันที่ 12-14 พ.ค.,บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) เสนอขาย5 พันล้านบาทและมีสำรองขายอีก 2.6 พันล้านบาท เปิดจอง 8-12 พ.ค. มีนักลงทุนจองซื้อรวม 7.5 พันล้านบาท ,บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง THANI เสนอขาย 3.5 พันล้านบาท และสำรองขายอีก 1พันล้านบาท เปิดจองวันที่ 12 -14 พ.ค. มีนักลงทุนจองซื้อ 4.03พันล้านบาท,

ส่วนอีก 2 บริษัทขายหุ้นกู้ไม่หมด คือ บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (CGH) เสนอขาย 1 พันล้านบาท เปิดจอง11-14 พ.ค. มีนักลงทุนจองซื้อ 368.30 ล้านบาท และ บมจ.ทรัพย์ศรีไทย (SST) เสนอขาย 600 ล้านบาท เปิดจอง 11-13 พ.ค. มีนักลงทุนจองซื้อ 396.20 ล้านบาท