เผย 4 เดือนแรกปี 63 แนวโน้มฆ่าตัวตาย จากปัจจัยเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

เผย 4 เดือนแรกปี 63 แนวโน้มฆ่าตัวตาย จากปัจจัยเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

กรมสุขภาพจิตเผย หลังโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่ เกิดปัญหาสุขภาพจิต เครียด ซึมเศร้า ผลสำรวจ 4 เดือนแรกปี 63 พบแนวโน้มฆ่าตัวตาย จากปัจจัยเศรษฐกิจสูงขึ้น ขณะที่ปัจจัยด้านความสัมพันธ์, สุรา, การป่วยกายจิต มีแนวโน้มลดลง

วันนี้ (18 พฤษภาคม) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงแนวทางการฟื้นฟูจิตใจ ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ผลกระทบระยะยาวจากโรคโควิด-19 แบ่งเป็น 4 คลื่น ได้แก่ คลื่นลูกที่ 1 ช่วงที่ 1-3 เดือนแรกที่มีการระบาด เป็นช่วงที่สร้างผลกระทบกับสุขภาพของคน และขีดความสามารถของโรงพยาบาล เพราะพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง

ถัดมาคือ คลื่นลูกที่ 2 ช่วง 2-4 เดือนหลังเริ่มมีการระบาด เป็นช่วงที่ผู้ป่วยเร่งด่วนที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 มาใช้บริการ ซึ่งอาจทำให้เกิดการ ล้นทะลัก เพราะให้บริการไม่เพียงพอ คลื่นลูกที่ 3 ช่วง 4-9 เดือนหลังเริ่มมีการระบาด เป็นช่วงที่ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ต้องกลับมาโรงพยาบาล เพื่อพบแพทย์และรับการรักษา

คลื่นลูกที่ 4 ช่วง 2 เดือน – 3 ปี หลังมีโรคระบาด ผลกระทบด้านเศรษฐกิจยังเป็นลูกโซ่ ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต คนมีความเครียด ซึมเศร้า หรือฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ การให้บริการในภาวะวิกฤติมาอย่างยาวนาน ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอาจมีภาวะเหนื่อยล้าและหมดไฟ” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

158979918456

  • ประชาชน-แพทย์ เครียดน้อยลง

สถานการณ์ผลการประเมินระดับความเครียดของบุคลากรทางสาธารณสุขและประชาชนครั้งที่ 4 (27 เมษายน -3 พฤษภาคม) พบว่า มีแนวโน้มที่ลดลงเมื่อเทียบกับการสำรวจในช่วงการระบาดระยะแรก ซึ่งอาจเป็นผลจากการเริ่มมีการผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และการดำเนินงานเชิงรุกด้านสุขภาพจิตมากขึ้นในแต่ละพื้นที่

โดยพบว่าบุคลากรทางการแพทย์ มีความเครียดระดับน้อย 73.0% เครียดระดับปานกลาง 21.4% เครียดมากถึงมากที่สุด 5.6% ส่วนประชาชน มีความเครียดระดับน้อย 84.0% เครียดปานกลาง 13.1% และเครียดมากถึงมากที่สุด 2.9%

158979918374

อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นในการใช้ แนวทางการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (Combat 4th Wave of COVID-19 : C4) ที่กรมสุขภาพจิตได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีการแบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบสุขภาพจิต แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้กักกัน/ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 , บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานโควิด-19 , กลุ่มเปราะบางต่อปัญหาสุขภาพจิต และประชาชนทั่วไป/ชุมชน นอกจากนี้ กลุ่มที่ต้องมีการเน้นการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตหรือผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรสาธารณสุข ผู้เกี่ยวข้องกับโควิด-19 กลุ่มผู้ป่วย NCD เรื้อรัง และกลุ่มติดสุรา-ยาเสพติด

  • ฆ่าตัวตายจากปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มสูง

สำหรับสถานการณ์การเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในช่วงปี 2562-2563 พบว่า 5 ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทย อาทิ ปัจจัยด้านความสัมพันธ์, สุรา, การป่วยกายจิต มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยปัญหาสุราที่มีการลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน สำหรับปัจจัยปัญหาเศรษฐกิจนั้นยังคงเป็นปัจจัยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563

158979918663

ซึ่งในด้านของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายจากระบบรายงานการเฝ้าระวังการทำร้ายตนเองของกรมสุขภาพจิต พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากฆ่าตัวตายยังคงมีค่าใกล้เคียงกับในช่วงปีที่ผ่านมา (2.1 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน) อาจอธิบายได้ว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจแม้จะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันปัญหาความสัมพันธ์และการดื่มสุราที่นำมาสู่การฆ่าตัวตายกลับมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม Universal Intervention เช่น มาตรการทางสังคมเศรษฐกิจ และ Selective Intervention เช่น การป้องกันการกลับมาทำร้ายตัวเองซ้ำ ยังคงเป็นมาตรการที่สำคัญต่อการช่วยลดระดับความรุนแรงของอัตราการฆ่าตัวไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้

