รวมกลโกง ‘มิจฉาชีพ’ รู้ทันภัยที่แฝงมากับ ‘โควิด-19’

รวมกลโกง ‘มิจฉาชีพ’ รู้ทันภัยที่แฝงมากับ ‘โควิด-19’

รวมพฤติกรรม "มิจฉาชีพ" ที่ฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จากวิกฤติโควิด-19 ในรูปแบบต่างๆ ที่ประชาชนควรรู้ เพื่อป้องกันการตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่ประสงค์ดี

โควิด-19 ระบาดเป็นภัยต่อสุขภาพกายแล้ว ยังไม่วายมีภัยจากผู้ไม่ประสงค์ดีที่ใช้วิกฤติในครั้งนี้เป็นเครื่องมือในสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองแบบมิชอบ

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลสารพัดกลโกงของมิจฉาชีพที่มักนำมาใช้ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์ และรู้เท่าทันลักษณะกลโกงของผู้ไม่ประสงค์ดี โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

 มิจฉาชีพ แฝงมากับความช่วยเหลือ 

หนึ่งกลลวงยอดฮิต ที่เหล่ามิจฉาชีพมักหยิบมาใช้ คือการสวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร เจ้าหน้าที่ของรัฐฯ ที่จะมาให้ความช่วยเหลือในกรณีได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยใช้ช่องทางต่างๆ เช่น แอพพลิเคชั่น LINE การส่ง SMS เพื่องหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ 

  • สวมรอยเป็นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประกาศเตือนข้อความหลอกลวงจากมิจฉาชีพ โดยยืนยันว่า ธ.ก.ส. ไม่มีนโยบายส่ง SMS เพื่อให้ผู้ลงทะเบียนกระทำการดังต่อไปนี้

1. SMS แจ้งว่าธ.ก.ส. โอนเงินผิด และระบุให้โอนเงินคืนไปยังเลขที่บัญชีที่กำหนด
2. SMS ขอหมายเลขบัตรประชาชน
3. SMS ขอเลขที่บัญชีเงินฝากหรือรหัสบัตร ATM
4. SMS ขอรหัส OTP 
5. หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ Call Center โทร. 0 2555 0555 หรือ เว็บไซต์ ธ.ก.ส. 

158978707955

  • สวมรอยเป็นธนาคารออมสิน

ธนาคารออมสินเตือนประชาชนให้ระวังกลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวอยู่ในสื่อโซเชียล โดยได้ปลอมเพจ และไลน์ธนาคารออมสิน GSB Society และเข้าไปแสดงความคิดเห็นพร้อมชักชวนให้เป็นเพื่อนในไลน์ เสมือนว่าเป็นพนักงานธนาคารที่จะให้คำแนะนำ ให้ความช่วยเหลือได้ และหลอกถามข้อมูลทางการเงิน เช่น ขอทราบเลขที่สมุดบัญชีเงินฝาก เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน รหัสผ่าน MyMoและรหัสผ่าน OTP สุดท้ายอาจสวมรอยถอนเงินออกจากบัญชีได้

ขอให้ลูกค้าและประชาชนสังเกตไลน์ “GSB Society” ของจริง จะต้องมีโล่สีเขียว (พื้นเขียวมีดาวห้าแฉกตรงกลาง) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงการเป็นแอคเคาท์แท้พรีเมียม ผ่านการรับการรับรองจากบริษัทไลน์ (ไทยแลนด์) วางไว้ด้านหน้าตัวอักษรคำว่า GSB Society

ส่วนเพจเฟซบุ๊ก GSB society ของจริงจะต้องมีสัญลักษณ์เครื่องหมายวงกลมเล็กๆ สีน้ำเงิน มีเครื่องหมายถูกอยู่ตรงกลาง ต่อท้ายตัวอักษรคำว่า GSB Society หากสังเกตไม่พบคุณลักษณะตามรายละเอียดข้างต้น ถือว่าเป็นไลน์และเฟซบุ๊ก GSB Society ปลอม

พร้อมแนะนำว่าอย่าให้ข้อมูลทางด้านการเงินแก่บุคคลอื่นเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็น เลขที่สมุดบัญชีเงินฝาก เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน รหัสผ่าน MyMo หรือแม้แต่รหัส ATM และรหัสผ่าน OTP แก่ผู้ใดทราบ

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังย้ำด้วยว่า มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ 3 เดือนของธนาคารในครั้งนี้ กำหนดให้เดำเนินการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ อีกทั้งธนาคารออมสินไม่เคยมีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ติดต่อขอหลักฐานใดๆ มายืนยันเพิ่มเติมทั้งสิ้น หากลูกค้ามีข้อสงสัยสามารถติดต่อสาขาที่ตนใช้บริการ หรือติดต่อศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ Call Center 1115

    

อ่านข่าวที่น่าสนใจ : 

  

  

158978715652

กระทรวงการคลังเตือนประชาชน ระวังมิจฉาชีพหลอกข้อมูลผ่าน LINE หาประโยชน์จากโครงการเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ผู้รับผลกระทบโควิด-19

หลังตรวจสอบพบพฤติกรรมต้องสงสัยเข้าข่ายมิจฉาชีพ ในโครงการเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิดจำนวน 5,000 บาทต่อเดือน โดยพฤติกรรมมิจฉาชีพกลุ่มนี้ได้ส่งไลน์หาประชาชน เพื่อหลอกเอาข้อมูลไปดำเนินการในทางมิชอบ

