ยี้นักการเมืองแย่งเก้าอี้ รมต. ซูเปอร์โพลชี้ประชาชนเสื่อมศรัทธารัฐบาล

ยี้นักการเมืองแย่งเก้าอี้ รมต. ซูเปอร์โพลชี้ประชาชนเสื่อมศรัทธารัฐบาล

เวทีพฤษภาฯ 35 ชี้หลังโควิดการเมืองขัดแย้ง “ซูเปอร์โพล” ชี้ประชาชนเสื่อมศรัทธารัฐบาลมากขึ้น ยี้ “นักการเมือง” แย่งเก้าอี้รัฐมนตรี ทำคนสนับสนุนลดฮวบ แนะให้คนดีทำงานต่อเนื่อง

เวทีครบรอบ 28 ปี เหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ชี้การเมืองหลังโควิด-19 ขัดแย้งมากขึ้นกว่าเดิม
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่องฐานที่เปราะบาง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ การลงพื้นที่และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียล จำนวน 2,021 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง 13 - 16 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ฐานที่เปราะบาง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 2,021 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง 13 - 16 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา

เมื่อพิจารณาแนวโน้มฐานจุดยืนทางการเมืองของประชาชนตั้งแต่ กรกฎาคม พ.ศ.2562 ถึง ช่วงเหตุวุ่นๆในรัฐบาล พบว่า ฐานสนับสนุนของประชาชนต่อรัฐบาลลดฮวบลงอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 46.9 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 36.1 เพราะความวุ่นวาย ความขัดแย้ง แย่งตำแหน่งในรัฐบาลในช่วงวิกฤตโควิด-19 บนความทุกข์ยากของประชาชน

ในขณะที่ กลุ่มคนไม่สนับสนุนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 22.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 34.1 และแม้แต่ฐานกลุ่มพลังเงียบก็ลดลงจากร้อยละ 31.1 เหลือร้อยละ 29.8 แต่ไปเพิ่มในฐานกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาล

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกฐานสนับสนุนรัฐบาล ไม่สนับสนุนรัฐบาล และพลังเงียบออกตามเพศ พบว่า ชาย กับ หญิงมีสัดส่วนไม่แตกต่างกันคือ ร้อยละ 35.6 ของชาย และร้อยละ 36.6 ของหญิงสนับสนุนรัฐบาล แต่กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาล พบชายร้อยละ 41.8 หญิงร้อยละ 26.9 แสดงให้เห็นว่าชายไม่สนับสนุนรัฐบาลมากกว่าหญิง ในขณะที่กลุ่มพลังเงียบ พบชายร้อยละ 22.6 หญิงร้อยละ 36.5 แสดงว่าหญิงเป็นพลังเงียบมากกว่าชาย

ที่น่าสนใจคือ เมื่อแบ่งกลุ่มออกตามช่วงอายุในฐานสนับสนุนรัฐบาล พบคนอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นฐานสนับสนุนรัฐบาลที่มากที่สุดคือร้อยละ 48.7 แต่กลุ่มเยาวชนคืออายุไม่เกิน 24 ปีมีเพียงร้อยละ 10.9 เท่านั้นที่สนับสนุนรัฐบาล แต่กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาล พบเยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปีส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.9 ไม่สนับสนุนรัฐบาล

และกลุ่มอายุ 24 – 39 ปีร้อยละ 49.0 ไม่สนับสนุนรัฐบาลเช่นกัน ในขณะที่กลุ่มคนอายุ 40 – 59 ปีร้อยละ 27.6 และอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 31.1 ที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล อย่างไรก็ตาม กลุ่มพลังเงียบพบเยาวชนจำนวนมากหรือร้อยละ 30.2 กลุ่มอายุ 25 – 39 ปีร้อยละ 29.3 กลุ่ม 40 – 49 ปีร้อยละ 33.5 และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นร้อยละ 20.2 ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ ระหว่าง ยี้ กับ รับได้ความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมือง แย่งตำแหน่ง แย่งเก้าอี้ แบ่งพรรคแบ่งพวก ต้นเหตุขัดแย้ง จำแนกตาม ฐานสนับสนุนรัฐบาล ไม่สนับสนุนรัฐบาล และพลังเงียบ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มฐานจุดยืนการเมือง ยี้ นักการเมืองแย่งเก้าอี้ ต้นเหตุขัดแย้งวุ่นวายทางการเมืองคือ ร้อยละ 94.5 ของกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 82.9 ของกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 92.1 ของกลุ่มพลังเงียบ ยี้ บรรดานักการเมืองแย่งเก้าอี้ ต้นเหตุขัดแย้งวุ่นวาย

