การนิคมฯ เล็งผลิตน้ำจืดจากทะเล ป้อนโรงงาน 3 แสน ลบ.ม./วัน

การนิคมฯ เล็งผลิตน้ำจืดจากทะเล ป้อนโรงงาน 3 แสน ลบ.ม./วัน

ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อีอีซี ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในพื้นที่ อีอีซี ดังนั้นในฐานะที่ กนอ. เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลนิคมอุตสาหกรรม จึงได้เร่งวางแผนเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต

สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ภาคอุตสาหกรรมและ กนอ. จัดทำแผนการจัดหาน้ำเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมโดยไม่ต้องรบกวนน้ำจากภาคการเกษตร รวมทั้งให้เร่งดำเนินการ 3Rs ได้แก่ ลดการใช้น้ำ การนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ และการปรับปรุงน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดการใช้น้ำให้มากที่สุด

นอกจากนี้ กนอ. ยังได้เตรียมแผนที่จะสร้างโรงงานนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืด โดยในเบื้องต้นมีแผนที่จะตั้งบริษัทลูกเพื่อร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เพื่อสร้างความมั่นคงมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อผู้ประกอบการ โดยน้ำจืดที่ผลิตได้จะมีราคาแพงกว่าน้ำที่ซื้อจากอีสท์ วอเตอร์ ที่ใช้ในปัจจุบันนี้ แต่โรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลจะช่วยป้อนน้ำให้กับโรงงานในช่วงที่มีภัยแล้ง ทำให้สร้างความมั่นใจว่าไม่ว่าจะแล้งแค่ไหนก็จะมีน้ำป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน ส่วนในอื่นที่ไม่ขาดแคลนน้ำก็จะใช้น้ำจาก อีสท์ วอเตอร์ ตามปกติ

โดย ที่ผ่านมาโรงงานขนาดใหญ่ในนิคมฯมาบตาพุดหลายรายก็มีโรงงานผลิตน้ำจืดของตัวเองแล้ว แต่โครงการของ กนอ. นี้จะช่วยผู้ประกอบการในนิคมฯทั้งหมด ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะขยายแผนเดิมที่จะสร้างโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล มีกำลังการผลิต 3 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน (ลบ.ม./วัน) จะขยายโครงการให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับภัยแล้งที่อาจจะเกอดขึ้นในอนาคต โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3 แสน ลบ.ม.ต่อวัน โดยมีต้นทุนการสร้างโรงงานประมาณ 50 – 60 บาท ต่อ ลบ.ม. ส่วนราคาขายของน้ำจืดจะต้องตกลงกับผู้ประกอบการก่อน เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการแบกรับภาระที่สูงเกินไป และโรงงานผลิตน้ำจืดก็ยังสามารถดำเนินการได้

โรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลนี้ จะเป็นหลักประกันให้กับโรงงานจะมีน้ำใช้อย่างแน่นอน ไม่ว่าฝนฟ้าจะเป็นเช่นไร ซึ่งแม้ว่าน้ำที่ผลิตได้จะมีราคาแพงกว่าปกติ แต่ก็จะใช้ช่วงสั้นๆในฤดูแล้งเท่านั้น ในช่วงอื่นๆก็จะใช้น้ำจากแหล่งน้ำปกติ ทำให้เมื่อเฉลี่ยทั้งปี ต้นทุนน้ำจะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก รวมทั้งการตั้งโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในพื้นที่มาบตาพุดก็มีต้นทุนการวางท่อส่งน้ำต่ำกว่าการวางท่อส่งน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ไกล โดยคาดว่าโครงการนี้จะมีความชัดเจนภายใน 2-3 เดือนนี้”

ทั้งนี้ ในปี 2563 นิคมฯ ใน อีอีซี มีความต้องการใช้น้ำ 239 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าในปี 2568 จะมีความต้องการใช้น้ำ 264 ล้าน ลบ.ม. และในปี 2573 จะต้องการใช้น้ำ 300 ล้าน ลบ.ม. โดยมีอัตราการเติบโตประมาณ 2.5% ต่อปี

