ปมหนี้ ‘บินไทย’ ระวังปัญหาบานปลาย

ปมหนี้ ‘บินไทย’ ระวังปัญหาบานปลาย

สถานะ "การบินไทย" วันนี้คงต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย ซึ่งภาครัฐต้องเตรียมรับมือ เนื่องจากหนี้สิน 2.44 แสนล้านบาท จำนวนนี้มีสหกรณ์ออมทรัพย์ 82 แห่ง ลงทุนอยู่ หากสหกรณ์ขาดความเชื่อมั่น และถอนเงินอย่างต่อเนื่อง อาจกระทบเป็นลูกโซ่

ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ดูแล้ว “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติคงต้องเดินเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายอย่างแน่นอน เพราะสถานะของการบินไทยเวลานี้ ไม่ต่างจาก “ซอมบี้ คอมพานี” หรือบริษัทที่ไม่มีความสามารถในการทำกำไร แต่อยู่ได้ด้วยเงินกู้หรือเงินสนับสนุนจากภาครัฐ หากไม่ผ่าตัดองค์กรใหม่ ผลดำเนินงานก็จะกินส่วนทุนไปเรื่อยๆ เรียกได้ว่าใส่เงินเท่าไหร่ก็หมดเท่านั้น สุดท้ายก็ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการอยู่ดี

เพียงแต่การยื่น “ล้มละลาย” เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย “ภาครัฐ” ควรต้องเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบที่อาจตามมาแบบไม่ได้คาดคิด ซึ่งเวลานี้ก็เริ่มเห็น “ควันไฟ” จากสถานการณ์ดังกล่าวบ้างแล้ว เพราะตามกฎหมายของการเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย “หนี้สิน” ทุกอย่างของการบินไทยจะถูก “ฟรีส” ...หมายความว่า “เจ้าหนี้” จะไม่ได้รับการชำระหนี้ทั้ง “ดอกเบี้ย” และ “เงินต้น” ในระหว่างที่การบินไทยอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ที่สำคัญยังอาจถูก “แปลงหนี้เป็นทุน” หรือต้องยอม “แฮร์คัทหนี้” บางส่วนลง

ปัจจุบัน “การบินไทย” มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 2.44 แสนล้านบาท หนี้ก้อนใหญ่สุด คือ “หนี้หุ้นกู้” มีมูลค่ารวมกันราว 7.4 หมื่นล้านบาท ที่น่าเป็นห่วง คือ ในจำนวนนี้กว่า 57% หรือราวๆ 4.22 หมื่นล้านบาท ถือลงทุนโดย “สหกรณ์ออมทรัพย์” จำนวน 82 แห่ง ทำให้สมาชิกของสหกรณ์เหล่านี้เริ่มหวั่นไหวว่า หากการบินไทยต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ในห้วงเวลานี้ จะกระทบต่อสถานะของสหกรณ์หรือไม่ ความกังวลดังกล่าวทำให้สมาชิกของหลายๆ สหกรณ์เริ่มพากันไปถอนเงินออกมา 

ย้อนไปเมื่อ 2 เดือนก่อน ช่วงที่นักลงทุน “ตื่นตกใจ” กับข่าวการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนหลายประเทศต้องประกาศ “ล็อกดาวน์” กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้วยความตกใจจึงพากันเทขายสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ ออกมา ไม่เว้นแม้แต่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ ...แรงเทขายที่ออกมาจำนวนมาก ท่ามกลางสภาพคล่องในตลาดที่เบาบาง ทำให้ราคาพันธบัตรทรุดลงอย่างหนัก กระทบต่อมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ในกองทุนรวมหลายๆ กองทุน เมื่อ NAV ติดลบ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ได้เกิดบ่อยนัก ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนตกใจ พากันไปไถ่ถอนจำนวนมาก ซ้ำเติมภาวะตลาดในช่วงเวลานั้น จนเกือบจะกลายเป็นวิกฤติการเงิน

ภาพเหล่านี้กำลังฉายซ้ำมาที่ “สหกรณ์ออมทรัพย์” โดยมีชนวนเหตุจาก "หุ้นกู้การบินไทย” ซึ่งความจริงแล้ว “หุ้นกู้การบินไทย” ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ถืออยู่ มีมูลค่ารวมกันเพียง 4.22 หมื่นล้าน คิดเป็นสัดส่วนแค่ 3.62% ของสินทรัพย์ทั้งหมดในสหกรณ์ทั้ง 82 แห่ง ผลกระทบต่อสหกรณ์ออมทรัพย์จึงไม่ได้มาก ...แต่ที่ต้องกังวล คือ หากสมาชิกของแต่ละสหกรณ์ขาดความเชื่อมั่น และพากันไปถอนเงินอย่างต่อเนื่อง วิกฤติสภาพคล่องในสหกรณ์จะตามมา ยิ่งเวลานี้ "ความเชื่อมโยง" ระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการ "ปล่อยกู้" หรือ "ฝากเงิน" ระหว่างกัน ดังนั้นถ้ารายใดรายหนึ่งเกิดปัญหาขึ้นมา อาจลุกลามไปยังแห่งอื่นๆ ได้ เราหวังว่า “ภาครัฐ” จะรีบลงมา “ดับไฟ” ก่อนที่ปัญหาจะบานปลายไปมากกว่านี้