สู่วิถี Low-Touch/High-Trust

 “เปิดเมืองแล้วเศรษฐกิจจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้น จริงหรือ” นักธุรกิจหลายคนแอบตั้งคำถาม

แต่ไม่กล้าฟันธงว่าแนวโน้มจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวแบบ V-shaped ที่เห็นการดีดตัวของธุรกิจกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หรือ U-shaped  แบบชะลอตัวแต่จะใช้เวลาไม่นานนักที่จะค่อยๆฟื้นตัวกลับขึ้นมา  แต่ความกลัวของผู้ประกอบการตอนนี้ก็คือ ถ้าเศรษฐกิจเดินไปสู่  L-shaped หรือ I-shaped ด้วยกำลังซื้อที่ยังคงดิ่งลงไปแบบหาจุดต่ำสุดไม่เจอหลังเปิดเมืองแล้ว ธุรกิจจะอยู่กันได้อย่างไร ผู้บริหารองค์กรสายการเงินหลายคนบอกว่า ตอนนี้ใส่ปัจจัยลบทุกอย่างลงไปในการประมาณการผลประกอบการปีนี้แล้ว นั่นแปลว่าสิ่งที่คิดว่าเป็น Worst case-scenario ได้ถูกคาดการณ์ไว้แล้ว แต่ถ้าหลังจากการคลายล็อคเกิดสถานการณ์การระบาดต่อเนื่องจนเกิดระลอกใหม่ ก็มีโอกาสสูงมากที่จะทำให้ผลประกอบการภาคธุรกิจดิ่งลงไปลึกกว่าเดิมและยากที่จะดึงกลับมา เพราะทรัพยากรส่วนใหญ่ได้ถูกเทใช้ไปแล้วแบบเกือบหมดหน้าตักในการบริหารวิกฤติรอบแรก 

ซึ่งมุมมองของนักธุรกิจไทยก็ค่อนข้างสอดคล้องกับผลสำรวจของบริษัทวิจัยชื่อดังอย่าง Gartner ที่สำรวจความเห็น CFO องค์กรใหญ่กว่า 100องค์กร กว่า 40% ของ CFO คาดการณ์ว่าผลการดำเนินงาน EBITDA น่าจะลดลงมากถึง 20% และ Worst-case scenario นี้ยังไม่ได้นับรวมการเกิด Second Wave!

ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเสมอ งานวิจัยของ MIT เริ่มยกเคสของ Spanish Flu ในปี 1918 มาเป็นอุทาหรณ์ ซึ่งบทสรุปก็คือพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคในวงกว้างและรุนแรงจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงเช่นกัน ในขณะที่พื้นที่ที่ใช้มาตรการควบคุมทางสังคมได้ดีจนสามารถควบคุมการระบาดได้ ผลกระทบของภาคธุรกิจก็จะเป็นเพียงแค่ระยะสั้นและฟื้นตัวได้เร็ว ล่าสุดในเอเชียเช่นจีนและเกาหลีใต้ที่เริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown ในภาคธุรกิจบางส่วนเช่น ผับ บาร์ และ โรงหนัง แต่ในที่สุดก็ต้องกลับไปใช้มาตรการควบคุมเช่นเดิมเพราะพบการระบาดเพิ่มมากขึ้น การประเมินความเสี่ยงและการตัดสินใจอย่างรวดเร็วของภาครัฐผู้คุมนโยบายจะมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการสถานการณ์ไม่ให้แย่ลงไปกว่าเดิม