ส่วนแหล่งน้ำหลักที่ใช้ใน อีอีซี จะรับมาจากแหล่งน้ำของอีสท์ วอเตอร์ ที่ได้จากอ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ส่วนแหล่งน้ำสำรองมาจากบ่อน้ำในนิคมฯ และภาคเอกชน มีปริมาณ 34 ล้าน บล.ม.ต่อปี และในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอีก 15 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ขณะที่การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ผ่านระบบ Wastewater RO และ Sea water RO มีปริมาณ 54,364 ลบ.ม.ต่อวัน และอนาคตจะเพิ่มขึ้นอีก 2 หมื่นลบ.ม.ต่อวัน

สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในนิคมฯ และนิคมฯภาคเอกชนในช่วงวิกฤติโควิด-19 นั้น ขณะนี้ กนอ. ได้เตรียมเสนอคณะกรรมการ กนอ. เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือ โดยจะมุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นพิเศษ โดยในกลุ่มเอสเอ็มอีที่มาเช่าพื้นที่ค้าขาย และให้บริการในพื้นที่นิคมฯ ของ กนอ. จะยกเว้นค้าเช่าให้ฟรี 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนเม.ย. – มิ.ย. นี้ และจะยกเว้นค่าเช่าโรงงานในนิคมฯ สะเดา ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา เป็นเวลา 1 ปี

ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่เป็นของเอกชน กนอ. มีแผนที่จะลดค่ากำกับดูแลนิคมฯ 5-10% ตลอดปี 2563 โดยส่วนลดในแต่ละนิคมฯ จะแตกต่างกันตามจำนวนพื้นที่ หากพื้นที่มากก็จะเสียค่ากำกับดูแลมาก ซึ่งในเบื้องต้นจะเริ่มตั้งแต่หลักล้านต่อปี ทำให้ช่วยลดภาระให้กับผู้พัฒนานิคมฯ ที่จะนำส่วนลดที่ได้ไปลดหย่อนค่าบริการให้กับโรงงานในนิคมฯ ต่อไป โดยมาตรการทั้งหมดนี้จะนำเสนอต่อคณะกรรมการ กนอ ภายในเดือนพ.ค.นี้

158980521896

ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการติดตามสภาวะน้ำในพื้นที่อีอีซี คาดว่านับตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ คาดว่าจะมีฝนทยอยตกในพื้นที่ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม หากไม่เป็นตามคาดและไม่มีฝนตกลงมาเลย ก็จะทำให้พื้นที่ อีอีซี ขาดแคลนน้ำประมาณ 21 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งพอที่จะแบ่งน้ำก้นอ่างเก็บน้ำประแสร์ที่มีอยู่ 23 ล้าน ลบ.ม. มาใช้ได้จนกว่าเข้าฤดูฝนตกเต็มที่ ทำให้มั่นใจว่าหน้าแล้งนี้พื้นที่ อีอีซี จะไม่ขาดน้ำอย่างแน่นอน

ส่วนการรับมือภัยแล้งในปีหน้านั้น ขณะนี้กรมชลประทานได้เร่งรัดโครงการก่อสร้างสถานีสูงน้ำ และวางท่อสูบน้ำจากคลองสะพานมายังอ่างเก็บน้ำประแสร์แล้ว โดยใช้งบประมาณทั้งหมด 700 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างระบบสูบน้ำเสร็จไม่เกิน 2 เดือน และจะเริ่มสูบน้ำได้ทันในช่วงฤดูฝนนี้ในเดือนก.ค. – ส.ค. นี้ จะได้น้ำประมาณ 5 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังสามารถขอปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำในจังหวัดจันทบุรีมาเสริมได้ครั้งละ 10 ล้าน ลบ.ม. จากจำนวนที่สามารถนำมาปันให้กับอีอีซีได้ประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม. โดยที่ไม่กระทบต่อพื้นที่การเกษตรของจันทบุรี เพราะเป็นน้ำที่เหลือจากความสามารถกักเก็บของอ่างเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน ที่ปกติก็ต้องปล่อยทิ้งลงทะเลอยู่แล้ว