  • แนะเพิ่มภูมิคุ้มกันด้านจิตใจ

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานของกรมสุขภาพจิตภายใต้กรอบแนวทางการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นี้ ได้ใช้กลไกการเสริมสร้างพลังด้วยวัคซีนใจในระดับต่าง ๆ ทั้ง วัคซีนใจในบุคคล วัคซีนใจในครอบครัว และวัคซีนใจในชุมชน โดย “วัคซีนใจในระดับบุคคล” จะเน้นในเรื่องของ การส่งเสริม สุขภาพจิตตามกลุ่มวัย ในประเด็นควารอบรู้ด้านสุขภาพจิต และแนวทางการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับฐานชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) การป้องกัน ปัญหาด้านสุขภาพจิต 4 ประเด็น ได้แก่ ความเครียด ภาวะเหนื่อยล้าหมดไฟ การฆ่าตัวตาย และโรคซึมเศร้า โดยมีการคัดกรองสุขภาพจิตเชิงรุก โดยอสม. เข้าเยี่ยมแต่ละบ้านเพื่อประเมิน คัดกรองสุขภาพจิตเบื้องต้น ตลอดจนคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตออนไลน์ผ่านแอปฯ Mentral Health หรือทางโทรศัพท์ 1323 ฟรี 24 ชั่วโมง โดยหน่วยงานของกรมสุขภาพจิต

158979918377

นอกจากนี้ ยังมีการเฝ้าระวังเชิงรุก (Active Surveillance) การให้คำปรึกษาใน 2 กลุ่ม คือ ปรึกษาเชิงรุก (Active Counselling) และการให้คำปรึกษาในที่ตั้ง (In-House Counselling) และลดการตีตราในสังคม (De-Stigmatization) ซึ่งดำเนินการในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนของ การรักษา คือ ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด โดยมีมาตรการดำเนินงาน และคู่มือแนวทางการรักษา สุดท้าย การฟื้นฟู ให้ประชาชนมีศักยภาพเต็มเปี่ยมด้วยพลัง มีความเข้มแข็งทางใจ โดยใช้หลักการของ อึด ฮึด สู้

158979917864

ขณะที่ “วัคซีนใจในระดับครอบครัว” เป็นวัคซีนสังคมที่ต้องให้กับผู้เป็นแม่หรือหัวหน้าครอบครัว เพื่อนำไปแบ่งปันสู่คนในครอบครัว เมื่อวัคซีนครอบครัวพร้อม จะเปรียบเสมือน ร่างกายที่มีภูมิคุ้มกัน ถึงจะเจอวิกฤติ ซึ่งเปรียบเสมือน อาการที่จะไม่รุนแรง และกลับมาทำหน้าที่เดมิได้อย่างราบรื่น จะเน้นในเรื่อง 3 พลัง ได้แก่ พลังบวก โดยการมองสถานการณ์ให้เป็นในเชิงบวกเพื่อพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น พลังยืดหยุ่น เป็นบทบาทที่จะสามารถสร้างการปรับตัวและทำหน้าที่ทดแทนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และ พลังร่วมมือ เพื่อเป็นพลังในการสร้างความปรองดองและก้าวผ่านวิกฤตไปได้

158979918157

ด้าน “วัคซีนใจในชุมชน” ผ่านหลักการ 4 สร้าง 2 ใช้ โดย “4 สร้าง” ได้แก่ สร้างชุมชนที่รู้สึกปลอดภัย สร้างชุมชนทีมีความหวัง สร้างชุมชนที่รู้สึกสงบ สร้างชุมชนที่เข้าใจและโอกาส ส่วน “2 ใช้” ได้แก่ ใช้ศักยภาพของชุมชน พัฒนาเครือข่ายในการช่วยเหลือสื่อสารและใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหา และใช้สายสัมพันธ์ในชุมชนเพื่อกำหนดเป้าหมาย ไว้ใจ ให้กำลังใจและส่งต่อเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันในสังคม

158979918160

“สุดท้าย ขอย้ำว่า อย่าให้การ์ดตก ขอให้รักษาระยะห่าง หมั่นล้างมือ เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อระลอกสอง และอย่าลืมดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน ทั้งตัวเอง และรอบข้าง ครอบครัว และชุมชน สังคมไทยไปต่อได้ ถ้าใจไม่ป่วย ขอให้คนไทยทุกคน อึด ทำใจให้สงบ ฮึด สู้ และเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ไปด้วยกัน” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

158979917899