ในมุมของภาคธุรกิจ แนวคิดที่ว่าทุกอย่างจะฟื้นตัวและเด้งกลับมาเป็น V-shaped  หรือ U-shaped  คงเป็นแค่ภาพฝันเพราะถ้าโลกยังจะต้องอยู่กับ Covid-19 ไปอีก 12-18 เดือนหรือมากกว่านั้น ก็คงไม่มีตัวแปรไหนที่ทำให้กำลังซื้อกลับมาได้เหมือนเดิม ผู้บริหารท่านหนึ่งให้ความเห็นว่าธุรกิจคงต้องเตรียมพร้อมรับ after-shock ที่จะเกิดขึ้นอีกหลายระลอก แต่สิ่งสำคัญที่ต้องรีบทำแบบคู่ขนานไปกับการปรับตัวรับ New Normal ก็คือการวางแผนกลยุทธรองรับ “Low Touch Economy” ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้ว Low Touch อย่างเดียวก็อาจจะไม่เพียงพอ เพราะความคาดหวังจากผู้บริโภคและสังคมโดยรวมก็คือ ภาคธุรกิจต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ว่ามีมาตรการที่ดีพอที่จะทำให้การกลับมาทำธุรกิจไม่ได้สร้างความเสี่ยงให้กับใครไม่ว่าจะเป็นลูกค้า พนักงาน หรือบริษัทคู่ค้า 

Low-Touch/High-Trust economy จะเข้ามาพร้อม ๆกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อความปลอดภัย และการเว้นระยะห่างกลายเป็นความต้องการพื้นฐานที่ผู้บริโภคคาดหวังจากภาคธุรกิจ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะกลายเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าธุรกิจไหนหรือแบรนด์ไหนจะสามารถพลิกวิกฤติให้กลายเป็นโอกาส สามแผนงานหลักที่องค์กรธุรกิจกำลังทำงานกันอย่างหนักเพื่อจะตอบโจทย์ความต้องการใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ Low-Touch/High-Trust ก็คือ ข้อแรกมองหา Technology ใหม่ๆที่จะนำมาใช้ในการให้บริการเพื่อสร้างความมั่นใจและลดความเสี่ยงให้กับพนักงานและลูกค้าเช่น การใช้ Monitoring System หรือ IoT Solutions ที่ทำให้สามารถเก็บข้อมูลของผู้ใช้บริการ Traceability Tools ในระบบ Supply Chain  การนำเอา AI และ Big Data มาใช้เพื่อประเมินความเสี่ยงและตัดสินใจเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเช่นสาขาของห้างที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด อาจต้องวิเคราะห์ข้อมูลจากภายนอกประกอบกับข้อมูลการใช้บริการของลูกค้า

ข้อสองก็คือการบริหารจัดการความเสี่ยงและความรับผิดชอบต่อ Stakeholders ทั้งหมดตั้งแต่ พนักงาน-ลูกค้า-คู่ค้า-ชุมชน ล่าสุด Edelman บริษัทที่ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจ Edelman Trust Barometer ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคกว่า 12,000 คนใน 12 ประเทศทั่วโลก พบว่า 90% ของผู้บริโภคต้องการให้องค์กรธุรกิจรับผิดชอบพนักงานทั้งในเรื่องความปลอดภัยและดูแลเรื่องสวัสดิการในการเลี้ยงชีพ นอกจากนั้นยังต้องการให้องค์กรรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการสนับสนุนภาครัฐและนำเสนอสินค้าและบริการที่จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตินี้ไปได้

ข้อที่สามที่ภาคธุรกิจต้องทำเพื่อก้าวไปสู่วิถีใหม่ Low-Touch/High-Trust economy ให้ได้ ก็คือการลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมหรือโมเดลธุรกิจใหม่ ในสภาวะที่ธุรกิจถดถอย การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อแสวงหาตลาดใหม่และช่องทางการทำธุรกิจใหม่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพราะในที่สุดแล้วธุรกิจเดิมอาจทำได้เพียงแค่ประคองตัวรอวันล่มสลายเท่านั้น

วาระเร่งด่วนขององค์กรธุรกิจจากนี้ไป “การสร้างความเชื่อมั่น” และ “ความเร็ว”ในการปรับตัวจะเป็นเงื่อนไขสำคัญของความอยู่รอด เมื่อไม่มีใครคาดเดาได้ว่า The New Normal ที่แท้จริงแล้วจะเป็นอย่างไร คนที่อ่านเกมได้ขาดและมีความพร้อมกว่ามักจะกลายเป็นผู้ชนะเสมอ