‘ซีอาร์จี’รีเซ็ตธุรกิจ! เคลื่อนธุรกิจอาหารเต็มสูบ

‘ซีอาร์จี’รีเซ็ตธุรกิจ! เคลื่อนธุรกิจอาหารเต็มสูบ

ในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และคลายล็อกสู่ยุค New Normal ภายใต้บรรทัดฐานใหม่ของการใช้ชีวิตที่ต้อง “เว้นระยะห่าง” พร้อมยึดมาตรฐาน "สุขอนามัย-ความปลอดภัย" เป็นอันดับหนึ่ง! การขับเคลื่อนธุรกิจ "ร้านอาหาร" จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ขนานใหญ่

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัดหรือ “ซีอาร์จี” ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารเครือข่าย (Food Chain Industry) กว่า 1,048 สาขา กล่าวว่า ซีอาร์จี รีเซ็ตธุรกิจ! มุ่งผลักดัน "New Business" พร้อมผนึก พันธมิตร ทุกรูปแบบภายใต้ยุทธศาสตร์ “Greater Together Stronger Together”  เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการกระตุ้นรายได้ 

การเดินไปคนเดียวในธุรกิจร้านอาหารในช่วงจังหวะแบบนี้เป็นเรื่องยาก! เราต้องเติบโตไปด้วยกันและปรับตัวตลอดเวลา 

ซีอาร์จี รีเซ็ตแผนงานทั้งหมด เน้นรูปแบบธุรกิจใหม่สร้าง คลาวด์ คิทเช่น” ครัวกลางรวบรวมร้านอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ เพื่อขยายช่องทางดีลิเวอรีส่งตรงถึงกลุ่มลูกค้า นับเป็นโมเดลธุรกิจที่เข้ามา เติมเต็ม และ ทดแทน การเข้ามารับประทานในร้านอาหาร ที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้จำนวนที่นั่งต่อสาขาลดลง

เบื้องต้นตั้งเป้าเปิดคลาวด์ คิทเช่น เพิ่มอย่างน้อย 3-4 แห่ง จากโปรเจคนำร่อง แกร็บ คิทเช่น ที่สามย่านมิตรทาวน์  เน้นทำเลใกล้จุดขนส่งเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มแบรนด์ร้านอาหารต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งแบรนด์ในเครือซีอาร์จี สตรีทฟู้ดแบรนด์ดัง แบรนด์เอสเอ็มอีใหม่ๆ พร้อมปรับใช้เทคโนโลยีออนไลน์ ออเดอร์แอนด์คอลเล็ค (Order & Collect) และไดรฟ์ทรู

ปัจจุบัน ซีอาร์จีมีเครือข่ายร้านอาหาร 16 แบรนด์ ได้แก่ มิสเตอร์โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์, ชาบูตง, โคล สโตน ครีมเมอรี่, ไทยเทอเรส, โยชิโนยะ, โอโตยะ, เทนยะ, คัตสึยะ, อร่อยดี, สุกี้เฮ้าส์, ซอฟท์แอร์, เกาลูน และสลัดแฟคทอรี่

พร้อมกันนี้ มีการปรับรายการอาหารให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ เพิ่มเซ็ตเมนูผูกปิ่นโตกับร้านดังและเซ็ตข้าวกล่องอิ่มสุข ซึ่งลูกค้าสามารถปรับเมนู และนัดหมาย เพื่อส่งตามวันที่กำหนดใน 3, 5 หรือ 7 วัน รวมทั้งจัดรายการอาหารสุขภาพรับเทรนด์ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

ควบคู่มาตรการ สุขอนามัย” และ ความปลอดภัย อย่างเข้มงวด  มีการทำความสะอาดทุกขั้นตอน ทั้งก่อนและหลังให้บริการเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า เน้นการใช้ระบบ “ไร้สัมผัส” เช่น  สั่งอาหารผ่านดิจิทัลเมนู และระบบการชำระเงินแบบไร้เงินสดทั้งออนไลน์และคิวอาร์โค้ด

ธุรกิจร้านอาหารยุคนิวนอร์มอล จะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เพราะผู้คนส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาปรับตัว เน้นซื้ออาหารกลับบ้าน และส่งตรงถึงบ้าน"

คาดการณ์ว่าสัดส่วนรายได้ของซีอาร์จี ในช่องทางซื้อกลับบ้านจะเป็น 45% จากช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 46% ดีลิเวอรี เพิ่มเป็น 25% จากช่วงก่อนอยู่ที่ 12% ซึ่งที่ผ่านมาดีลิเวอรี เติบโตสูง 50% ในอนาคตจะเป็นช่องทางที่สร้างสัดส่วนรายได้สูงถึง 30% เมื่อคลาวด์ คิทเช่น เปิดบริการมากขึ้น ส่วนรับประทานอาหารในร้านจากเดิมเป็นช่องทางหลัก! มีสัดส่วน 42% จะลดลงอยู่ที่ 30% ในปีนี้

ณัฐ กล่าวต่อว่า ปี 2563 ถือเป็นปีที่ประเทศไทยเผชิญมรสุมลูกใหญ่!  แต่เมื่อมรสุมลูกนี้ผ่านไป สังคมไทยก้าวสู่สังคมโซเชียลเต็มตัว ธุรกิจอาหารจะผ่านจุดหนักหนานี้ได้ โดย ซีอาร์จี ให้ความสำคัญกับการรักษา “กระแสเงินสดให้เพียงพอต่อการจ้างงานและดูแลพนักงานทั้งหมดให้มีรายได้ตามสมควร มีการปรับเปลี่ยนพนักงานหน้าร้านบางส่วนเป็นพนักงานดีลิเวอรี ให้พนักงานส่วนสำนักงานทำงานจากที่บ้านตามมาตรการเวิร์กฟรอมโฮม (Work from Home) ของภาครัฐ

สำหรับ การลงทุนในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้า ซีอาร์จี วางนโยบายใช้ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น หรือ Local Product ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการพึ่งพากันในประเทศ รวมทั้งมองหา พาร์ตเนอร์ ในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจดีลิเวอรี  ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ตั้งทีมเฉพาะกิจ!! เร่งขยายความร่วมมือกับพันธมิตรผู้ให้บริการรับส่งอาหาร หรือ ฟู้ด แอกกริเกเตอร์ (Food Aggregator) ทั้งแกร็บฟู้ด ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า เพื่อเสริมจุดแข็งบริการ CRG Delivery 1312 และ FOODHUNTของเครือซีอาร์จี

บริษัทยังมีแผน ร่วมทุน-ซื้อกิจการ แบรนด์ร้านอาหาร เพื่อขยายพอร์ต! ครอบคลุมฟู้ดเซ็กเมนท์ รองรับลูกค้าเป้าหมายทุกกลุ่ม ทุกไลฟ์สไตล์  ล่าสุด ร่วมทุน บริษัท โออาร์ จำกัด(มหาชน) ในเครือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจ คาเฟ่ อเมซอน ในเวียดนาม รวมถึงนำแบรนด์ร้านอาหารของซีอาร์จีอย่างน้อย 2 แบรนด์ เจาะตลาด! พร้อมเปิดคลาวด์ คิทเช่น ในเวียดนาม

ธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย มูลค่า 4.37-4.41 แสนล้านบาท หากสถานการณ์ต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าการใช้จ่ายของลูกค้าจะทยอยกลับมา 

โดยปีนี้ ซีอาร์จี ตั้งเป้าหมายยอดขายกว่า 10,000 ล้านบาท