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ฐานสนับสนุนของรัฐบาลยังเปราะบางอยู่มากโดยเห็นได้ชัดว่ากลุ่มเยาวชนส่วนใหญ่ยังไม่สนับสนุนรัฐบาลคือยังไม่มีอะไรที่ทำแล้วโดนใจพวกเขาหรือแม้แต่กลุ่มคนสูงอายุสัดส่วนที่ไม่สนับสนุนก็ไม่น้อยคือเกือบ 1 ใน 3 ดังนั้นฐานที่เปราะบางเช่นนี้จึงทำให้กลุ่มคนสนับสนุนลดฮวบลงอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดเรื่องที่ละเอียดอ่อนไหวต่ออารมณ์ของประชาชน

เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ปักใจอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพวกเขายี้หรือรับไม่ได้กับพฤติกรรมกระหายตำแหน่งหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง แทนที่จะก้มหน้าก้มตาทำงานหนักช่วยเหลือเยียวยาทุกข์ของประชาชนช่วงโควิด-19 และวิกฤตอื่นๆ

“จากข้อมูลผลสำรวจครั้งนี้จึงเสนอแนะให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองผู้มีบารมีสูงๆ ทั้งที่เป็นรัฐบาลและไม่ใช่รัฐบาลร่วมกับภาคประชาสังคมได้ช่วยสกัดกั้น อย่าให้คนไม่ดีขึ้นปกครองบ้านเมือง แต่ขอให้ส่งเสริมคนดีมีอำนาจแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทำไมไม่ช่วยกันควบคุมดูแลสถานการณ์และรักษาสถานภาพเดิม ของการขับเคลื่อนประเทศเอาไว้” ดร.นพดล กล่าว

สำหรับความเคลื่อนไหวทางการเมือง เนื่องในวันครบรอบ 28 ปี เหตุการณ์พฤษภาคม ปี 2535 มีการจัดแถลงข้อเสนอภาคประชาชนต่อรัฐบาลในสถานการณ์วิฤติโควิดระบาดเนื่องในโอกาสครบรอบ 28 ปี พฤษภาประชาธรรม โดยนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การทุจริต คอร์รัปชันเชิงนโยบายยังคงวนเวียนอยู่

นายเมธา กล่าวต่อว่า ขอให้รัฐบาลใช้บทเรียนจาก 28 ปีของเหตุการณ์พฤษภา 35 เป็นอุทาหรณ์เตือนใจให้ตระหนักว่าจะไม่กลับสู่ความขัดแย้งถึงขึ้นนองเลือด นอกจากนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงมาก และยังไม่เห็นมาตรการการป้องกันการผูกขาดของกลุ่มทุน วันนี้ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ตนมองว่าสถานการณ์ความขัดแย้ง หลังโควิด-19 จะเพิ่มความขัดแย้งมากกว่าเดิม

ขณะเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. กล่าวว่า ประเด็นข้อเรียกร้องหลัก เมื่อ 28 ปีที่แล้วคือนายกฯมาจากการเลือกตั้ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ 28 ปีผ่านมา เราได้ประชาธิปไตยที่แข็งแรงหรือไม่ ซึ่งตนสามารถตอบได้เลยว่า ลุ่มๆดอนๆ และยิ่งถอยห่างจากคำว่าประชาธิปไตย โดยเฉพาะปัจจุบันยิ่งยากลำบาก เพราะไม่ว่าจะไปทางไหนมีแต่ทางตัน ต่อให้ยุบสภาผลลัพธ์ก็ไม่เปลี่ยน เพราะรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ให้ ส.ว. มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ

“วันนี้สถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ในพรรคพลังประชารัฐ ผมมองว่าเป็นจุดที่ต้องวิเคราะห์ และเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในพรรคพลังประชารัฐ จะเริ่มเป็นจุดเปลี่ยนของทุกอย่าง เพราะพรรคการเมืองอยู่ในสภาพอ่อนแอ พรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นปัญหา พรรคภูมิใจไทยก็ดูเหมือนว่าจะแข็งแรง แต่มีปัญหากับพรรคร่วมพัวพันกันเต็มไปหมด”

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านเองก็อยู่ท่ามกลางความเหนื่อยยาก ทั้งในเรื่องกติกาที่กำหนดไว้ ดังนั้นหากปัญหาเศรษฐกิจปากท้องทวีความรุนแรงถึงขีดสุด สิ่งที่ทุกคนเป็นห่วงคือแบบ พ.ค. ปี 2535 จะกลับมาอีกครั้ง เพราะสิ่งที่ตนพยายามบอกคือ ในเดือน พ.ค. 2535 เศรษฐกิจดี แต่ในอนาคตเศรษฐกิจพัง แล้วจะกลายเป็นม็อบหิวโหย

“ครบรอบ 28 ปี พ.ค. 2535 ผมยังยืนอยู่จุดเดิม และยังมีความหวังว่า จะสืบทอดเจตนารมณ์ของวีรชนเหล่านั้น และจะเป็นพลังให้กับผู้รักประชาธิปไตยสืบไป” นายจตุพร กล่าว