กระทรวงการคลังขอยืนยันว่า มาตรการเราไม่ทิ้งกันไม่มีการแจ้งข้อมูลหรือสอบถามผู้ลงทะเบียนผ่านช่องทาง LINE และข้อมูลสำคัญในการพิจารณาของโครงการ นั้นผู้มาลงทะเบียนต้องกรอกไว้ตั้งแต่ตอนลงทะเบียนแล้ว

การส่งข้อมูลทาง line หรือ facebook ขอเลขบัตรเอทีเอ็มนั้นอย่าไปหลงเชื่อโดยเด็ดขาด กระทรวงการคลัง ยืนยันข้อมูล ผู้ลงทะเบียนรับการช่วยเหลือทางเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com และตอบผ่าน SMS เท่านั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ระวังมิจฉาชีพลวงถามข้อมูลส่วนตัว อ้างใช้ในมาตรการเยียวยาโควิด-19 

  • มิจฉาชีพในคราบแพทย์พร้อมบริการฉีดยาฆ่าเชื้อ

นอกจากการสวมรอยเป็นหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว ยังมีมิจฉาชีพที่แฝงมากับความช่วยเหลืออื่นๆ เช่น บริการฉีดยาฆ่าเชื้อ หรืออ้างเป็นแพทย์ตรวจโควิด-19 ก่อนขโมยทรัพย์สินภายในบ้าน

เช่น กรณีคนร้ายอ้างเป็นแพทย์ไปตรวจโรคโควิด-19 ฟรีถึงบ้าน ก่อนออกอุบายให้ผู้เสียหายไปอาบน้ำ แล้วขโมยสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท เงินสด 20,000 บาท และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง รวมมูลกว่า 40,000 บาท 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ‘พ่นยาฆ่าเชื้อ’ เสียเวลา เปลืองทรัพยากร

  • หลอกติดตั้งแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ”

ชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เตือนประชาชนให้ระวังกลุ่มมิจฉาชีพ และโจรรูปแบบต่างๆ ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ เช่น อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหลอกติดตั้งแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ที่ให้ประชาชนได้สแกนคิวอาร์โค้ด ในการเช็คอิน-เช็คเอาท์สถานที่ต่างๆ และหลอกจับการรวมกลุ่มมั่วสุมแล้วเรียกรับเงิน​ที่กำลังแพร่ระบาดไปในจังหวัดต่างๆ 

อ้างอิง: innnews

 มิจฉาชีพ สวมรอยขอรับความช่วยเหลือ 

อีกรูปแบบหนึ่งที่มีมาทุกยุคทุกสมัย คืออาศัยความใจดี และมีน้ำใจของคนในสังคม ขอรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือโควิด-19 เช่น ชักชวนให้โอนเงินบริจาคซื้อเตียงผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนจากโรงพยาบาลต่างๆ

เช่น กรณีที่มีผู้แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หลอกบริจาคเงิน ซื้อเตียงให้ผู้ป่วยโควิด-19 จากเจ้าคณะอำเภอซำสูง จ.ขอนแก่น เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีอ้างตัวเป็นพยาบาลประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในค่ายทหารที่จังหวัดขอนแก่น ขอให้ช่วยบริจาคเงินจำนวน 10,000 บาท เพื่อไปซื้อเตียงผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาล เนื่องจากเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยหลังจากมีโอนเข้าบัญชีของฝ่ายหญิง ตรวจสอบข้อมูลไปยังโรงพยาบาล ก็ทราบว่าโรงพยาบาลไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ หรือข้าราชการ ออกไปรับบริจาคเงินจากพระสงฆ์แต่อย่างใด 

ดังนั้น หากต้องการช่วยเหลือในด้านต่างๆ จะต้องตรวจสอบข้อมูลผู้มาขอรับบริจาค หรือสอบถามจากหน่วยงานปลายทางที่ถูกแอบอ้างชื่อในการขอรับบริจาคเพื่อให้เงิน และสิ่งของที่ตั้งใจบริจาคถึงมือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ และไม่ตกเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพเหล่านี้

อ้างอิง: news.ch7 news.ch7

  มิจฉาชีพในคราบพ่อค้า-แม่ค้า 

ในขณะที่โควิด-19 กำลังระบาด สินค้าบางประเภทมีความต้องการในจำนวนมาก เช่น หน้ากากอนามัย ชุด PPE เจลแอลกอฮอล์ ฯลฯ เป็นโอกาสให้กลุ่มมิจฉาชีพใช้ช่องทางนี้ในการเปิดขายสินค้าทางการแพทย์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดในจำนวนมากๆ แต่เมื่อถึงเวลาส่ง กลับไม่มีสินค้าเหล่านั้นจริงๆ หรือหลอกให้โอนเงินการปิดช่องทางการติดต่อไป 

ปัญหาหลอกขายสินค้า ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในช่วงนี้ อย่างไรก็ดีการป้องกันที่ดีที่สุดคือการพยายามตรวจสอบที่มาที่ไปของสินค้า รีวิวการขายอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือทางที่ดีที่สุดคือเลือกช่องทางที่เชื่อถือได้ ตรวจสอบได้ หรือเป็นเว็บไซต์ที่มีตัวกลางรับส่งเงินสินค้าเพื่อนให้สามารถตรวจสอบสินค้าได้ก่อนชำระเงิน